ผลการเมือง จาก'รัฐธรรมนูญ'แห่ง ความกลัว
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 02 March 2015 07:43
- Published: Monday, 02 March 2015 07:43
- Hits: 2595
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ผลการเมือง จาก'รัฐธรรมนูญ'แห่ง ความกลัว
ยิ่งนานวัน ยิ่งมีความแจ่มชัดว่า รากฐานทาง'ความคิด'อันดำรงอยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คืออะไร
ไม่ว่าจะมองผ่าน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ไม่ว่าจะมองผ่านบุคคลที่มีบทบาทร่วมด้วยช่วยกันอย่าง นายสุจิต บุญบงการ อย่าง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อย่าง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นต้น
จุดร่วมในทางความคิด คือ ความกลัว
คล้ายกับความกลัวอันดำรงอยู่ในทางความคิด เป็น ความกลัวต่อความชั่วร้าย เลวทราม แต่กล่าวอย่างถึงที่สุด ความกลัวเหล่านั้นดำเนินไปอย่างมีลักษณะรวมศูนย์
รวมศูนย์ไปยัง “นักการเมือง”
ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่างที่ปรากฏผ่านพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่างที่ปรากฏผ่านการเป็นรัฐบาล
เป็นความกลัวอย่างชนิดสยดสยอง พองเกล้า
...................................................
รูปธรรมแห่งความกลัวเห็นได้จากการกำหนด “องค์กร” หลายองค์กรขึ้นมาเพื่อกำกัด จำกัดและขจัดนักการเมืองอย่างเป็นการจำเพาะ
กำกัด จำกัดเข้า จำกัดให้แคบเข้า
กำจัด ขจัด ขับไล่ ทำให้สิ้นไป
ขจัด กำจัด ทำให้สิ้นไป
การกำหนดให้ ส.ว.มาจาก “การแต่งตั้ง” ทั้งหมดโดยให้มีสิทธิเท่าเทียมและยังเหนือกว่าส.ส.นั่นคือ ตัวอย่าง 1
การกำหนด “องค์กรอิสระ” แม้กระทั่งการจัดตั้ง “สภาคุณธรรม” ขึ้นมาในชี้นิ้วกล่าวโทษคนนั้นคนนี้ว่าชั่วช้า เลวทราม นั่นคือ ตัวอย่าง 1
ล้วนเป็น “ตัวอย่าง” จากความ “หวาดกลัว”
.....................................................
การร่างรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับเป็นการร่างรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานแห่ง “ความกลัว” ทั้งๆ ที่กติกาแห่งรัฐธรรมนูญคือประตูให้ “นักการเมือง” ได้เข้ามาแสดงบทบาท
แสดงบทบาทผ่าน “การเลือก” ของ “ประชาชน”
การเลือกโดยอัตวินิจฉัยของประชาชนนั้นเองคือ “อาณัติ” คือเงาสะท้อนแห่ง “เจตจำนง” ของประชาชนอย่างเด่นชัดยิ่ง
กระนั้น รัฐธรรมนูญก็ยังขนพอง สยองเกล้า
เวทีแห่งการสัประยุทธ์ครั้งต่อไปจึงเป็นเวทีทางการเมืองอันมาจากกระบวนการของรัฐธรรมนูญซึ่งมีพื้นฐานจากความหวาดกลัวนี้เอง
เป็นการมาพร้อมกับคำประกาศ “กูไม่กลัวมึง”
.........................................................
ขอให้มองภาพกระบวนการทางการเมืองของไทยในกาลอนาคตผ่านรูปแห่ง “รัฐธรรมนูญ”
ฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นด้วย “ความกลัว” อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นด้วย “ความกล้า” ฝ่ายหนึ่งอิงแอบมากับกระบวนการ “รัฐประหาร” ฝ่ายหนึ่งอิงแอบมากับการเลือกของ “ประชาชน”
เป็นภาพที่จะสัประยุทธ์กันอย่างดุเดือด เข้มข้น