กรณี สังฆเภท จับตา วิษณุ เครืองาม อย่ากะพริบตา
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Thursday, 26 February 2015 22:39
- Published: Thursday, 26 February 2015 22:39
- Hits: 2712
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
กรณี สังฆเภท จับตา วิษณุ เครืองาม อย่ากะพริบตา
ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มากด้วยความระมัดระวัง มากด้วยความสุขุมรอบคอบ
ต่อกรณี “มหาเถรสมาคม” ต่อกรณี “วัดพระธรรมกาย”
จำกัดให้อยู่ในพรมแดนของ “ศาสนจักร” จำกัดให้อยู่ในกรอบของพระแล้วกันตัวเองออกมายืนดูอยู่ห่างๆ
คสช.ไม่เกี่ยว รัฐบาลไม่เกี่ยว “โดยตรง”
ยิ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลงานด้านกฎหมาย ยิ่งมากด้วยความระมัดระวัง ในแต่ละจังหวะที่ก้าวย่างดูหน้าดูหลังอย่างรอบคอบ
จำกัด “กรอบ” ไม่ขยาย “ความขัดแย้ง”
เจตนาประสงค์เฉพาะหน้าแทบจะไม่อยากให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรมากไปกว่านี้ เรียกตามภาษาพระก็ต้องว่า
ปล่อยทุกอย่างให้เป็น “กิจของสงฆ์”
หากดูจากอาการของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หากดูจากอาการของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะเห็นได้ชัดว่าต้องการขยายกรอบแห่งความขัดแย้งให้เป็นวงกว้างออกไป
เพื่อให้ “การปฏิรูป” พระพุทธศาสนามีความเข้มข้น
คำถามอันมาจาก นายวิษณุ เครืองาม อาจไม่พุ่งเป้าเข้าใส่ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม แต่เสนออ้อมๆ ไปยัง นายไพบูลย์ นิติตะวัน โดยปริยาย
นั่นก็คือ สงสัยในวิธีการและกระบวนการของ “การปฏิรูป”
หลักการอัน คสช.และรัฐบาลกำหนดและมอบหมายผ่าน สปช.ในฐานะ 1 ในแม่น้ำ 5 สายมีความเด่นชัดว่า กระบวนการของ “การปฏิรูป” นั้นดำเนินไปในลักษณะ 2 ด้าน 1 เป็นการปฏิรูป แต่อีก 1 การปฏิรูปนั้นต้องมีเป้าหมายสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ประเด็นอยู่ที่ว่าการปฏิรูปพระพุทธศาสนาจะดำเนินอย่างไร
ถามว่าบทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เข้าไปมีส่วนในการตรวจสอบกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นสอดรับกับงานของ สปช.หรือไม่
นี่เป็นบทบาทของกรรมาธิการใน “สภานิติบัญญัติฯ”
กระนั้น สปช.หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติมีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้แตกต่างไปจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.
แล้วที่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจึงนำไปสู่คำถาม
เท่ากับเป็นการสวมบทบาทต่อเนื่องของกลุ่ม 40 ส.ว.ในยุคที่มีส่วนร่วมในการเล่นงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เป็นบทบาทก่อน “รัฐประหาร” เดือนพฤษภาคม 2557
จากนี้จึงเห็นว่ากรณีของ “มหาเถรสมาคม” กรณีของ “วัดพระธรรมกาย” จะจบลงอย่างไรแบบไหน
จำเป็นต้องจับตา พระสุวิทย์ ธีรธัมโม จำเป็นต้องจับตา นายไพบูลย์ นิติตะวัน และจำเป็นต้องจับตา นายวิษณุ เครืองาม อย่างเป็นพิเศษ
ใครมีบทบาท “นำ” ใครมีบทบาท “ตาม”