มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
หมายเหตุ - ดร.อลงกรณ์ อรรถแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ประเด็นกระบวนการปรองดองของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
- ประเมินภาพรวมสถานการณ์โรดแมประยะที่ 2 ของคสช.
โดยปกติการรัฐประหารที่ผ่านมามักตั้งคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนค่อนข้างจะเชื่อว่าอยู่ในอำนาจไม่นานนักภายใต้การนำของคณะรัฐประหาร แต่การรัฐประหารครั้งนี้ต่างไปจากเดิม เพราะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้สวมบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แล้วการบริหารประเทศมักไม่ต่างจากการบริหารแบบกองทัพที่คุ้นชินกับการบังคับบัญชาอยู่ ชนิดที่สั่งซ้ายหันขวาหัน เพราะการบริหารกองทัพต่างจากการบริหารประเทศโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยกองทัพเป็นการบริหารงานในแง่มิติเดียว จึงต่างจากการบริหารงานของรัฐบาล ที่มีกว่า 20 กระทรวง ถ้ามือไม่ดี มือไม่ถึง และมีทีมงานไม่ดีก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วผลงานที่ออกมาของรัฐบาลชุดนี้แทบไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรต่างๆ ได้เลย มิหนำซ้ำยังเริ่มมีเสียงสะท้อนออกมา คนเริ่มไม่พอใจ โดนตั้งคำถามมากขึ้น แต่คงทำอะไรไม่ได้มากนัก ได้แต่เพียงเฝ้ารอเท่านั้น
-เมื่อรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงจะกลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เหตุผลข้อแรกที่ คสช.เข้ามายุติความขัดแย้งที่รุนแรง แล้วฝ่ายกองทัพมักมองความขัดแย้งแค่ทางความคิดเพียงมิติเดียวเท่านั้น มองแค่การต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช.เท่านั้น เอาจริงแล้วความขัดแย้งมิใช่จะจบลงง่ายๆ แบบที่ คสช.คิด หากแต่จะมีความขัดแย้งชุดใหม่ขึ้นมาขยายเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารไปโดยปริยาย มากไปกว่านั้นยังมีความขัดแย้งในระดับชาวบ้านที่เพิ่มสูง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านเหล่านั้นเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรม แก้ไขปัญหาปากท้องภายใต้กลไกปกติ โดยมีเครื่องมือการต่อรองอำนาจทหารการเมืองจากรัฐบาลทุกสมัย โดยที่ไม่สังกัดการเมืองสีเสื้อใดๆ แต่พอทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง แล้วบังคับใช้กฎอัยการศึกมากดทับการเคลื่อนไหวตรงนี้ไว้ นี่คือความขัดแย้งขึ้นใหม่ที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นเอง
นอกจากคู่ขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ความขัดแย้งอื่นๆ ที่เป็นปัญหามายาวนาน ผมคิดว่า รัฐบาล-คสช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มักไม่พูดถึงความขัดแย้งดังกล่าวเลย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ เช่น ชาวบ้านกับกรมป่าไม้ ชาวบ้านกับกระทรวงพลังงาน ชาวบ้านกับกรมทรัพยากรน้ำ อะไรต่างๆ อีกมากมาย ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับทุน ทั้งทุนท้องถิ่น และทุนระดับชาติ จนชาวบ้านได้รับผลกระทบและต้องออกมาเคลื่อนไหว
-แปลว่า คสช.มองความขัดแย้งดังกล่าวจะไปกระทบต่อมิติความมั่นคง
ใช่ คิดว่าไหนๆ ก็มีโอกาส และมีอำนาจแล้ว ผมคิดว่า คสช.ควรทำ คือ สร้างความปรองดองอย่างแท้จริง แต่ก็อีกสิ่งที่ คสช.เข้าใจการปรองดองเป็นแค่มิติการเมืองอย่างเดียว มิหนำซ้ำยังเป็นการกดทับปัญหาไว้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นจะทำให้เพิ่มคู่ขัดแย้งทหารกับชาวบ้านขึ้นมาอีกมากมาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการปรองดองมันไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่มันมีกลไกอีกหลายเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องทำ ด้วยการรวมมิติอื่นๆ เข้าไปด้วย
ผมมองว่าความปรองดอง สิ่งที่ต้องทำคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงทรัพยากร เป็นประการแรก ตัวอย่าง คนจำนวนหนึ่งมีที่หลายแสนไร่ แต่ชาวบ้านอีกหลายคนกับไม่มีที่อยู่จึงไปบุกรุกป่า ถ้าคนมีสภาพอึดอัดเช่นนี้ ผมคิดว่าไม่มีทางที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ถ้าชาวบ้านมีที่ดินทำกิน อยู่ดีกินดี มีศักดิ์มีความเป็นมนุษย์ เขาจะไม่เรียกร้องอะไรเลย แต่สภาพความเป็นจริงที่ผ่านมา ชาวบ้านกลับรู้สึกถึงความคับข้องใจ จนต้องออกมาเคลื่อนไหว และแสดงออกทางด้านการเมืองผ่านการเลือกตั้ง เพราะว่าการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกของการคับข้องใจทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ที่อยู่ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตยให้อำนาจราชการเป็นใหญ่ ชาวบ้านจึงไม่สามารถที่จะไปกดดันข้าราชการได้โดยตรง ดังนั้นชาวบ้านจำต้องเข้าไปกดดันนักการเมือง เพื่อให้ไปต่อรองกับราชการอีกที แต่ในเมื่อทหารกระชากการเลือกตั้งของชาวบ้านออกไป พวกเขาก็ไม่มีช่องทางแสดงออก ในการต่อรองอะไรต่างๆ ได้ มันจึงกลายเป็นการสร้างปัญหาและข้อกังขาต่อการปรองดอง
เรื่องต่อมาต้องแก้ไขกระบวนการกฎหมายที่ล้าสมัย เนื่องด้วยบ้านเรามีการรัฐประหารบ่อยครั้ง แล้วมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกๆ ครั้งก็จะมีคนเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้ไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ชาวบ้านก็ใช้เครื่องมือตรงนี้ในการต่อสู้การเคลื่อนไหวต่อปัญหาปากท้อง แต่พอจะสู้กันในกระบวนการศาลพบว่า มาตราที่รองรับการมีสิทธิในการแสดงออกพวกนี้กับไม่มีกฎหมายลูกรองรับแต่อย่างใดเลย
ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกรมป่าไม้ ทางราชการก็จะอ้าง พ.ร.บ.ป่าไม้ คนจะอยู่ในป่าไม่ได้ ส่วนชาวบ้านไปอ้างว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 66 เวลาต่อสู้ในศาล ศาลก็มักถามว่ามีกฎหมายลูกรองรับหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงแปลว่ากรณีนี้ดังกล่าวกฎหมายป่าไม้ กลับให้ช่องทางราชการมากกว่าชาวบ้าน ที่ผ่านมาแม้รัฐธรรมนูญจะก้าวหน้า แต่ตัวกฎหมายลูกกับไม่ค่อยได้รับการแก้ไข ฉะนั้นตรงนี้มันไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่ประเด็นป่าไม้อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่นนี้อีกมากมาย
ประการถัดมา คือการกระจายอำนาจ การกระจายความเจริญ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการปรองดอง ผมจะให้ความสำคัญด้วยการให้ประชาชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเอง ดังนั้นจะต้องกระจายอำนาจ เลิกรวมศูนย์อำนาจ อำนาจไปกระจุกตัวที่รัฐบาลกลาง จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถต่อรองได้ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ในความคิดผมเป็นเพียงตัวอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านได้มีการกำหนดตนเอง ไม่ใช่กระจายอำนาจไปสู่ อปท. แล้วตัดสินใจแทนชาวบ้านก็ไม่ใช่อยู่ดี
-ในร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปฏิรูป) เน้นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น แต่แนวคิดตัวข้าราชการยังมีความคิดรวมศูนย์อำนาจอยู่
แน่นอน การกระจายอำนาจนั้นเรามักคิดเพียงแค่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย แต่อำนาจที่จำเป็นต้องกระจายสำหรับความคิดเห็นผม คือต้องกระจายอำนาจไปยังทุกกระทรวง ทบวง กรม
-ในเมื่อเน้นการกระจายอำนาจเป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการปรองดอง แล้วปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอย่างไร
ถ้าเราจริงจังต่อการกระจายอำนาจ กระจายความเจริญ และการตัดสินใจจริงๆ ได้ ผมคิดว่าก็ไม่จำเป็นต้องออกแบบอะไรให้มากมายนัก ไม่ว่าจะเลือกตั้งระบบใด ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองแบบไหน ระบบพรรคเดียว หรือสองพรรค เอาเข้าจริงๆ แล้วการปฏิรูประบบการเมืองก็เน้นเพียงแค่สรรหาระบบมาคัดคนเข้าสู่การเมือง แต่กลับละทิ้งความขัดแย้งเบื้องต้นจากที่กล่าวมา ที่จะลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน แล้วสามารถลืมตาอ้างปากได้ ผมว่าคือสิ่งสำคัญที่จะเป็นทางออกที่ดีให้สังคมไทยได้
-สิ่งที่จะเป็นหลักประกันเบื้องต้นต่อการปรองดองจริงๆ คือ ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก
ผมคิดว่า เขาไม่มั่นใจถ้ายกเลิกการบังคับใช้ เพราะกฎอัยการศึกมันเป็นเครื่องมือในการบังคับคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.เท่านั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านๆ มา เห็นได้ว่ากฎอัยการศึกก็ไม่สามารถบังคับใช้กับทุกกลุ่มได้ กลุ่มหนึ่งทำได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งทำไม่ได้ต้องถูกจับ
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ากฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือที่เลือกใช้กับคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามตอนนี้รัฐบาลและ คสช.ควรรับฟังความคิดเห็นคนให้หลากหลายมากกว่านี้ แม้จะใช้กฎอัยการศึกอยู่ก็ตาม ควรจะไปเชิญที่เห็นต่างเข้ามาใช้ประโยชน์ต่อการแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ ทว่าการที่ใช้กฎอัยการศึกเข้าไปปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปจากอำนาจรัฐก็เท่ากับว่าเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วม และเป็นแนวทางที่สวนทางต่อการปรองดอง