มติชนออนไลน์ : วิเคราะห์
นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยึดอำนาจและนำประเทศไทยเข้าสู่โรดแมประยะที่ 1 โดยใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ล้างไพ่ ด้วยการล้มรัฐบาลรักษาการ และสั่งยุติการชุมนุม ควบคุมสถานการณ์มิให้เกิดความรุนแรง
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งคณะกรรมการเชิงบริหาร อาทิ คณะกรรมการธุรกรรม คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อปฏิรูป หรือ ศปป. และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศ
ในจำนวนนี้ ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหยียบคันเร่งคณะกรรมการปรองดองฯ และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯ กระทั่งประธานคณะทำงานทั้งสอง 2 ชุด ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการเอาไว้แล้ว
ศูนย์ปรองดองฯ ใช้กลไก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ภาค และจังหวัดต่างๆ ช่วยขับเคลื่อน
กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน จัดกิจกรรมสลายสีเสื้อ ตั้งเวทีเสวนา รวบรวมความคิดเห็นแล้วส่งเรื่องกลับให้ ศสช.ทราบ
คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 4 ขั้น ใช้เวลา 2 เดือนมีเช่นกัน โดยขั้นสุดท้ายจะต้องเสนอรายงานส่ง ศสช.ทราบ
การดำเนินการของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯนี้ ได้กำหนดหัวข้อการปฏิรูปไว้เบื้องต้น 4 ข้อ
หนึ่ง ประสานความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง
สอง แก้ไขปัญหาสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม
สาม แก้ไขการปลุกปั่นยุยง
และสี่ แก้ไขการตอกย้ำให้เกิดความขัดแย้ง
และเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาดำเนินการกับโรดแมป 3 ขั้นของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศมาก่อนหน้านั้น ซึ่งประกอบด้วย ขั้นแรก ใช้เวลา 2-3 เดือน ใช้อำนาจจัดการความขัดแย้ง ทำให้ประเทศคืนสู่ความสงบ ขั้นที่สอง ใช้เวลา 1 ปี ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ตั้งสภาปฏิรูป และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.แล้ว
น่าเชื่อว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ศูนย์ปรองดองฯ และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯ ดำเนินการนี้ จะนำไปใช้ในขั้นที่ 2 ตามโรดแมปที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้
สมมติฐานดังกล่าวสอดรับกับกระแสข่าวในห้วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีการคาดการถึงตัวรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลภายใต้คำสั่ง คสช.
ทั้งคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐบาลซึ่งมีทหารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีจำนวนมาก และคาดการว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่นั่งในตำแหน่งนี้ พร้อมทั้งเปิดทางให้พลเรือนเข้ามาบริหาร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาเรื่องรัฐบาลทหาร
ทั้งนี้ รัฐบาลพลเรือนอาจจะทำให้กระแสกดดันจากต่างชาติลดทอนลงกว่าในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลทหารผสมพลเรือน หรือรัฐบาลพลเรือน แต่ด้วยวิธีการและกรอบปฏิบัติที่ทาง คสช. ประกาศในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำเจตนาว่า คสช.ยังคงปฏิบัติอยู่ในกรอบโรดแมป 3 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์
เป้าหมายที่ว่า คสช.จะครองอำนาจเบ็ดเสร็จในระยะ 2-3 เดือน แล้วตั้งรัฐบาล ตั้งสภานิติบัญญัติ และตั้งสภาปฏิรูป
น่าสังเกตว่า ฝ่ายทหารเองได้พยายามเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในขั้นตอนการปรองดอง โดยตั้งเวทีระดับตำบล เชิญชวนคู่ขัดแย้งมาเสวนา และในขั้นตอนการเตรียมการปฏิรูป โดยเปิดทางระดมความคิดเห็นจากประชาชน
น่าสังเกตอีกว่า หัวข้อเบื้องต้นในการปฏิรูป 4 หัวข้อ เป็นหัวข้อที่ตรงประเด็น เพราะเป็นวาระเร่งด่วนที่พึงแก้ไข โดยเฉพาะหัวข้อเรื่องกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
ทั้งนี้ เพราะตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยึดอำนาจ ได้มีกระบวนการใช้ความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม ปลุกให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด
จังหวะก้าวการตัดสินและวินิจฉัยขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นข้อครหาในสังคมว่าสองมาตรฐานหรือไม่?
การปฏิบัติต่อการกระทำความผิดเดียวกัน ของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็กลายเป็นข้อครหาว่าสองมาตรฐานหรือเปล่า?
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและลุกลามอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยึดอำนาจส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาตามหัวข้อที่ คสช.มองว่าต้องปฏิรูป
แต่สิ่งที่ต้องสังเกตต่อไปคือ การแสดงหาเนื้อหาเพื่อแก้ไขปัญหา หรือเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
"ประชาชน" ในที่นี้หมายถึง "มวลมหาประชาชน" หรือหมายถึง "แนวร่วมประชาธิปไตย" ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองแตกต่าง
หรือจะหมายถึง "พลเมืองไทย" ที่มีความเห็นคละเคล้ากันไป
ยังน่าสนใจต่อไปอีกว่า การแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามที่ คสช.ต้องการนั้น ต้องการให้แสดงความคิดเห็นท่ามกลางบรรยากาศใด
เป็นการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนท่ามกลางบรรยากาศตามโรดแมประยะที่ 1 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีประกาศและคำสั่งของ รสช. เป็นกฎกติกาอยู่
หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่านี้
หมายถึงแสดงความคิดเห็นตามหัวข้อได้อย่างเสรีกว่านี้ หมายถึงแสดงความคิดเห็นตามหัวข้อได้อย่างอิสระกว่านี้
หากประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยแสดงความคิดเห็นในหัวข้อปฏิรูปทั้ง 4 ประการตามที่ คสช.กำหนด ท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่านี้ น่าจะก่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเชิงการปกครองได้ดีกว่า
ณ วันนี้ คสช.ได้ก้าวจะจังหวะยึดอำนาจเข้าสู่ก้าวย่างของการปฏิบัติงานบริหารประเทศ
คสช.ตั้งไข่การปรองดอง และการปฏิรูป ตามเจตนาที่วางเอาไว้
หากทุกขั้นตอนสามารถชักชวนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ได้ เป้าหมายที่ คสช. วางเอาไว้ว่าจะส่งต่อข้อมูลอันทรงค่าให้รัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูป ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าย่อมสัมฤทธิผล
และหากการปฏิรูปความสุดโต่งทางความคิดให้คืนสู่ปกติ เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติอย่างปกติ ไม่สุดโต่งด้วยแล้ว โอกาสที่จะนำสังคมไทยคืนสู่ความสุขตามความประสงค์ของ คสช. ก็มีความเป็นไปได้มากทีเดียว