วิพากษ์...'14 กก.ปรองดอง''แก้ขัดแย้ง-ลดเหลื่อมล้ำ'?
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 18 February 2015 18:34
- Published: Wednesday, 18 February 2015 18:34
- Hits: 2922
วิพากษ์...'14 กก.ปรองดอง''แก้ขัดแย้ง-ลดเหลื่อมล้ำ'?
มติชนออนไลน์ : |
ถือเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2558 ที่จะมีการบัญญัติเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญในภาคที่ 4 โดยกำหนดรายละเอียดให้มีกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นหัวหอกหลัก มาขับเคลื่อนงานช่วยยุติความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองให้กับประเทศ ผ่านคณะกรรมการทั้งสิ้น 14 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่การเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายใด เป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติสุข รวมกับบุคคลที่อยู่ในฝ่ายคู่ขัดแย้งอีก 5 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้ง 14 คน จะมีอำนาจหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง รวมทั้งสามารถเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และเสนอมาตรการทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเข้าสู่รัฐสภาได้ โดยมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน 5 ปี แต่หากอยากให้คณะกรรมการชุดนี้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็จะต้องทำประชามติถามประชาชนเพื่อต่ออายุการทำงานออกไปอีก 5 ปี หากดูจากโครงสร้างและส่วนประกอบของคณะกรรมการ ทั้ง 14 คน จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเกือบ 10 ปี ได้หรือไม่นั้น ในมุมมองของนักวิชาการด้านสันติวิธี อย่าง ชาญชัย ไชยสุขโกศล อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งข้อสังเกตต่อการนำเสนอจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ว่า ที่ผ่านมาบ้านเรามีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มากมายหลากหลายชุด บ้างก็ได้ผล แต่ส่วนใหญค่อนข้างจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ อันมีสัดส่วนคนกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน เป็นผู้เลือกตัวแทนคู่ขัดแย้ง 5 คน เข้ามาเพื่อหาแนวทางการปรองดองนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ต้องตั้งต้นก่อนว่า คู่ขัดแย้งไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง และเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร) เพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีเสียงของคนจำนวนอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ชายขอบ เสียงของชาวเขา ฯลฯ แต่ว่าสังคมไม่ค่อยจะรับรู้เสียงเหล่านั้น ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นอย่างยิ่งในทรรศนะผม คือ ต้องพยายามได้ยินเสียงของพวกเขาเหล่านี้ให้มากขึ้น "กระบวนการสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจะสร้างแนวทางการปรองดองให้บังเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เราต้องเน้นกระบวนการรับฟังเสียงต่างๆ อันหลากหลายทางความคิดให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาบ้านเรามักรณรงค์การแสดงออกทางความคิดเห็นกันมาก แต่ไม่ค่อยจะเห็นมีการยอมรับฟังเสียงต่างๆ เท่าไหร่เลย ยิ่งรับฟังเสียงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น 200-500 เสียง เพราะหลักการรับฟังเสียงตรงนี้ หาใช่การพยายามจะโน้มน้าวคู่ขัดแย้งให้เปลี่ยนจุดยืนแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่เป็นการเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น" นักสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอ พร้อมแนะนำว่า เมื่อสามารถบรรลุหลักการข้างต้นได้แล้ว กระบวนการถัดไปจะเป็นการหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกขั้นตอนหนึ่ง ส่วนแนวทางการนิรโทษกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองหรือไม่นั้น ชาญชัยวิเคราะห์ว่า การนิรโทษกรรม การให้อภัยกันก็เป็นส่วนสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนวิกฤตการณ์การเมืองที่นำมาสู่การรัฐประหารนั้น ผมเข้าใจว่าคนทั่วไปไม่ว่าจะคนเสื้อเหลืองหรือคนเสื้อแดง ต่างก็รับได้กับการนิรโทษกรรมที่ไม่เหมารวม แต่พอมีการยัดไส้ไปครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็นำมาซึ่งการรัฐประหารในที่สุด ในขณะที่ หลักการเยียวยาเหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ที่จะนำมาซึ่งความปรองดองที่แท้จริงด้วย |