เลือกตั้งต้นปี 59 ได้จริงหรือไม่???....
- Details
-
Category: วิเคราะห์-การเมือง
-
Created: Tuesday, 17 February 2015 11:00
-
Published: Tuesday, 17 February 2015 11:00
-
Hits: 3417
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 18:52 น. ข่าวสดออนไลน์
เลือกตั้งต้นปี 59 ได้จริงหรือไม่???....
รายงานพิเศษ โดย สุมณฑา บุญคุ้ม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยืนยันหลายครั้งว่าน่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ต้นปี 2559 ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กมธ.ยกร่างฯ) ร่างรัฐธรรมนูญได้ตามกรอบที่กำหนดไว้ ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าน่าจะเป็นเดือนม.ค.2559 ยกเว้นมีการทำประชามติ ก็จะเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน
ส่วนจะเป็นไปตามโรดแม็ปที่ คสช.วางไว้หรือไม่ มีความเห็นดังนี้
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ขณะนี้ยังไม่น่ามีสัญญาณอะไรที่บอกว่าไม่เป็นไปตามโรดแม็ปที่ คสช.วางไว้ เพราะอย่างน้อยมีคำที่นายกฯบอกออกมาเป็นการยืนยัน นอกจากนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามกำหนด หรือไม่ ก็ยังเดินหน้าไปตามกำหนด รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจึงเป็นปัจจัยสำคัญว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในต้นปี 2559 หรือไม่ ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงการยอมรับของประชาชนในภาพรวมด้วย ทุกอย่างจึงจะราบรื่น เป็นไปตามกำหนดที่วางไว้
ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป ในส่วนนี้เป็นเรื่องปกติในทุกสังคมประชาธิปไตย ไม่มีสังคมไหนที่จะเห็นพ้องต้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่อย่าไปแปลความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นการเมือง ซึ่งกมธ.ยกร่างฯก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย และต้องรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ แล้วนำมายกร่างให้เป็นที่ยอมรับ
แน่นอนว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วจะให้รับกันได้แบบไม่มีข้อโต้แย้งเลยคงไม่ได้ อย่างน้อยตัวรัฐธรรมนูญที่ออกมาจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เป้าหมายจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว และให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงแข็งแรงยั่งยืนได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่มองกันไม่ยากว่ามันเป็นอย่างนี้หรือไม่ และรัฐธรรมนูญจะเดินไป สู่เป้าหมายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาจนทำให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ว่าควรไปเลือกตั้งกันตอนไหน แต่คิดว่าถ้า คสช.สามารถทำให้สถานการณ์บ้านเมืองทั้งหมดเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้จะเป็นผลดีกับ คสช.และทุกฝ่าย รวมทั้งประเทศในภาพรวมด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวบ่งชี้อะไรที่จะบอกว่าไม่เป็นไปตามนั้น
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
ได้แต่ตั้งความหวังว่าจะเห็นการเดินหน้าของประเทศไทยเป็นไปตามโรดแม็ปที่พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้ เพราะในสายตาของอารยประเทศ เขาตั้งข้อรังเกียจประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดอุปสรรคทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เราต่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการเร่งให้มีการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หากไม่มีอุบัติเหตุใดๆ แทรกซ้อนเสียก่อน คงเป็นต้นปี 2559 ตามที่วางไว้
แต่สิ่งที่สำคัญคืออยากเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเตรียมไปสู่การเลือกตั้งว่าเขามีความเห็นอย่างไรบ้าง เพราะไม่ต้องการให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญที่ได้ออกมานั้นเป็นรัฐธรรมนูญของคนเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่ของคนทั้งประเทศ แล้วมามีปัญหากันภายหลังอีก
สิ่งที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดคือเมื่อ ยกร่างเสร็จแล้ว กลับไปถามประชาชนเสียก่อน ใช้เวลาอีกไม่นานในการทำประชามติ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ผ่านมาแบบ ถูลู่ถูกัง โดยการขอร้องกันให้ผ่านก่อน มาแก้ทีหลัง แล้วเป็นอย่างไร นี่ถือเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดยิ่งกว่า ดังนั้นไหนๆ เสียเวลาแล้ว ก็ควรเสียเวลาอีกนิดถามประชาชนให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่เป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่กว่าเมื่อปี 2549 ขอให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นบทเรียน เพื่อให้ประเทศก้าวไปบนความสมานฉันท์ของผู้คน และจะได้ปฏิรูปประเทศไปได้ตามเป้าที่วางไว้
ดังนั้นการเลือกตั้งจะยืดออกไปหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ที่สำคัญคือ การที่ประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นจะเหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดไว้ว่า หากการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับ สถานการณ์ก็อาจกลับไปสู่วงจรอุบาทว์อีก ฉะนั้นเรายอมเสียเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ทุกอย่างอยู่บนการยอมรับของประชาชน และทำให้ความขัดแย้งหมดไปก่อนจะดีกว่า โดยการทำประชามติก่อนดีที่สุด
พัฒนะ เรือนใจดี
รองอธิการบดี ม.รามคำแหง
ท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ออกมาพูดหลายครั้งว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้นปี 2559 คือสัญญาณยืนยันว่าจะเป็นไปตามโรดแม็ปที่ คสช.วางไว้จริง ข้อห่วงกังวลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เปิดช่องให้ คสช.สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อ กมธ.ยกร่างฯไม่อาจร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตามกำหนด 120 วัน หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีมติไม่เห็นชอบตามที่กมธ.ยกร่างฯเสนอ แล้วให้ยุบสปช.และกมธ.ยกร่างฯทิ้ง แล้วตั้งชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคงไม่น่าเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปคือ การร่างกฎหมายลูก ไม่ว่าจะเป็นของ คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) ที่สร้างขึ้นมาใหม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่มีการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ ตลอดจนที่มาของส.ส. ที่คาดว่าจะนำรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ หรือที่มาของส.ว. ที่น่าจะเพิ่มจำนวนและมาจากการสรรหาทั้งหมด หนทางที่จะทำให้การดำเนินการในส่วนนี้รวดเร็วขึ้น คือการร่างกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เลย
เพราะถึงแม้ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนในหลายส่วน แต่มีหลายส่วนเช่นกันที่คงเดิมไว้ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วย กกต. ก็ไปปรับเอาอำนาจจัดการเลือกตั้งออกไป แล้วแก้ไขในส่วนการวินิจฉัยการทุจริตเลือกตั้งที่มอบให้ศาลอุทธรณ์ดูแลแทน หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง น่าจะคงเดิม ตัดข้อห้ามที่จะนำไปสู่การยุบพรรคออกไป ตามที่มีข้อเสนอก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ลิดรอนสิทธิพรรคการเมืองและนักการเมือง เท่านี้ถือว่าใช้ได้ทันต่อกำหนดการเลือกตั้ง ที่วางไว้
ส่วนการทำประชามติ มองว่าไม่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายทางเทคนิค รายละเอียดสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ที่กฎหมายลูก เพราะหากมีการทำประชามติก็ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามที่ที่ปรึกษากฎหมาย คสช.ระบุไว้ ซึ่งจะนำไปสู่การสุ่มเสี่ยงที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกว่าที่กำหนดไว้ เพราะอาจมีการกำหนดเงื่อนไขใหม่สำหรับการลงประชามติอีกก็เป็นได้
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
แนวโน้ม การเมือง กรณี'พลเมืองโต้กลับ'ท่าที ทหารเปลี่ยน
ปรากฏการณ์ “พลเมืองโต้กลับ” เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นคุณต่อบรรยากาศประชาธิปไตยอย่างน้อยก็ 2 ปัจจัยสำคัญ
1 ปัจจัยจากทางสากล ปัจจัยจากภายนอก
เห็นได้จากการรุกของสหรัฐอเมริกา เห็นได้จากการรุกของญี่ปุ่น เห็นได้จากการรุกของสภายุโรป โดยมีเป้าใหญ่อยู่ที่การเลือกตั้ง อยู่ที่การคืนระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน 1 ปัจจัยภายในประเทศที่เริ่มมีการคลี่คลาย
เห็นได้จากการแสดงออกของนิสิต นักศึกษา ผ่านการล้อการเมืองระหว่างแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รวมถึง “ปฏิกิริยา” จากมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายแห่ง
เมื่อปฏิบัติการของ “พลเมืองโต้กลับ” เน้นไปยังการรำลึกถึงการเลือกตั้งที่ถูกทำให้โมฆะเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ประสานเข้ากับ “วันแห่งความรัก”
จึงสอดรับกับ “อารมณ์” ในทาง “สังคม”
............
อย่าคิดและประเมินว่าแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา จากญี่ปุ่นและจากสหภาพยุโรป จะไม่มีความหมาย จะไม่ส่งแรงสะเทือน
ตรงกันข้าม แรงสั่นนี้ก่อให้เกิดภาวะ “หวั่นไหว”
แรกที่ นายแดเนียล รัสเซล เปิดประเด็นระหว่างการมาเยือน อาจมีปฏิกิริยาโต้กลับจากกระทรวงการต่างประเทศไทย
แต่เมื่อข้อเรียกร้องนี้เกิดซ้ำจาก นายชินโซ อาเบะ
ยิ่งปรากฏแถลงการณ์คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกมาโดยความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ยิ่งทำให้น้ำหนักของข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาของญี่ปุ่นเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลจึงต้องเน้น 'โรดแม็ป'ต้องเน้น'เลือกตั้ง'ถี่ยิบ
....................
ปรากฏการณ์ของนิสิตนักศึกษาที่แสดงออกในระยะหลังมิได้เป็นเรื่องแบบปัจเจก โดดเดี่ยวเดียวดายอย่างที่เห็นเมื่อกินแซนด์วิช ชู 3 นิ้วอ่านหนังสือ 1984
ตรงกันข้าม หนักแน่นและมีลักษณะ 'จัดตั้ง'
บทบาทของ 'กลุ่มอิสระล้อการเมือง' เป็นเรื่องของกลุ่มคนหลายร้อย ยิ่งการแปรอักษรที่สอดรับอันอลังการยิ่งจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก
ใครที่เห็นการแสดงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยิ่งต้องนะจังงัง
การเคลื่อนไหวเหล่านี้มิได้เป็นเรื่องกระจัดกระจายอีกต่อไปแล้วหากแต่ดำเนินไปอย่างมีลักษณะจัดตั้งและมีมวลชนเข้าร่วมหลักร้อยและหลักพัน
มวลชนที่ตาม'4 ผู้ต้องหา' ยัง สน.ประทุมวัน น่าจะเป็น'อุทาหรณ์'
.............
ท่าทีของเจ้าหน้าที่ทหารจึงเปลี่ยนไป ท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มอ่อนและผ่อนปรนลง
ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะทหารเริ่มเรียนรู้การเมือง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะตำรวจเริ่มเข้าใจการเมืองและตะแคงหูคอยรับฟังคำชี้แนะจากทหาร
เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมือง...