WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กรณี 'ยิ่งลักษณ์-สมชาย'คำตอบ ยิ่งกว่าคำตอบ ไล่ล่า 'ตระกูลชินวัตร'?

กรณี 'ยิ่งลักษณ์-สมชาย'คำตอบ ยิ่งกว่าคำตอบ ไล่ล่า 'ตระกูลชินวัตร'?

 



มติชนออนไลน์ : ในประเทศ  มติชนสุดสัปดาห์  ก.พ. 2558 

 จากศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง กรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง

มี "อาฟเตอร์ช็อก" ตามมาถี่ยิบ

ไม่ว่าคำสั่งระงับไม่ให้ออกนอกประเทศ การตั้งด่านตรวจค้นขบวนรถ และการตามประกบทุกฝีก้าวในพื้นที่บ้านเกิด จ.เชียงใหม่

กลายเป็นประเด็นทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่ คสช. ปฏิบัติต่ออดีตนายกฯ เป็นการทำตามระเบียบข้อกฎหมาย

หรือเป็นการ "เฝ้าระวัง" หลังจากมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจอยู่ระหว่างเตรียม "ขอลี้ภัย" ในต่างแดน

ข้อสงสัยเริ่มจากมีข่าวหลุดทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ทำหนังสือขออนุญาต คสช. เพื่อเดินทางไปฮ่องกงนาน 1 สัปดาห์ แต่ คสช. ไม่อนุมัติ

ด้วยเหตุผลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีรับจำนำข้าวที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นชนักปักหลัง

หลังข่าวแพร่ออกไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ซึ่งกำลังจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวแต่เพียงว่า

"ให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ดู เขาเขียนว่าอย่างไร"

เท่ากับยอมรับกลายๆ ว่าข่าวที่ลงเป็นความจริง

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำเรื่องขออนุญาตมาจริง แต่ครั้งนี้ คสช. ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

เนื่องจากมีเรื่องคดีจำนำข้าวที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เข้ามาเกี่ยวข้อง

เหตุผลข้ออ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคดีรับจำนำข้าวติดตัวอยู่จึงอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้

ได้รับการโต้ตอบจาก นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของอดีตนายกฯ ว่า

ตราบใดอัยการสูงสุดยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ถือว่าอยู่ในอำนาจการควบคุมของอัยการสูงสุดหรือของศาล

อีกทั้งในคดีอาญามีหลักให้ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนี้ไว้ในมาตรา 4

ส่วนการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ นั้น ในวันยื่นฟ้อง กฎหมายกำหนดเพียงให้อัยการสูงสุด ส่งสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต่อศาลพร้อมคำฟ้องเพื่อประกอบการพิจารณา ไม่ได้กำหนดว่าต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลด้วย

ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมาปรากฏตัวต่อเมื่อศาลมีกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก

ดังนั้นการที่คสช. ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศตามที่ขอ น่าจะขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

แล้วก็เป็นอะไรที่เข้าทำนองความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรกคำสั่งระงับไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปต่างประเทศ ไม่ทันเคลียร์ว่าแท้ที่จริงแล้วใครคือต้นเรื่อง

คสช. หรืออัยการสูงสุด มีอำนาจทำได้หรือไม่ โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ก็ปรากฏเหตุแทรกซ้อนขึ้นมา หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกเบรกไม่ให้ไปต่างประเทศ จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิด จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมทำบุญไหว้บรรพบุรุษ

ระหว่างนั้นได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตั้งด่านเรียกตรวจรถ พร้อมกับเฝ้าประกบติดตามความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว เพื่อรายงานให้ คสช. ทราบเป็นระยะ

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบซ้ำสอง

พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ต.ศรายุธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 (ผบ.มทบ.33) ต้องรีบออกมาแถลงยืนยันว่า ทหารไม่ได้ตรวจค้นรถ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ยอมรับว่าได้ตรวจค้นรถในขบวนจริง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบดูแลรักษาความปลอดภัยเมื่อบุคคลวีไอพีเข้ามาในพื้นที่

ประกอบกับเพิ่งเกิดเหตุระเบิดหน้าห้างสยามพารากอนกรุงเทพฯจึงต้องเข้มงวดเรื่องการตั้งด่านความมั่นคง

พล.ต.ศรายุธ ยังกล่าวปฏิเสธด้วยว่า ทหารไม่ได้ตามประกบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะกลัวหนีออกนอกประเทศ แต่เป็นวิธีการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเท่านั้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเหตุการณ์ทหารตรวจรถอดีตนายกฯ ว่า

เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีความคิดที่จะควบคุมตัวหรือสั่งตามประกบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะไม่เชื่อว่าอดีตนายกฯ จะไปต่างประเทศเพื่อหลบหนีคดี หรือขอลี้ภัยทางการเมือง

"ไม่หรอก ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านรู้ดี"

ส่วนเรื่อง คสช. ไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศนั้น เนื่องจากสอบถามไปยังอัยการสูงสุดแล้ว ทราบว่าเรื่องคดีจำนำข้าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย จึงอยากให้รอไปก่อน ไม่เกี่ยวกับ คสช.

ส่วนเป็นเพราะกังวลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหลบหนีออกนอกประเทศหรือไม่ ต้องไปถามอัยการสูงสุดเอง

และทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับจากเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อค่ำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ก็ให้ความกระจ่างว่า เป็นอัยการสูงสุดทำเรื่องเป็นเอกสารถึง คสช. ไม่ให้อดีตนายกฯ เดินทางออกนอกประเทศ

"ผมเห็นเอกสาร เขาใช้คำว่าไม่ควรให้เดินทาง ผมก็อนุมัติตามที่เสนอ"

อย่างไรก็ตาม ข้อยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร นอกจากจะขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อีกด้วย

นายวันชัย รุจนวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้อง เรื่องขอเดินทางไปต่างประเทศ อัยการสูงสุดจึงไม่เกี่ยว ต้องไปถาม คสช. หรือถ้ายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ แล้ว ก็ถือเป็นอำนาจศาลพิจารณา

"ตามหลักการอัยการไม่มีอำนาจห้ามเดินทางไปต่างประเทศ เว้นแต่จะมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว ก็จะเป็นอำนาจพิจารณาของศาล" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลและ คสช. กล่าวว่า

การไม่อนุญาตให้ไปต่างประเทศ เป็นการใช้อำนาจของ คสช. ตามกฎอัยการศึก การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครเดินทางออกประเทศ ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาล หรือเรื่องอะไรทั้งนั้น เป็นอำนาจ คสช. ตัดสินใจ

"การจะมาบอกว่าเป็นเหตุสมควร ไม่สมควรหรือไม่เพราะยังไม่ถูกฟ้องนั้น ไม่ต้องเอามาพูดเอามาโยงว่าวันแรกต้องไปศาล แต่ คสช. จะอ้างเหตุผลอะไร ผมไม่ทราบ"

เมื่อนายวิษณุพูดแบบนี้ทุกอย่างก็ "จบข่าว"

บรรยากาศเบื้องหลังระหว่าง คสช. กับอัยการสูงสุด

คล้ายตอนที่จู่ๆ อัยการสูงสุดเปิดแถลงข่าวสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาฯ เพียงแค่ 1 ชั่วโมงก่อน สนช. จะเปิดประชุมลงมติถอดถอน เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ทันได้ให้สัญญาณกันก่อน การให้ข่าวก็เลยออกมาคนละทิศละทาง

กับอีกเหตุการณ์ต้องจับตา ป.ป.ช. ยังทำหน้าที่เครื่องจักรสังหารเครือข่ายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากรับบทเด่นในขบวนการเช็กบิลน.ส.ยิ่งลักษณ์

ล่าสุดยังทำหน้าที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี"รัฐบาลสมชาย" สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยไม่ใส่ใจต่อเสียงครหา "สองมาตรฐาน" หากเปรียบเทียบคดีสลายม็อบ 99 ศพปี 2553 ในยุค "รัฐบาลอภิสิทธิ์"

คดีสลายม็อบปี 2551 มีผู้ตกเป็นจำเลย 4 คน ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 11 พฤษภาคม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุดกับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงเป็นคำตอบชัดเจนว่าขบวนการทำลายล้าง "ตระกูลชินวัตร" เป็นเรื่องจริง

หรือเป็นแค่เรื่องที่สังคม "มโน" กันไปเอง 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!