ปู-เพื่อไทยไม่สำคัญ ปมร้อนอยู่ที่รัฐธรรมนูญ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 15 February 2015 13:54
- Published: Sunday, 15 February 2015 13:54
- Hits: 3222
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 12:04 น. ข่าวสดออนไลน์
ปู-เพื่อไทยไม่สำคัญ ปมร้อนอยู่ที่รัฐธรรมนูญ
รายงานพิเศษ การเมืองข่าวสด
รัฐบาลทหารไทยกำลังถูกกระแสภายในภายนอกบีบรัดรุมเร้า ให้เร่งนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยโดยเร็ว
ภายใน-ผ่านการชูป้ายและแปรอักษร ขอประชาธิปไตย เมื่อไหร่จะคืน ของกลุ่มนิสิต-นักศึกษา ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
ภายนอก-ผ่านการมาเยือนของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก ตามมาด้วยนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย บนเวทีฝึกร่วมคอบร้าโกลด์
จัดหนัก จัดเต็ม
เรียกร้องให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก พร้อมยุติการเรียกบุคคลคิดเห็นต่างเข้ารับการปรับทัศนคติ กดดันให้คืนประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว
สอดรับเป็นจังหวะเดียวกับที่ญี่ปุ่นออกมาแสดงท่าทีต่อการเมืองไทยชัดเจน เป็นครั้งแรกหลังคสช.เข้ายึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านคำแถลงของนายชินโซ อาเบะ
เป็นคำแถลงต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของไทยที่ขนคณะไปเยือนถึงกรุงโตเกียว
"ญี่ปุ่นมีความคาดหวังอย่างมากต่อความปรองดองแห่งชาติของไทย และการกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็วที่สุด"
ขณะที่คำแถลงของนายกฯ ไทย ผู้มาเยือนระบุตอนหนึ่งว่า
อีกไม่นานการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จ คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559
ขอให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจได้ว่า ประเทศไทยกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหารอบด้านในทุกเรื่อง และขอให้สัญญาว่าไทยจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน
การประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2559 ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทยเพราะเป็นคำสัญญาดั้งเดิมที่ คสช.ให้ไว้ใน โรดแม็ป หลังการเข้ายึดอำนาจไม่กี่วัน
แต่เมื่อเป็นการแถลงที่ประเทศญี่ปุ่น
จากคำสัญญาที่ให้ไว้กับคนไทย จึงยกระดับเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้ต่อสังคมโลกทันที
เนื้อหาเดียวกัน แต่น้ำหนักแตกต่าง
เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป
ว่าคำประกาศกำหนดระยะเวลาจัดการเลือกตั้งที่แน่นอนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จะช่วยลดแรงกดดันทวงคืนประชาธิปไตย ที่เริ่มดังกระหึ่มอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะถึงจะเป็นคำสัญญาจากสุภาพบุรุษชาย ชาติทหาร
แต่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2559 ได้จริงหรือไม่
ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอื่นอีกอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผ่านการดำเนินการของแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ (คยร.)
เรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ในมุมรัฐบาลคสช.อาจพึงพอใจผลงานระดับหนึ่ง เนื่องจากในรอบ 8 เดือนเศษที่ผ่านมา ไม่มีการแสดงออกซึ่งความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทหารเอาไม่อยู่
อย่างไรก็ตามในกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รู้ดีว่าความสงบเงียบเรียบร้อยดังกล่าวนั้น เป็นเพราะ กฎอัยการศึก ที่ยังคาอยู่มากกว่าอย่างอื่น
อีกทั้งในระยะหลังมีบางเหตุการณ์ที่คสช.และกองทัพ ปฏิบัติการสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่เสียเอง
เพราะต่อให้คนทั่วไปรับรู้จุดยืนทางการเมือง ของรัฐบาลคสช.แล้วว่า เลือกที่จะเดินไปทางใด หลังการถอดถอนและดำเนินคดีอาญากับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการรับจำนำข้าว
แต่การไม่อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศตามคำขอทั้งที่คดียังไม่ขึ้นสู่ศาล แถมยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว
กลับกลายเป็นการเพิ่มคะแนนสงสารให้อดีต นายกฯ
เบื้องหน้าเจ้าหน้าที่ทหารผู้เกี่ยวข้องอ้างเป็นมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลวีไอพีตามปกติ
เบื้องหลังกลับมีรายงานว่า เป็นเพราะคสช.ได้รับข่าวกรอง กลัวว่าอดีตนายกฯ จะฉวยโอกาสหลบหนีคดีออกนอกประเทศ หรือไม่ก็ขอลี้ภัยในต่างประเทศ
โดยเฉพาะสหรัฐ มหาอำนาจในโลกประชาธิปไตยที่แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่า
งัดข้อกับรัฐบาลปัจจุบันมาตลอด
ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามของคสช. ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึง
ถ้าเป็นไปตามที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ ก็เท่ากับเหลือเวลาอยู่อีกประมาณ 1 ปีเต็ม
แน่นอนว่า ไม่ได้หยุดอยู่แค่น.ส. ยิ่งลักษณ์แต่ยังลุกลามไปถึงเครือญาติ แกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยคนอื่นๆ
ไม่ว่านายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี กรณีถอดถอน 268 อดีตส.ส.ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ประเด็นที่มาส.ว.
รวมถึงกรณีป.ป.ช.ปัดฝุ่นกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 51 ขึ้นมาเล่นงานนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ น้องเขยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ล่าสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิเคราะห์การเมืองกลับมองว่า การที่ผู้มีอำนาจเปิดไฟเขียวไล่ต้อนเครือข่ายชินวัตร อาจเสี่ยงต่อการทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอยู่บ้าง
แต่ไม่น่าใช่เงื่อนไขใหญ่นำพาไปสู่สถานการณ์ขั้นแตกหัก
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการยกร่างอยู่ต่างหากที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องระมัดระวัง
กล่าวคือ ร่างที่ออกมาต้องไม่มีเรื่องของ การสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือ ทางอ้อม และต้องเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ที่เพิ่งถูกฉีกทิ้งไป
รวมถึงควรเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมออกความเห็นอย่างแท้จริง
กลบเสียงครหารัฐธรรมนูญฉบับล็อกคอตีเข่า
ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจะเกิดปัญหากับประชาชนส่วนใหญ่
เมื่อถึงเวลานั้นกระแสจากพลังของประชาชน คือ สิ่งที่รัฐบาลทหารและคสช.ต้องเผชิญ และเป็นเรื่องใหญ่กว่าการไล่ต้อนกวาดล้างเครือข่ายชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
มากมายหลายเท่าตัว....