WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โรดแม็ป 'คสช.' 3 เดือนที่ต้องจับตา

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 22:25 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


โรดแม็ป 'คสช.' 3 เดือนที่ต้องจับตา

ข่าวสด การเมือง

 ถานการณ์ประเทศโดยรวมอยู่ในขั้นตอนระยะแรกของโรดแม็ป 15 เดือนคืนความสุขให้คนไทย

     ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้กรอบเวลา 3 เดือนหลังยึดอำนาจ

     เป็นการดำเนินการเรื่องปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ไม่ปรับโครงสร้างส่วนราชการ ไม่มีการนิรโทษกรรม จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป เพื่อเตรียมการเข้าสู่ระยะที่ 2

      เป็นระยะการประกาศใช้ธรรมนูญปกครองชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรี จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตั้งสภาปฏิรูปเพื่อแก้ไขในทุกเรื่อง

      ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี บวกลบขึ้นอยู่กับสถานการณ์

      จากนั้นก้าวเข้าระยะที่ 3 คือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่ทุกฝ่ายพอใจ กฎหมายทันสมัยในทุกด้าน กฎระเบียบกติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรมมาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล

       การประกาศโรดแม็ปของหัวหน้า คสช. ถึงจะช่วยให้สถานการณ์ต่อต้านดูเหมือนบรรเทาเบาบางลง รวมทั้งมีเสียงสนับสนุนการเข้ามาผ่าทางตันของคณะทหารอยู่อื้ออึง 

      แต่เสียงต้านก็ไม่ได้หดหายไปเลยเสียทีเดียว เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากการรวมกลุ่มเผชิญหน้าโดยตรง เปลี่ยนเป็นเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่นการอ่านหนังสือ หรือการชู 3 นิ้ว สื่อความหมายเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นต้น

      ในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกไม่ว่าฮิวแมนไรต์วอตช์ หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มองว่า

      การเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐ ประหารเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองในประเทศประชาธิปไตย ที่สามารถแสดงออกได้โดยเสรี ไม่สมควรถูกสกัดกั้นหรือจับกุมขึ้นสู่ศาลทหาร

      แต่ คสช.และกลุ่มผู้สนับสนุนอ้างว่า เป็นความจริงที่การชุมนุมเคลื่อนไหวโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเอาไว้

      เพียงแต่ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ปกครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ปกครองภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารเป็น ผู้ถืออำนาจสูงสุด

      อีกทั้งช่วงเวลาระหว่างนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงแรกของปฏิบัติการยึดอำนาจ คสช.ต้องการให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงเกิดความสงบในทันที

      จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ เข้าจัดการกับผู้ที่แสดงความกระด้างกระเดื่องอย่างเฉียบขาด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

     อย่างไรก็ตาม ประเด็นการบริหารจัดการอำนาจที่ได้มาอย่างสมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ คสช.ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ

      ในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น พบว่าการใช้อำนาจแบบทุบโต๊ะได้ส่งผลให้กลไกต่างๆ ขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ อาทิ การจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา การสั่งตรึงราคาก๊าซหุงต้ม น้ำมันดีเซล สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารจานด่วน ฯลฯ ไปจนถึงการเตรียมปัดฝุ่นเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ซึ่งสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากชาวรากหญ้าและ นักธุรกิจระดับบนได้มาก

     แต่ในด้านการบริหารนโยบายด้านความปรองดองสมานฉันท์ของทีมงาน คสช. ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ขีดกรอบเวลาดำเนินการไว้ใน 3 เดือนแรก ดูจะมีอุปสรรคไม่น้อย

     โดยขณะที่มีการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. ขึ้นมาทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด จัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคีและการปฏิรูป สร้างความเข้าใจและยอมรับในความเห็นต่างของบุคคล ตั้งแต่ระดับสถาบันครอบครัว ต่อเนื่องถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด

     อันนำไปสู่การสลายสีเสื้อได้ในที่สุด

     แต่อีกด้านก็ยังมีภาพการส่งทหาร-ตำรวจหน่วยเคลื่อนที่เร็วจำนวนมาก ออกไปตรึงกำลังตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

      เพื่อสกัดกั้นการรวมตัวของประชาชนกลุ่มไม่เอารัฐประหาร

      ตลอดจนจัดส่งชุดจับกุมบุคคลฝ่ายต่อต้าน หรือไม่ก็ใช้วิธีออกประกาศเรียกให้มารายงานตัว จากนั้นจะควบคุมตัวส่งกระจายไปอยู่ตามค่ายทหาร

      บางคนทั้งที่เป็นพลเรือน แต่ก็โดนจัดหนักถูกจับกุมส่งขึ้นศาลทหาร อย่างเช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง และล่าสุดนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด เป็นต้น

      สำหรับคนที่ถูกเรียกพบแล้วได้รับการปล่อยตัว ก็จะถูกจำกัดสิทธิห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ห้ามแสดงความคิดเห็นและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

     หากฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังก็จะมีโทษถึงจำคุก

     นอกจากนี้ การออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองในสายอำนาจเก่าจำนวนมาก

     โดยคนที่มาเสียบตำแหน่งแทนส่วนหนึ่งมาจากซีกฝ่ายสายตรงข้ามรัฐบาลชุดก่อน กับอีกส่วนที่มาจากสายตรงผู้มีอำนาจใน คสช.

      ยามบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ปกติ เมื่อถึงเดือนส.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง มักจะเกิดคลื่นใต้น้ำที่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพรัฐบาลตามมา รุนแรงระดับใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     สำหรับในยามบ้านเมืองในสถานการณ์พิเศษ ต้องจับตาว่าจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนในลักษณะเดียวกันหรือไม่

     โดยเฉพาะตำแหน่งระดับสูงในหน่วยราชการหลักๆ

      กำลังได้รับความสนใจทั้งจากสังคมและคนในองค์กรอย่างมาก ต่อกระแสข่าวความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดรายการพลิกโผ จัดกันใหม่ตามผลงานและบทบาทปัจจุบัน

      ช่วงเวลา 3 เดือนนับจากการทำรัฐประหาร ก่อนจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาผ่องถ่ายแรงเสียดทานทั้งจากภายในและภายนอก ตามโรดแม็ปหัวหน้า คสช.

      การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมจะสำเร็จตามเป้าหมาย หรือจะต้องทอดเวลาออกไป กระทั่งเป็นเหตุให้โรดแม็ป 15 เดือน สู่การจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ต้องยืดยาวตามไปด้วยหรือไม่

     ส่วนหนึ่งที่สำคัญจึงขึ้นอยู่กับอำนาจซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคมในมือของ คสช. ว่าจะถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากไปไม่น้อยไปอย่างไร

      โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียว ยังไม่มีคณะรัฐบาลมาช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยบริหารประเทศ

      เป็น 3 เดือนที่น่าจับตาอย่างยิ่ง....

นที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 22:22 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


อัพเดตท่าทีอาเซียน ต่อประเทศไทยยุคคสช.

 

ข่าวสด อาเซียน

 

     การประชุมระดับสูงว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือการประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ เป็นการหารือด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มี 28 ประเทศเข้าร่วมประชุมและเปิดโอกาสให้ไทยชี้แจงความจำเป็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจการบริหาร

     หลังจากรัฐบาลจาก 39 ประเทศ ที่ออกมาตรการตอบโต้ไทย โดยขอให้กลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง

     โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับไทยมาเกิน 180 ปี

    หลังจากระงับเงินช่วยเหลือทางทหารและโครงการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำกองทัพของสองประเทศ นายชัก เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในที่ประชุมแชงกรี-ลา ว่า ไทยกำลังถดถอยจากวิถีแห่งประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยเร็วที่สุด ให้ยุติการควบคุมการแสดงความคิดเห็น และรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านทางการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

      ด้านรัฐบาลออสเตรเลียประกาศลดการมีปฏิสัมพันธ์กับกองทัพไทยและพิจารณาไม่ให้ผู้นำเหล่าทัพเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย

    ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ประกาศทบทวนความสัมพันธ์ทางกองทัพเช่น

    นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อาศัยเวทีดังกล่าวหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมนี พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนภายใต้โรดแม็ปเพื่อให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อทบทวนท่าที รวมถึงมาตรการตอบโต้ต่างๆ ที่มีกับไทย

     โดยเน้นว่า คสช.มีขั้นตอนนำไปสู่การปรองดอง สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยการปฏิรูป ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งและกลับสู่ประชาธิปไตยในที่สุด

     ขณะเดียวกัน ทางคสช.พยายามแถลงถึงท่าทีด้านบวกของชาติอื่นๆ ในฝั่งเอเชียและอาเซียนที่คงยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยรวมถึงเข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศของไทย ไม่ว่า จีน พม่า เวียดนาม มาเลเซีย

      โดยเฉพาะข่าวคณะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซียเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพไทย วันที่ 3-4 มิ.ย.และเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคสช.

     พร้อมยืนยันว่า มาเลเซียสนับสนุนประเทศไทยรวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

       พ.อ.วีรชน สุคนปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบกกล่าวว่า ความ ร่วมมือกองทัพไทยและมาเลเซียมีทั้งการฝึกร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นประจำทุกปี การศึกษามีการแลกเปลี่ยนนักเรียนของโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือของสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่วนกับกองทัพเวียดนามเป็นเรื่องของการศึกษา ทางเวียดนามส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกับไทย

      ส่วนทริปที่นายสีหศักดิ์เดินทางไปพม่าเพื่อพบกับนายวันนา หม่องลวิน รมว.ต่างประเทศและเยือนเวียดนาม เพื่อทำความเข้าใจกับอาเซียน และอธิบายสถานะล่าสุดของไทยนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศช่วยตีปี๊บว่าได้รับผลตอบรับที่ดี

     นายออง ลิน อธิบดีกรมกิจการอาเซียน ของพม่าให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลพม่าให้การยอมรับคณะรัฐประหารในฐานะรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับเวียดนามที่ให้การสนับสนุนการรัฐประหารในประเทศไทย

    อีกทั้ง กระทรวงต่างประเทศพม่ายังยืนยันต่อนายสีหศักดิ์ว่า เข้าใจสถานการณ์ของไทยดี และมั่นใจในความสามารถของไทยที่จะสนับสนุนการพัฒนาของอาเซียนต่อไป

    ด้านสื่อมวลชนของอินโดนีเซียตั้งข้อสังเกตว่า ในอาเซียน มีวิถีการไม่แทรกแซงระหว่างกันในชาติสมาชิกที่มี พื้นฐานมาจากความกังวลต่อภัยคุกคามของระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีต 

     รัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีท่าทีต่อเหตุการณ์รัฐประหารแตกต่างจากเวียดนามและพม่า

    อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าทั้ง 2 ประเทศเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้เรื่องการแข่งขันกันของมหาอำนาจ เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ และกำลัง ขัดแย้งกันในเรื่องรัฐประหาร ทำให้จีนมองเห็นช่องทางในการแทรกแซงความสัมพันธ์ในอาเซียน และให้ความช่วยเหลือแก่ไทย 

     รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พม่าและเวียดนามจะสนับสนุนรัฐบาลทหาร เนื่องด้วยรากฐานการปกครองของทั้ง 2 ประเทศมีรูปแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ดังนั้นการแสดงท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนจึงหลากหลาย และมีปัจจัยตามรูปแบบการปกครองของประเทศนั้นๆ

      สำหรับ การประกาศเตือนการเดินทางเยือนไทย กระทรวงการ ต่างประเทศระบุว่า มี 63 ประเทศ โดยมี 19 ประเทศที่ประกาศให้ หลีกเลี่ยงการเดินทางหากไม่จำเป็น...

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


ปม อันละเอียด ปม พัฒนากับการเมือง ศึกษาจาก อดีต

 ภาพของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากมุมมองของ นักประชาธิปไตย อาจไม่สดใสกาววาวเท่าใดนัก เพราะเด่นชัดว่าเขาเป็นนักรัฐประหาร เป็นจอมเผด็จการ

 ทั้งคดีแพ่งฟ้องร้องมรดกเป็นเงินหลายพันล้านบาท ยิ่งทำให้สยดสยอง

 เป็นลำพัง เงินเดือน คงไม่สามารถทำให้ลูกและเมียต้องมาฟ้องร้องแย่งชิงเงิน และทรัพย์สินในกองมรดกอุตลุดวุ่นวายได้เพียงนี้

 อย่าได้แปลกใจหาก จอมพลถนอม กิตติขจร จะสั่ง ยึดทรัพย์

 กระนั้น มีมุมมุมหนึ่งซึ่งบรรดานักพัฒนาในชั้นหลังต่างให้การยกย่องวิสัยทัศน์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่ายอดเยี่ยม
 นั่นคือ การริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

 เป็นการริเริ่มแผนตั้งแต่เมื่อปี 2504 ซึ่งเรียกกันว่า แผน 1 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และต่อเนื่องมาตราบเท่าทุกวันนี้

 ทำให้ ไทย ได้ พัฒนา เข้าสู่ความทันสมัย

 บางคนอาจจะลบน้ำหนักของแผนพัฒนาว่ามิได้มาจากความริเริ่มโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หากเป็นการผลักดันโดยสหรัฐอเมริกา

 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ปิดล้อม คอมมิวนิสต์

 เป็นส่วนหนึ่งของแผนของมหาอำนาจแห่งโลกเสรีในยุค สงครามเย็น เพื่อสกัดกั้นมิให้คอมมิวนิสต์ขยายตัวเติบใหญ่

 แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นชอบด้วย

 เป็นการเห็นชอบในสถานะแห่งความเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเห็นชอบในสถานะแห่งความเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก การขับเคลื่อนจึงดำเนินไปเหมือนเรือแล่นฉิวปราศจากคลื่นลมต่อต้านขัดขวาง

 จึงยกย่องกันว่าเป็น นักพัฒนา

 ด้านหลักในการพัฒนายุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการพัฒนาอย่างที่เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานพุ่งเป้าไปยังถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา เขื่อนพลังน้ำน้อยใหญ่

 เป็นการรองรับการขยายตัวของ อุตสาหกรรม

 เป็นการรองรับการเข้ามาลงทุนของทั้งทุนภายในประเทศและทุนข้ามชาติ ไม่ว่าสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย

 ยิ่งเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ยิ่งไปโลด

 ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสอดประสาน 2 อย่างอันสัมพันธ์กัน นั่นก็คือ 1 เป็นการลงทุนจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน 1 ภาคเอกชนก็ลงทุนเพื่อต่อยอดเดินหน้าต่อไป

 เป็น 2 เครื่องจักรแห่งการลงทุน แห่งการพัฒนา

 ประเทศตอนนี้อยู่ในมือของ คสช.เหมือนกับตอนที่ประเทศอยู่ในบรรยากาศเมื่อปี 2504

 เพียงแต่เมื่อปี 2504 นายกรัฐมนตรีก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่ในปี 2557 ทุกอย่างอยู่ในการตัดสินใจของหัวหน้า คสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

 ความคิดในเรื่อง พัฒนา จึงสำคัญยิ่งกว่าเรื่อง การเมือง....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!