3 นักวิชาการวิเคราะห์ ปฏิกิริยา'โลกล้อมไทย'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 11 February 2015 12:04
- Published: Wednesday, 11 February 2015 12:04
- Hits: 3730
3 นักวิชาการวิเคราะห์ ปฏิกิริยา'โลกล้อมไทย'
มติชนออนไลน์ : วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
สุรชาติ บำรุงสุข - รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม - ปณิธาน วัฒนายากร
หมายเหตุ - นักวิชาการ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อกรณีประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น เรียกร้องคืนอำนาจประชาชนโดยเร็ว
สุรชาติ บำรุงสุข
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้ามองจากสายตาของต่างประเทศ ตอนนี้มีความกังวลกับอนาคตการเลือกตั้งของไทย เริ่มมีความไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะเห็นท่าทีของต่างประเทศแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยากเห็นประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ข้อเรียกร้องหรือทรรศนะอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขากังวลกับปัญหาการเมืองไทย ขณะเดียวกันก็อยากเห็นการเมืองไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
การเชิญทูตสหรัฐเข้าพบนั้น ต้องมองก่อนว่าถ้อยแถลงของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงคำแถลงในงานคอบร้าโกลด์ของนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ไม่แตกต่างจากคำแถลงของนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ถ้าเราถือคำแถลงของนายจอห์น แคร์รี เป็นหลัก จะเห็นว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นเพียงการแสดงออกว่าอยากเห็นประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากส่วนหนึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และในภูมิภาคนี้การเมืองส่วนใหญ่อยู่กับระบอบการเลือกตั้ง แม้ปัจจุบันกรณีของพม่าก็จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ดังนั้น ประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐจึงอยากเห็นการเมืองไทยเดินในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย ประกอบกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตย
สำหรับการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความหวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นโอกาสของการชี้แจงให้รัฐบาลของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่นที่มีบทบาทมากในเศรษฐกิจไทย ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีข้อถกเถียงภายในระบบการเมืองญี่ปุ่นเองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรมีท่าทีต่อการรัฐประหารที่กรุงเทพฯอย่างไร กรณีนี้อาจเปรียบเทียบได้กับกรณีของสหรัฐอเมริกา คือ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่รัฐบาลสหรัฐและญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องถนอมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยไว้
อีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเกรงว่ายิ่งแสดงปฏิกิริยาด้านลบมากขึ้น อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้ไทยใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น จะไม่เป็นผลดีต่อทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศจึงจำเป็นต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารไทย ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นไม่สามารถทอดทิ้งการลงทุนในไทยได้ ถือว่าไทยยังมีความสำคัญในการลงทุนทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภูมิภาค
ส่วนที่มาของท่าทีแข็งกร้าวที่มีต่อต่างประเทศของรัฐบาลทหาร มองว่าเป็นความจำเป็นต้องปกป้องสถานะของตัวเอง เนื่องจากการได้มาซึ่งอำนาจเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร รัฐบาลทหารจึงพยายามอย่างยิ่งในการอธิบายกับรัฐบาลต่างชาติ หวังว่าคำอธิบายนี้จะทำให้ต่างชาติยอมรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และหวังว่าการเดินทางเยือนต่างประเทศจะเป็นโอกาสของการอธิบายและการสร้างความชอบธรรมให้แก่การดำรงอยู่ของรัฐบาลทหาร
รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเทศไทยได้ผ่านการปกครองระบอบประชาธิปไตยมายาวนาน ความเป็นประชาธิปไตยช่วยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตัวเองอย่างเต็มที่ มีเสรีภาพในการแสดงออก จากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาระยะเวลาหนึ่ง คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็น ใช้เวทีทางการเมืองเพื่อแสดงสิทธิตามระบบที่โลกให้การยอมรับ การที่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ส่งเสริมให้ประเทศไทยคืนกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณาถึงเรื่องนี้ด้วย
การเดินทางของนายกรัฐมนตรีไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนในประเทศไทยสูง จึงมีความต้องการจะขยายเรื่องการค้า ความร่วมมือ ขณะนี้เราค่อนข้างมีปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน และอื่นๆ ระยะหลังมีคำพูดจากหลายประเทศว่าการพัฒนาของประเทศไทยน่าจะก้าวไปได้อีก ถ้าหากประชาชนอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การจะขยายการค้าการลงทุน ในแง่หนึ่งจึงต้องคำนึงถึงสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการ ให้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบอื่น
ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ย้ำเตือนให้ประเทศไทยหันกลับมาใช้ระบอบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด ดังนั้น เราควรจะให้ความสำคัญ ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของเราเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของประเทศที่มีความสัมพันธ์ดีต่อกันและอยากเห็นประเทศไทยอยู่ในระบบอันเป็นที่ยอมรับ และประชาชนมีสิทธิมีเสียงอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
อีกทั้งมิตรประเทศเหล่านี้คบค้าสมาคมกับประเทศไทย โดยเฉพาะการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมานาน จึงไม่ควรตีความว่าเป็นการแทรกแซง ควรจะมองว่าเราได้เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยมาระยะหนึ่งแล้วควรจะกำหนดเวลาที่แน่นอนในการให้ระบอบประชาธิปไตยคืนสู่ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนเองในการเลือกตัวแทนจากประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนประเทศจีน นักวิชาการบางคนก็บอกว่าเราต้องคานอำนาจ หรือถ่วงดุลอำนาจให้ดีระหว่างมหาอำนาจที่เกิดใหม่อย่างจีน กับมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีการคบค้ากันมานาน ถ้าหันไปพึ่งพาหรือให้ความสำคัญกับจีนมากกว่า อาจจะทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศเอียงไปด้านหนึ่งได้ อาจจะเกิดปัญหาในอนาคต จีนเองก็ถูกวิพากษ์เรื่องความเป็นประชาธิปไตย การคบหาสมาคมกับจีนหลักๆ จึงควรจะเป็นการค้า อีกทั้งในภาพรวมประเทศจีนจะไม่ค่อยมายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในตามนโยบายของประเทศจีน
เราควรยึดหลักเดียวกับประเทศอาเซียน คือพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่นำระบอบการเมืองการปกครองมาเป็นตัวตัดสิน
ปณิธาน วัฒนายากร
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ผมไม่คิดว่าสหรัฐกดดันไทยแต่อย่างใด เพราะได้อ่านสคริปต์การกล่าวเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ที่ผ่านมา เข้าใจว่าสหรัฐ รู้สึกกังวลในการส่งสัญญาณไปยังจีน ทางฝ่ายกลาโหมของสหรัฐก็ไม่ได้มีท่าทีแต่อย่างใด แต่สื่อออกมาโดยกระทรวงต่างประเทศเป็นการส่งสัญญาณยืนยันหลักการตามกฎหมายของสหรัฐ
ใน พ.ร.บ.การร่วมมือระหว่างประเทศของสหรัฐ มีมาตราหนึ่งจะไม่ให้การช่วยเหลือใดๆ กับประเทศที่ทำรัฐประหาร โดยสหรัฐได้ลดการช่วยเหลือทางทหารและเงินช่วยเหลือมายังไทยแล้ว เป็นการแสดงจุดยืนในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งสหรัฐยังมีความกดดันจากการถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีน อินเดีย รัสเซีย ซึ่งจะเป็นกังวลเมื่อประเทศเหล่านี้มีความโน้มเอียงมาทางเรา
มีนักวิเคราะห์มองว่า สหรัฐกำลังผลักไทยให้ไปอยู่กับจีน
ยังไม่มีความชัดเจน มองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ชาติใดชาติหนึ่งต้องรักษา เป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือผลประโยชน์แห่งชาติ หากผลักเราไปสู่จีนเลย สหรัฐจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก เช่น การยกเลิกฝึกคอบร้าโกลด์ สหรัฐก็จะไม่ได้ประโยชน์ในการร่วมซ้อมรบกับอีก 20 กว่าประเทศ แต่สหรัฐกำลังหาวิถีทางเพื่อต้านอิทธิพลของจีนไม่ให้ขยายไปมากกว่านี้ ทำได้ 2 วิธี 1.ไปบอกจีนโดยตรงแต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก 2.บอกผ่านประเทศอื่นให้คงระยะอย่างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่
ที่บอกเราว่าต้องการให้เป็นประชาธิปไตย ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกมันก็เป็นเรื่องดีที่เราต้องรับฟัง แต่ถ้าดำเนินการทางการทูตลักษณะนี้ มองว่าจะเป็นการสร้างบาดแผล คนไทยบางกลุ่มอาจรู้สึกไม่พอใจ อีกทั้งนักการทูตอื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่าปกติจะไม่มีการทำแบบนี้ สหรัฐในอดีตก็ไม่ทำแบบนี้ ยกเว้นจะฟันธงเลยว่าจะเลิกคบ ซึ่งไม่น่าจะใช่ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐจะกลับมาดีเหมือนเดิมเมื่อประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย แม้เรื่องขุ่นข้องหมองใจทางการเมืองจะยังมีอยู่ก็ตาม
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยคืนอำนาจแก่ประชาชนโดยเร็ว เป็นเหมือนยุทธศาสตร์โลกล้อมไทยหรือไม่
เป็นแนวทางที่สหรัฐวางไว้ ทำให้หลายประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐต้องเดินตาม อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นไม่ได้พูดเพียงประเด็นเดียว แต่ยังได้พูดว่าเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของรัฐบาลด้วย ขณะที่นายแดนเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐพูดเพียงประเด็นเดียว ทำให้เห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของสหรัฐมีหลายมาตรฐาน ที่ผ่านมาไม่เคยพูดเรื่องดังกล่าวกับประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันเช่น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ทำให้การทูตของสหรัฐคลายมนต์ขลังลงทันที
ณ เวลานี้รัฐบาลไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง
เราต้องรับฟังซึ่งในภาพรวมสหรัฐก็เป็นเพื่อนที่ดี ยังต้องสะท้อนความเห็นกลับไปยังสหรัฐด้วย อีกทั้งยังต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันมากยิ่งขึ้น หากสหรัฐแสดงท่าทีที่เข้มข้น ไทยเองก็ต้องแสดงความเข้มข้นตาม แต่ว่าต้องทำโดยไม่ให้มีผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันหากมีท่าทีจากสหรัฐแล้วเราเงียบ ไม่ถือว่าเป็นลักษณะวิสัยของกระทรวงการต่างประเทศ เพราะจะแสดงว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญ ต้องอย่าลืมว่าสหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจ