ทิศทาง การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่วแน่ และมั่นคง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 11 February 2015 09:51
- Published: Wednesday, 11 February 2015 09:51
- Hits: 3035
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:05 น. ข่าวสดออนไลน์
ทิศทาง การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่วแน่ และมั่นคง
คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องการเลือกตั้ง ในเรื่องการฟื้นประชาธิปไตยภายใน 1 ปี อาจมิได้เป็นเรื่องใหม่
เพราะปรากฏอยู่แล้วใน “โรดแม็ป”
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ 1 เป็นการประกาศภายหลังการหารือร่วมกับ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
1 เป็นการประกาศจากโตเกียวไปยัง “ประชาคมโลก”
เพราะว่า คำประกาศนี้มิได้หยุดนิ่งและตรึงแน่นอยู่เฉพาะในพื้นที่ของมหานครโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นหากรับฟังได้ทั่วโลก
จึงเท่ากับเป็น “สัญญา” ต่อ “ประชาคม” นานาชาติ
น่าสนใจก็ตรงที่คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอดรับตรงกับคำแถลงจากปากของนายชินโซ อาเบะ อย่างแทบไม่ผิดเพี้ยน
สัมพันธ์ “ญี่ปุ่น-ไทย” ออกมางดงาม “สดสวย”
....................................
เนื้อหาอันไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดจากบางส่วนในคำแถลงของ นายชินโซ อาเบะ ในระยะเดียวกันกับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นั่นก็คือ
“ญี่ปุ่นมีความคาดหวังอย่างมากต่อความปรองดองแห่งชาติของไทยและการกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็วที่สุด”
ทำไมต้องเน้นว่าเป็นการปกครองโดย “พลเรือน”
หากถือเอาตามบรรทัดฐานที่หลายคนในประเทศไทยเคยหงุดหงิดต่อการแสดงความเห็นของนักการทูตอาวุโสของสหรัฐที่เพิ่งมาเยือนไทยเมื่อไม่นานมานี้ถ้อยแถลงจาก นายชินโซ อาเบะ จะมิเป็นการแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเมืองของประเทศไทยหรอกหรือ
เป็น “ความคาดหวัง” เป็นความห่วงใย มิได้เป็น “การแทรกแซง”
........................................
แม้รัฐบาลของ นายชินโซ อาเบะ จะนำเสนอข้อคิดเห็นของตนอย่างอ้อมๆ ตามแบบฉบับของญี่ปุ่น แต่ความหมายของมันครอบคลุม 2 อย่าง
1 การเลือกตั้ง 1 รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้ง
ไม่ว่าใครจะมีความเห็นต่อกระบวนการเลือกตั้งอย่างไร แต่กระบวนการเลือกตั้งก็เป็นวิธีการที่ดีกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
ดีกว่าการทำอย่างอื่นนอกกฎนอกกติกา แน่นอน
และแน่นอน เมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน รัฐบาลอันได้มาย่อมเป็นรัฐบาลพลเรือน มิได้เป็นรัฐบาลอันมาจากสภาพอันนอกกฎ นอกกติกา
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เป็นประชาธิปไตย “อารยะ”
........................................
อาจมีกระแสเรียกร้องต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่มากกว่า 1 กระทั่งยาวถึง 3-4 ปี
แต่คำประกาศจากโตเกียวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดระยะเวลาอย่างค่อนข้างแน่ชัด ตามกรอบที่มีอยู่ใน “โรดแม็ป” ไม่หวั่นไหวและวอกแวกไปตามกระแสเรียกร้องอื่นๆ
นี่คือท่วงทำนองชายชาติทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา