มติชนออนไลน์ : วิเคราะห์
ระยะหลังเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลงานด้านเศรษฐกิจเองหนาหู
เรื่องราคายางพารานั่นก็หนึ่งเรื่อง
เรื่องการส่งออกสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่แลดูมีอนาคตเมื่อต้นปี บัดนี้ภาคธุรกิจกำลังพบความจริงว่า...แย่
ทั้งๆ ที่เมื่อปลายปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจในปี 2558 จะทะยานขึ้น หลังจากเศรษฐกิจไทยปี 2557 วูบทรุดเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
เมื่อสิ้นปีกลายมีประมาณการกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 4 เปอร์เซ็นต์
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้น และการอัดฉีดเม็ดเงินจากงบประมาณที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คาดคั้นให้หน่วยราชการเร่งใช้จ่ายนั้นน่าจะได้ผล
หากแต่เมื่อเวลาผ่านไปจากมกราคมถึงกุมภาพันธ์ กลับพบว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เป็นดังคาด
ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเริ่มลังเล และขอ
กลับไปปรับดูประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังเชื่อมั่นในตัวเลข 4 เปอร์เซ็นต์ แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ลดเป้าประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 4 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3.9 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงตัวเลขประมาณการเติบโตด้านการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันตัวเลขขยายตัว 4 เปอร์เซ็นต์ หากแต่ภาคเอกชนมองแล้วเห็นว่าอาจจะเติบโตได้แค่เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เท่านั้น
ปัญหาการส่งออกส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งแทนที่จะเติบโตตามคาด กลับเติบโตแบบค่อยๆ ไต่ระดับ
กระทั่งไม่แน่ใจว่ามีการเติบโตแท้จริงหรือเป็นเพียงความคาดหวัง
ยิ่งเมื่อผนวกรวมกับสภาวะที่ประเทศไทยยังขาดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประเทศโลกประชาธิปไตยมีท่าทีที่จะไม่ค้าขาย ยิ่งทำให้การส่งออกไทยได้รับความกดดัน
เช่น การตัดจีเอสพีของไทยเนื่องจากคนไทยมีรายได้มากขึ้นเกินข้อกำหนดที่สหภาพยุโรปจะช่วยเหลือ แต่หากรัฐบาลไทยได้เจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และมีหมวดรายการไปนำเสนอ เรื่องภาษีที่เป็นกังวลอยู่ในปัจจุบันอาจจะกลายเป็นเรื่องเล็ก
เพียงแต่เมื่อประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับยังไม่เกิด ไม่มีรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ทำให้ประเทศคู่ค้าไม่มั่นใจ
ปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่แทนที่จะดีขึ้นตามคาด กลายเป็นทรงและมีทีท่าว่าจะทรุด
แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มองดูน่าห่วงใยที่สุด เห็นจะเป็นสถานการณ์พืชผลทางการเกษตร ราคาค่าโดยสารสาธารณะ ราคาอาหาร
สินค้าเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกัน
หากสินค้าทางการเกษตรราคาดี รายได้เกษตรกรเพิ่ม การจับจ่ายใช้สอยดี การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะดีมาก
แต่ถ้าสินค้าทางการเกษตรแย่ ให้ทำใจได้เลยว่าสถานการณ์จะไม่สู้ดีนัก
เพราะเมื่อใดปัญหาเศรษฐกิจลงไปสู่รากหญ้า บรรดาผู้นำชาวสวนยางพารา กลุ่มผู้ปลูกปาล์ม และกลุ่มชาวนาอยู่ไม่ได้ก็จะออกมาเรียกร้อง
ขณะที่สินค้าทางการเกษตรมีปัญหา รายได้ของคนในเมืองก็เริ่มฝืดเคือง
คนขับรถแท็กซี่ร้องขอเพิ่มค่ามิเตอร์ขึ้นไปอีก ส่วนรถเมล์ร่วมยื่นข้อเสนอขยับค่าโดยสาร 3 บาท
การขึ้นราคาค่าโดยสารรถประจำทางและแท็กซี่ ก็กลับมากระทบประชาชนคนทั่วไป
ราคาอาหารขยับตัวขึ้นจนมีการร้องเรียน กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการคุ้มครองประชาชนด้วยการประกาศราคาแนะนำให้ร้านค้าปฏิบัติตาม
ปรากฏว่าพอประกาศไปสักพัก บรรดาร้านค้าร้องขอให้ขยับราคาแนะนำขึ้นไปอีก เพราะอยู่ไม่ได้
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลต่อจิตวิทยาไม่ใช่น้อย
แม้รัฐบาลจะมีมือเศรษฐกิจอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร
เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง นายสมหมาย ภาษี มีที่ปรึกษาอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
และแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วนานัปการ
แต่ดูเหมือนว่า ณ บัดนี้ ปรากฏออกมาเบื้องต้นแล้วว่าไม่ได้ผล
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ทั้งผลเสียที่ประชาชนรู้สึกไม่ไว้ใจสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ผลเสียต่อความเชื่อมั่นในทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล
ผลเสียที่ทำให้ไทยอาจเพลี่ยงพล้ำในการต่อรองทางการค้ากับนานาชาติ
ดังนั้น ทุกสายตาจึงเพ่งมองไปที่รัฐบาลด้วยความเป็นกังวล มอง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้นำด้วยความเป็นห่วง
เพราะตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์วาดภาพไว้ ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะบรรลุแผน
แล้ววันเวลาระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่บรรลุแผน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะใช้วิธีการใดเผชิญหน้ากับมรสุมเศรษฐกิจ
แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะมั่นใจในความมั่นคงภายใต้กฎอัยการศึกว่าคุมได้
แต่เมื่อเริ่มปรากฏชาวสวนยางออกมาก้มกราบ เมื่อมีคลิปคนออกมาวิจารณ์การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
ทำให้อดประหวั่นใจไม่ได้ว่า มรสุมเศรษฐกิจที่ก่อตัวอยู่นี้จะค่อยๆ สลายลง
หรือจะบานปลายต่อไปจนกลายเป็นปัญหาการเมือง