มองต่างมุมไอเดีย'ป๋า' ตั้งศาลฉ้อราษฎร์
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 04 February 2015 19:46
- Published: Wednesday, 04 February 2015 19:46
- Hits: 3670
มองต่างมุมไอเดีย'ป๋า' ตั้งศาลฉ้อราษฎร์
ยอดพล เทพสิทธา, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ธนพร ศรียากูล
|
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในวันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ครบรอบ 60 ปี โดย พล.อ.เปรมขอตั้งหัวข้อพูดเองว่า "เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน" เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงการโกงชาติเป็นเรื่องที่เกลียดที่สุด เป็นภาระของคนไทยต้องช่วยกันดูแล หากคนโกงไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน ไม่ต้องไปไหว้ ไม่ต้องไปแสดงความเคารพนับถือ และยังกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินคดีในคดีทุจริตที่ใช้เวลานาน จึงเสนอให้ตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นแทนเพื่อลดขั้นตอนและเวลา ต้องดำเนินการในลักษณะหลักนิยมของทหารม้า คือ "รวดเร็ว เด็ดขาด" ต่อไปนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการ นักการเมือง ต่อแนวคิดของ พล.อ.เปรม มีดังนี้ ยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร การที่ พล.อ.เปรมเสนอศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ต้องถามว่าต่างจากศาลยุติธรรมตรงไหน สุดท้ายแล้วเราก็ใช้องค์กรตุลาการในการวินิจฉัยคดีอยู่ดี มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา ตอนนี้กลายเป็นว่าเราต้องการเอาคนดีมาตัดสินทุกอย่างโดยที่เราไม่เชื่อในระบบ จริงๆ เรามีระบบอยู่แล้ว เรามีองค์กรตุลาการอยู่แล้วในการวินิจฉัยข้อพิพาท ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาททางปกครอง ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญา ความผิดฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ต้องแยกกันระหว่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นคดีการเมืองเกี่ยวกับการทุจริตในหน้าที่ กลับกันในประมวลกฎหมายอาญาก็มีเกี่ยวกับความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ ฉะนั้นไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมา ถ้าเราดูไทม์ไลน์ของ พล.อ.เปรม ที่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา พูดเรื่องของคนดีแท้ๆ เลย ก่อนหน้านี้ก็จะบอกว่าถ้าเจอคนไม่ดีหรือคนโกงก็ไม่ต้องยกมือไหว้ วันนี้มาเสนอเรื่องศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็ยังไม่เข้าใจความคิดแท้ๆ ว่าจะตั้งขึ้นมาให้เปลืองงบประมาณแผ่นดินทำไม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร จะเอาใครมาเป็นตุลาการในองค์กรนี้อีก ขึ้นชื่อว่าศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง นั่นหมายความว่า คนที่มาเป็นตุลาการจะต้องปราศจากมลทินใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่รู้ เราไม่มีกระบวนการคัดเลือกคนที่ปราศจากมลทิน เราตอบไม่ได้เลย เพราะว่ากระบวนการบางอย่างที่อยู่ในประมวลกฎหมายของเรา ความผิดบางประเภทเรายกเว้นให้รับราชการได้ เช่น ความผิดฐานลหุโทษ ความผิดโดยประมาท กลายเป็นว่ามาอย่างนี้ เราหาคนที่จะมาเป็นตุลาการก็ยากแล้ว แต่จะหาคนที่บริสุทธิ์อีกยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ไม่จำเป็นว่าจะเป็นหลักนิยมของทหารเหล่าไหนที่ว่ารวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด ถ้าเราอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐทุกอย่างมีกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ มองว่าหลักนิยมของทหารนั้นเป็นหลักที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดแล้วในประเทศ เพราะว่าหลักนิยมของทหาร พูดตรงๆ ว่าเราไม่เคยตรวจสอบการเงินของทหารเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรนำหลักนิยมของทหารมาจับกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ขอแค่เรายึดหลักนิติรัฐก็พอ ในต่างประเทศไม่มีศาลคอร์รัปชั่น ที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือศาลฎีกาชั้นสูงของฝรั่งเศส แต่จะเป็นกรณีที่ประธานาธิบดีทรยศต่อชาติ เช่น เอาความลับของชาติไปขายอย่างนี้เป็นต้น แต่ไม่ใช่เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น คนละเรื่องกัน สุดท้ายแล้วศาลชั้นสูงนี้ก็เป็นศาลการเมืองอยู่ดี สุดท้ายการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาคการเมืองก็ต้องถูกควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง ไม่ได้ถูกควบคุมโดยองค์กรตุลาการ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องการให้ถูกลงโทษก็ไปศาลยุติธรรมตามปกติ ก็มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ส่วนในกระบวนการทางการเมืองก็มีกระบวนการถอดถอนนักการเมืองอยู่แล้ว ในความคิดคือไม่มีความจำเป็น รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การออกมาเสนอเรื่องตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสทางการเมืองในปัจจุบันที่พยายามพุ่งเป้าไปในแง่ของการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นมีกฎหมายอาญา มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการอยู่แล้ว ผมจึงไม่เข้าใจว่าจะเสนอศาลปราบโกงขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าจะตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง พล.อ.เปรมต้องชี้ให้ชัดว่าปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันมันอยู่ตรงไหน กฎหมายที่มีอยู่มีช่องโหว่ยังไง อย่างข้อเสนอที่บอกว่าให้ตัดสินอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าในแง่หนึ่งสิ่งที่กระบวนการกฎหมายต้องใช้เวลาในแง่หนึ่งต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง แสดงหลักฐาน หรือโต้แย้งคำกล่าวหาอย่างเต็มที่ เป็นระบบกฎหมาย เป็นเรื่องกฎหมายใหม่ในประเทศที่มีอารยะทั้งหลาย ให้ความสำคัญกับผู้ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องต้องใส่ใจ ดังนั้น การจะตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้น ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากข้อเสนอยังไม่ชัดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าถามผม ผมมองว่าปัญหาในบ้านเรามีกระบวนการในการจัดการกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยที่ยังไม่มีความสม่ำเสมอเพียงพอ หมายความว่าคนทุกกลุ่มไม่ได้ถูกบังคับใช้เรื่องนี้อย่างเท่าเทียม เราพบว่าข้อกล่าวหาในการทุจริตหลายเรื่องจบลงง่ายๆ เช่น ข้อกล่าวหาทุจริตที่ดินเขายายเที่ยง หรือเรื่องเครื่องมือตรวจสอบระเบิดของทางกองทัพ เป็นต้น ทั้งหมดเงียบหายจนคิดว่ามีปัญหากับกระบวนการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ผมมองว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหากับสังคมไทย แต่ควรจัดการกับปัญหาด้วยประชาธิปไตยและกระบวนการทางกฎหมายที่ยุติธรรม ไม่ใช่การใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการ เพราะฉะนั้นวิธีการแบบรวดเร็ว ไม่โปร่งใส ไม่ทำให้การคอร์รัปชั่นหายไป หากตั้งศาลขึ้นมาจริงๆ ในแง่ของศาลคือมีหน้าที่ตัดสิน ยังไงก็ต้องมีคนดำเนินการก่อนหน้าในการสืบสวน สอบสวน สั่งฟ้อง ปัจจุบันเป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ยังไงก็ไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าไหร่ สิ่งที่ควรทำน่าจะเป็นการปรับปรุง ป.ป.ช.ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาวมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่มีศาลปราบโกงอะไร จะใช้ ป.ป.ช.แบบบ้านเรา แต่เขามีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา กรณีที่ พล.อ.เปรมมีดำริเรื่องศาลปราบคนโกง ซึ่งเคยพูดในลักษณะใกล้เคียงกันมาหลายครั้งตั้งแต่ช่วงปี 2549 แท้จริงแล้วกลไกเรื่องการดำเนินการกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้แยกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ ป.ป.ป. แต่เดิมเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตั้งอยู่ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ได้แยกออกมาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่จะมีศาลปราบโกงหรือไม่ เพราะศาลปราบโกงมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ภาคประชาชนไม่ใช่ไม่คิดแต่ได้คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว จึงต้องดูว่าปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นอยู่กับประเด็นอะไร มันคงไม่ใช่ตัวศาล แต่อยู่ที่ปัจจัยในเชิงโครงสร้างอย่างอื่น ประเด็นที่หนึ่ง กลไกของ ป.ป.ช.มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เช่น การถูกตั้งข้อสังเกตในการดำเนินในหลายเรื่อง เรื่องที่เห็นโดยทั่วไปก็มีมาก เรื่องที่ไม่เห็นแต่มีการติฉินนินทาในทางลับว่ามีการรู้เห็นเป็นใจกับผู้ถูกกล่าวหาก็มีในเรื่อง จึงคิดว่าประเด็นในวันนี้เราควรจะมาตั้งโจทย์ในการปฏิรูป ป.ป.ช.เป็นเรื่องที่ดีกว่า การปฏิรูป ป.ป.ช.จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปตัวเอง แต่การปฏิรูป ป.ป.ช.จะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวเท่านั้น คือ ประชาชนเท่านั้นจะต้องเป็นผู้ปฏิรูป การให้ ป.ป.ช.มาเป็นผู้ปฏิรูปตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครคิดที่จะบอกว่าองค์กรของตัวเองบกพร่อง ประเด็นที่สอง การขยายตัวของ ป.ป.ช. ไปเป็น ป.ป.ช.จังหวัดยิ่งเป็นการทำให้หน่วยงาน ป.ป.ช.นั้นเทอะทะ และเป็นการขยายตัวของ ป.ป.ช. ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องประสิทธิภาพได้เลย ยังคิดว่ากระบวนการในการตรวจสอบของภาคประชาชนในเรื่องการทุจริตก็มีความสำคัญ การออกแบบตรงนี้เองในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นั้นเรายังไม่เห็น รวมไปถึงเครือข่ายต่อต้านการโกงทั้งหลายเองก็ต้องมีการปัดกวาดบ้านของตัวเองด้วย ภาระเรื่องการไม่เอาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่ภาระของศาลเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเป็นภาระของทุกคนที่อยู่ในประเทศแห่งนี้ สิ่งที่ พล.อ.เปรมพูดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนคิดกันมา 18 ปีแล้ว เราต้องมาจัดระบบโครงสร้างของการทำงานให้ยึดโยงกับประชาชน ให้ประชาชนเข้ามาเป็นผู้สอดส่องจะได้ผลมากกว่า |