ปัญหา ขัดแย้ง ในแวดวง สาธารณสุข ปัญหา การเมือง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 04 February 2015 19:44
- Published: Wednesday, 04 February 2015 19:44
- Hits: 3239
วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ปัญหา ขัดแย้ง ในแวดวง สาธารณสุข ปัญหา การเมือง
การปะทะกันในทาง “ความคิด” และในทาง “แนวทาง” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ
มีความแหลมคมเป็นอย่างมาก
แหลมคมตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 โดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา
ต้องยอมรับว่า “อาวุธ” ที่ใช้ในการต่อสู้ “น่าเกรงขาม”
ความน่าเกรงขามอยู่ตรงที่ไม่ว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าฝ่ายของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเอกเทศและโดดเดี่ยว
ตรงกันข้าม มี “มวลชน” มี “องค์กร” มวลชนรองรับ
กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดเป็นจำนวนมาก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติอาจมีเพียง “แพทย์ชนบท” เป็นพันธมิตร
แต่ก็มิอาจมองข้าม “เครือข่าย” ผู้ป่วยจำนวนมหาศาล
.........................................
ท่วงทำนองในการแก้ไขปัญหาโดย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปี่ยมด้วยความอดทน อดกลั้นอย่างรอคอย
ไม่พยายามใช้ “อำนาจ”
แม้ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แต่ก็เสมอเพียง “เงื้อง่า” ยังไม่ถึงกับ “ลงดาบ”
ทางหนึ่ง ก็อาศัยบริการในทางวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ นายอัมมาร สยามวาลา ขณะเดียวกัน ทางหนึ่ง ก็พยายามอาศัยเวทีประชุม เวทีสัมมนา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมระหว่างคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย
วัยรุ่น “ใจร้อน” ทั้งหลายอาจ “หงุดหงิด”
..............................................
มีความจำเป็นที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน จะต้องใช้มาตรการ “ทางการเมือง” มากกว่าจะใช้มาตรการ “ทางการทหาร”
เพราะ 2 ฝ่ายล้วนเป็น “มิตรร่วมรบ”
บรรดา “แพทย์ชนบท” และ “ปลัดกระทรวง” ล้วนเคยออกอาวุธในการบ่อนเซาะและเบียดโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว
รูปธรรมก็คือ “นกหวีดทองคำ”
ยิ่งกว่านั้น นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ก็เคยเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มอธิการบดี” ในการร่วมดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์” กทม.กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
จึงต้องผ่อนปรน จึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย
..............................................
น่าสนใจก็ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้ามาทำอะไรแม้จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็ตาม
นั่นหมายความ 1 ว่าไว้วางใจ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ในฐานะรัฐมนตรี นั่นหมายความ 1 ว่าไว้วางใจ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ในฐานะปลัดกระทรวง
ให้ 2 คนตกลงก่อนที่ “ชาวบ้าน” จะเดือดร้อน