สัมพันธ์ การเมือง สัมพันธ์ ไทย กับ สหรัฐ มองอย่าง'เข้าใจ'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 01 February 2015 14:22
- Published: Sunday, 01 February 2015 14:22
- Hits: 3309
วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
สัมพันธ์ การเมือง สัมพันธ์ ไทย กับ สหรัฐ มองอย่าง'เข้าใจ'
ปฏิกิริยาและความไม่พอใจต่อสหรัฐ ต่อปาฐกถาของ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
แต่ก็ยังสร้างความแปลกใจ
ไม่ว่าจะมาจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าจะมาจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เข้าใจได้เพราะกระทบต่อรัฐบาลไทย
จำเป็นอยู่เองที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาชี้แจงความเป็นจริงในด้านของประเทศไทย
เข้าใจได้เพราะที่สหรัฐแตะเป็นเรื่อง “ถอดถอน”
จำเป็นอยู่เองที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจ
กระนั้น ความแปลกใจต่อ “สภาพ” ก็ยังดำรงอยู่
.............
ความแปลกใจในที่นี้มิได้เป็นเรื่องใน “ทางลบ” ตรงกันข้าม เป็นความแปลกใจเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐ
เป็นความสัมพันธ์นับเป็นร้อยปี
ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์อันไม่ธรรมดา เพราะในต้นทศวรรษ 2490 ไทยกับสหรัฐยังเคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในสงครามเกาหลี
และตลอดทศวรรษ 2500 ก็รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในอินโดจีน
ไม่เพียงแต่เท่านั้นด้วยสนธิสัญญาถนัด-รัสก์ ยังทำให้สหรัฐสามารถส่งทหารเข้ามาในไทยตั้งแต่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และปักหลักตั้งฐานทัพในหลายจังหวัดของประเทศไทยในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร
แนบแน่นถึงระดับนี้ยังมีเรื่องต้องหมองหมางกันจนได้
..............
หากมองจากด้านของสหรัฐก็คงรู้สึกแปลกใจว่าทำไม “ปฏิกิริยา” อันมาจากชนชั้นนำของไทยจึงดุเดือดและร้อนแรงถึงระดับนี้
ขณะเดียวกัน หากมองจากด้านของไทยก็เช่นเดียวกัน
นั่นก็ คือ คนที่ยืนแถวหน้าในการแสดงความหงุดหงิดต่อท่าทีของรัฐบาลสหรัฐ ก็คงจะแปลกใจว่าอะไรทำให้สหรัฐเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก
ตรงนี้แหละที่นักปรัชญาเขาระบุว่า “แล้วแต่มุมมอง”
เหตุปัจจัยอันใดที่ทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ซึ่งเคยจับมือกันมั่นบนพื้นฐานแห่งคำว่า “มหามิตร” ต้องมีอันแปรเปลี่ยน
กลับกลายเป็นแทบพูดกันคนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง
................
กรณีขัดแย้งในทางความคิดระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐจะดำรงอยู่อีกยาวนานพอสมควร
จึงได้แต่หวังว่า ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งนี้แต่ละฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปทบทวนและประมวลปัญหาออกมาตามความเป็นจริงอย่างเที่ยงตรง
เพื่อค้นหา “รากเหง้า” ค้นหา “ต้นตอ” ออกมาให้จงได้
................
วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 17:08 น. ข่าวสดออนไลน์
เอพีวิเคราะห์สัมพันธ์ไทย - สหรัฐ ถึงอย่างไรก็ตัดทิ้งไม่ได้
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. สำนักข่าวเอพีของสหรัฐอเมริกา รายงานถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ภายหลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนไทยและกล่าวแสดงท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อสภาพการณ์ทางการเมืองไทยอย่างชัดเจน รวมถึงเรียกร้องให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก ว่าทำให้ทางการไทยและเหล่าสมาชิกสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตอบโต้อย่างไม่พอใจ
เอพีระบุว่า หลังสหรัฐทุ่มเทไปกับศึกอัฟกานิสถานและศึกอิรักนานนับสิบปี จนจีนขยายอิทธิพลในเอเชีย รัฐบาลสหรัฐจึงยังคงสถานะให้ไทยเป็นพันธมิตรที่มั่นคงและทิ้งไปไม่ได้ แม้ว่าสหรัฐต้องระงับเงินช่วยเหลือทางการทหารมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์ไว้หลังไทยเกิดรัฐประหาร แต่การฝึกคอบร้าโกลด์ในไทยยังต้องมีอยู่ แม้ลดขนาดลงโดยไม่มีการซ้อมรบจริง และในทางเศรษฐกิจ มูลค่าทางการค้าระหว่างสองประเทศที่มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
นายดัก พอล ผู้อำนวยการกิจการเอเชีย ประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ถึงอย่างไรไทยก็เป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชีย สหรัฐมีอนาคตต่อไทยในทางประวัติศาสตร์และศักยภาพที่ต้องพึ่งพาการเข้าถึงปฏิบัติการทางทหารในหลายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นฉับพลัน รวมถึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางเศรษฐกิจและการเมือง ปัจจัยใหม่ที่มีผลต่อความสัมพัธ์คืออิทธิพลของจีน
นายพอล กล่าวต่อว่า ไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียนทั้งด้านภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น ทิศทางของอาเซียนในฐานะเป็นองค์การรวมของประเทศที่เป็นมิตรจึงจะอยู่ในภาวะเสี่ยง
รายงานตอนท้ายระบุว่า ไทยขยับเข้าไปใกล้ชิดจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในยุครัฐบาลนี้ ที่มีการเดินทางเยือนและทำสัญญาก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ส่วนมูลค่าเศรษฐกิจสองชาติอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้นำไทยกับสหรัฐพบกันในการประชุมร่วมเวทีภูมิภาคเท่านั้น และการเยือนของนายรัสเซลที่มากล่าวสปีชนั้น ทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยนำไปแสดงความเห็นนั้นทำให้อย่างน้อย 4 คนถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ