บทเรียนสนช.ถอดถอน'ปู' การเมืองไทยจะไปทางไหน?
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 26 January 2015 16:11
- Published: Monday, 26 January 2015 16:11
- Hits: 3683
บทเรียนสนช.ถอดถอน'ปู' การเมืองไทยจะไปทางไหน?
ไพรัช ตระการศิรินนท์ - สุขุม นวลสกุล
|
หมายเหตุ - ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะทำให้ทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันประเมินยากว่าการเมืองจะเดินไปในทิศทางไหน เเต่มองเผินๆ โดยไม่เอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะพบว่าการถอดถอนได้ให้บทเรียนเเละเป็นสัญญาณให้เเก่ผู้จะเข้าสู่เเวดวงการเมืองต่อไปในอนาคต จำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องความโปร่งใส เรื่องของธรรมาภิบาลในการบริหารมากยิ่งขึ้น จะโยงไปถึงกลุ่มข้าราชการด้วยต้องระวัง ถ้าเราไม่มองเรื่องนี้ที่ตัวบุคคล มองที่ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเดียว คิดว่าเเง่นี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต จะทำให้การเมืองค่อยๆ พัฒนาไป ส่วนถ้าเรามองในเชิงการเมือง ก็ประเมินยาก ไม่เเน่ใจว่าการเมืองเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน ถ้าเรามองจากช่วงที่มีความขัดเเย้งเเละการไม่ยอมรับระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ประเมินอนาคตยากเหมือนกัน เเต่คิดว่าถ้าไม่มีลักษณะของคลื่นใต้น้ำ ยังคงไม่ถึงขั้นให้เกิดมีการเผชิญหน้ากันได้ ขณะที่บทบาทของพรรคการเมืองหลังจากนี้ สำหรับเมืองไทยภาพระหว่างพรรคเเละตัวบุคคลยังค่อนข้างเเยกกัน ไม่คิดว่าเป็นภาพเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าห้วงเวลาข้างหน้า ผู้นำเเละเเกนนำของพรรค ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม จะทำให้คนมองพรรคที่ตัวเองอยู่เป็นอย่างไร หมายถึงว่าอนาคต เมื่อหัวหน้าพรรคไม่ใช่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกเเล้ว ภาพของพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเปลี่ยนไป หรือหัวหน้าพรรคไม่ใช่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกเเล้ว ภาพของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปลี่ยนแปลงไปได้ในสายตาประชาชน กลุ่มเเกนนำพรรค มีผลต่อการมองของผู้สนับสนุน ตัวบุคคลมีผลค่อนข้างเยอะ คนไม่ได้มองว่าคุณอยู่พรรคไหน เเต่สำคัญที่คุณเป็นใคร สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากการถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มวลชนเสื้อแดงอาจจะถูกกรณีนี้เป็นเรื่องปลุกอารมณ์ ว่าโดนรังแก โดนความไม่เป็นธรรม โดนการเมืองจัดตั้งเล่นงาน เพื่อรอเวลาเลือกตั้ง แต่จะแตกแยกไหม เรื่องความแตกแยกเป็นเรื่องปกติ การเมืองแบ่งพวกอยู่แล้ว ความปรองดองนี่ไม่รู้พูดทำไม ไม่ใช่แค่เอาสองฝ่ายมาร้องเพลง พวกเราเหล่ามาชุมนุม แล้วก็จะจบเมื่อไหร่ล่ะ การเมืองต้องต่อสู้กัน แต่ขอร้องได้ไหม อย่าต่อสู้นอกกติกา อย่าต่อสู้ด้วยความรุนแรง อย่าทำเฮทสปีช สร้างอีกฝ่ายให้เป็นศัตรู ไอ้เรื่องความเห็นตรงข้าม ความเห็นไม่เหมือนกัน เป็นทางเลือกของผู้คนอยู่แล้ว แต่เรื่องนอกกติกา ในอนาคตก็อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก วิธีการเดิมๆ แต่เราจะป้องกันอย่างไร เรียนรู้อย่างไร ก็ต้องรักษากฎกติกา ที่ผ่านมามีความรู้สึกเหมือนกฎหมายมีคนเล่นอยู่ฝ่ายเดียว อะไรแบบนี้นะ ถ้ารักษากติกากันเคร่งครัด ใครทำผิดกฎหมายก็ว่าไป จะทำให้มีโอกาสให้คนอยู่ในกรอบได้ สำหรับพรรคการเมืองเองอย่างพรรคเพื่อไทย เขาคงมองเรื่องนี้เป็นเรื่องถูกรังแกมากกว่า ไม่ได้เป็นบทเรียนอะไร ถามว่าใครจะมาเป็นผู้นำต่อก็ยังไม่รู้ เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคุณยิ่งลักษณ์ได้เหมือนกัน ก็อาจจะมีคนอื่นๆ ได้ อาจจะเป็นคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือใครก็ได้ แต่พรรคอื่นไม่ทราบ เพราะแต่ละพรรค บางครั้งพอมีเลือกตั้งก็ต้องเปลี่ยนท่าทีอีกเหมือนกัน พรรคขนาดกลางก็เปลี่ยนท่าทีให้เข้ากับฝ่ายไหนก็ได้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่พูดว่าจะมีการปรองดอง จะทำการปรองดองให้เกิดขึ้นหลังจากยึดอำนาจมา ทั้งยังให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำเรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยเห็นการกระทำอะไรที่จะเป็นการปรองดอง แม้การปรองดองจะไม่ใช่การที่เราหมายความว่าไม่ลงโทษผู้ที่กระทำผิด แต่การปรองดองก็ต้องไม่ใช่การทำลายล้างระบบนิติรัฐ นิติธรรม ไม่คำนึงถึงหลักที่ถูกต้อง การที่ สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น เป็นส่วนหนึ่งบอกได้ชัดเจนว่า การถอดถอนไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว อีกทั้ง สนช.ยังเป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งมาจาก คสช. แต่มาทำการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ที่มาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการปรองดองจะไม่เกิดจาก คสช.และผู้มีอำนาจ เพราะพวกเขาไม่เคยกระทำใดๆ แสดงให้เห็นว่าต้องการจะปรองดอง การจะทำเรื่องปรองดองไม่ควรให้เป็นเรื่องของการไม่พอใจเกี่ยวกับตัวบุคคล แต่ควรทำความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างในระบบนิติรัฐและนิติธรรม ในเมื่อ คสช.ไม่เคยคิดจริงจังเกี่ยวกับการปรองดอง คงไม่เรียกร้องเพื่อให้ คสช.ทำการปรองดองกับใคร แต่ถ้า คสช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังเห็นแก่บ้านเมืองอย่างจริงจัง ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยหรือไม่ควรส่งเสริมให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะกับระบบการเมืองการปกครอง ที่สำคัญที่สุด การปรองดองไม่ควรพยายามสร้างระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการและไม่เป็นธรรม ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหว การปรองดองหรือไม่ปรองดองในตอนนี้ ลำพังแค่การไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนคงไม่มีพลังอะไรมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วยในความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เรื่องนี้ยังไม่แน่ใจ ถ้าถามว่าในตอนนี้หาก คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วจะเป็นอย่างไร ดูจากแนวโน้มและท่าทีแล้วเห็นว่า กฎอัยการศึกคงไม่ถูกยกเลิกไปอีกนาน และการที่ คสช.ขอความร่วมมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ให้แถลงข่าวหลังจากที่ สนช.มีมติถอดถอนและอัยการสูงสุดมีมติสั่งฟ้องคดีอาญานั้น คสช.ยังเกิดความหวาดกลัวต่อการแถลงข่าวมากเกินไปหรือไม่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เฉพาะหน้าภายใต้กฎอัยการศึกคงไม่เห็นเหตุการณ์การเคลื่อนไหวอะไร แต่ในระยะยาวคิดว่าการถอดถอนครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงรัฐประหารโดยทหารครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 หมายความว่าความพยายามจะพูดเรื่องปรองดอง เอาเข้าจริงเป็นแค่ฉากหน้า ตอนนี้เป็นความมุ่งหวังต้องการจะจัดการกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมหรือได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ ถ้ายังดำเนินแบบนี้จะทำให้สังคมไทยยุ่งยากกว่าเดิม เพราะตอนที่เกิดรัฐประหารหลายฝ่ายเข้าใจว่า ทหารจะอยู่ในฝ่ายเป็นกลางทางการเมือง ไม่เอียงข้างมาก แต่บัดนี้เข้าใจว่าความเข้าใจแบบนั้นไม่น่าจะมีอยู่ ภาพที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าทหารเลือกข้าง ทำให้เห็นว่ามีการแตกขั้วทางการเมืองชัดเจนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน ไม่เห็นด้วยของ สนช. คงจะคาดหวังกับรัฐบาลทหารที่เข้ามาเกี่ยวข้องคงเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้ไม่มีทางออก สังคมไทยจะตกอยู่ในความยุ่งยากไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่งพอสมควร สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของความสูญเปล่า ตราบใดที่มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจ จะไม่มีความยั่งยืนในระยะยาวแน่นอน ดังนั้นความพยายามจะใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และอำนาจของ สนช.ทั้งหมดนี้อาจจะแก้ปัญหาได้ชั่วคราว แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งชุดเดิม เคยเกิดขึ้นมาในรอบ 10 ปี อีกทั้งการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ผลต่างจากการยุบพรรคไทยรักไทย หรือการตัดสินลงโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะพิจารณาในระยะยาวแล้ว ไม่ได้ทำให้เกิดระบบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ระยะยาวเมื่อกลับไปสู่การเลือกตั้งปัญหาต่างๆ ก็จะวนเวียนกลับมาใหม่ รวมถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ทั้งปี 2549 และ 2557 จะทำให้สังคมเห็นว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาหรือเป็นทางออกในระยะยาว เพราะในภาพกว้างเราปฏิเสธเสียงของประชาชนที่ผ่านระบบการเลือกตั้งไม่ได้ แน่นอนว่าอาจจะมีการทุจริตหรือการได้มาโดยมิชอบ แต่เราต้องจัดการโดยระบบที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การใช้อำนาจนิยม ปัญหาทางการเมืองไม่ได้เกิดเพราะคนคนเดียว เพราะฉะนั้นทำให้ปัญหาการเมืองคลี่คลายการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้แก้ปัญหาได้ ก็เหมือนตอนที่เราคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือปัญหาของการเมืองไทย พอตัดสินลงโทษและยุบพรรคไทยรักไทยก็คิดว่าปัญหาจะจบ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ถ้าจะลงสมัครอีกครั้งมีแนวโน้มจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ได้ แต่คิดว่าจะต้องรู้ความผิดพลาดของตัวเอง ต้องอย่าลืมว่าสังคมไทยตอนนี้นอกจากเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยต้องสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความผิดของพรรคเพื่อไทย ดำเนินการหรือปฏิบัติการทางการเมืองแบบไม่เห็นหัวประชาชน กรณีนิรโทษกรรมสุดซอย ตรงนี้เป็นบทเรียนสำคัญ การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยทางหนึ่ง เพราะเป็นเหมือนการช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทยไปในตัว ในส่วนของพรรคการเมืองอื่นที่เหลือ พรรคประชาธิปปัตย์ไม่ขอให้ความสนใจ เพราะเป็นพรรคที่ไม่ได้มีเจตจำนงในทิศทางเป็นประชาธิปไตย ส่วนพรรคอื่นเกิดขึ้นมีหลายพรรคน่าจะมีอนาคตทางการเมือง เช่น พรรคคนธรรมดา เป็นต้น แต่สิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องคิดถึงในตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยกลับสู่สังคมได้ ขณะเดียวกันจะพยายามสร้างพรรคที่สัมพันธ์กับประชาชนได้อย่างไร ในส่วนความเปลี่ยนแปลงถ้ามองจากการถอดถอนคงไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมาสักเท่าไหร่ ยกเว้นหลังจากนี้จะมีปฏิบัติการจัดการกับพรรคเพื่อไทย หรือมีความพยายามไปดึงขั้ว ดึงกลุ่ม ในพรรคเพื่อไทยให้ไปร่วมกับพรรคอื่น หรือกดดันให้ไปร่วมกับพรรคการเมืองไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีขนาดเล็กลงได้ |
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 13:11 น. ข่าวสดออนไลน์
‘จาตุรนต์’ชี้วัตถุประสงค์ถอดถอน ‘ยิ่งลักษณ์’ ชัดเจน ต้องการกำจัดตระกูลชินวัตร!!
วันที่ 25 ม.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นการเมืองขณะนี้ว่า
ที่มากกว่าการถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์
ทั้งก่อนและหลังการถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีเสียงเรียกร้องจากแม่ทัพนายกองให้ยอมรับการถอดถอน แต่การถอดถอนนี้ขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิงมาตั้งแต่ต้น ใครที่รักความถูกต้องเป็นธรรมคงไม่อาจยอมรับได้
วัตถุประสงค์สำคัญที่ชัดเจนของการถอดถอนครั้งนี้คือ การกำจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นไปจากการเมืองและทำลายศักยภาพของพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีคนมองอีกมุมหนึ่งว่า กลับทำให้ฝ่ายที่ถูกทำลายล้างได้รับความเห็นใจและพรรคเพื่อไทยจะยิ่งชนะการเลือกตั้ง
แต่การเมืองไทยจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปอะไรง่ายๆอย่างนั้นเสียแล้ว
การถอดถอนครั้งนี้ เป็นผลจากการรัฐประหารและเป็นไปตามความมุ่งหมายของผู้ทำรัฐประหารและผู้ที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร
ไม่มีการรัฐประหารก็ไม่มีการถอดถอนแบบนี้
การถอดถอนครั้งนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตามที่คสช.ได้ให้เหตุผลว่า จำเป็นจะต้องเข้ายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และต่อมามักพูดถึงการปรองดองอยู่บ่อยๆนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง
เอาเข้าจริงมิใช่เช่นนั้นเลย
ที่สำคัญ กระบวนการต่อเนื่องของการรัฐประหารยังไม่จบแค่นี้
การถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จะต้องมีหลักประกันว่า เมื่อยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว อำนาจในการบริหารปกครองประเทศยังต้องอยู่ในมือของคนส่วนน้อยที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชน
หากติดตามการนำเสนอแนวความคิดของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจทั้งหลายตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารมาจนถึงช่วงนี้พอจะถอดรหัสได้ไม่ยากว่า การสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดย
1.กำจัดตระกูลชินวัตรออกจากการเมืองและลดศักยภาพของพรรคเพื่อไทย
2.ลดอำนาจและบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย
3.กำหนดให้คนนอกเป็นนายกฯได้
4.วุฒิสภาและองค์กรอิสระหรือองค์กรตรวจสอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถกำหนดที่มาและการดำรงอยู่ของรัฐบาลได้
5.นโยบายในการบริหารประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวถูกกำหนดไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญและแนวทางการปฏิรูปและวิสัยทัศน์ของประเทศ
6.มีกลไกที่คอยกำกับให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องทำตามสิ่งที่กำหนดไว้และป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
7.เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา7 เพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนรัฐบาลและแก้ไขกติกาได้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหารให้เหนื่อยแรง
นี่คือ โรดแม็ปของการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นและต้องการให้ดำรงอยู่ไปอีกนาน
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยประเทศ
ฉะนั้น ความคิดหรือความเชื่อที่ว่า ปล่อยให้พวกเขาทำไปเถอะ เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ดีเองนั้น ใช้ไม่ได้แน่แล้ว
แต่การสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ขัดแย้งและสวนทางกับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย และแตกต่างจากความคาดหวังของประชาชนที่มีประสบการณ์จากพัฒนาการทางการเมืองใน 10-20 กว่าปีมานี้อย่างมาก หากดำเนินต่อไป ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเกิดเป็นความขัดแย้งและความเสียหายอย่างมากสำหรับสังคมไทย
ผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปโดยไม่ติดหล่มแห่งความขัดแย้งจึงจำเป็นต้องช่วยกันระงับยับยั้งกระบวนการสร้างระบบการปกครองที่ล้าหลังและเป็นอันตรายอย่างยิ่งนี้
การถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่เพียงแต่เป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตย การปล้นอำนาจไปจากประชาชนแล้วไม่ยอมคืน และการสร้างระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการให้คงอยู่อย่างถาวร
ต้องช่วยกันแปรความไม่พอใจ ความอัดอั้นตันใจที่เกิดจากการถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นความเข้าใจต่อความเลวร้ายและหายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราและช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไขเท่าที่จะทำได้
ผมไม่ได้กำลังเสนอให้ใครไปชุมนุมหรือเดินขบวนที่ไหนแต่เสียงของประชาชนก็ยังมีความหมายเสมอ และหากประชาชนเห็น ปัญหาร่วมกันมากขึ้นๆ เสียงของประชาชนก็ย่อมมีพลังพอที่จะช่วยกันหยุดยั้งหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้
เห็นผู้ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศเขาบอกว่ายินดีรับฟังความเห็นประชาชนไม่ใช่หรือ ?
๒๕ มกราคม ๒๕๕๘
ผล'ถอดถอน'
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558 บทนำมติชน
การลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีจำนำข้าว สะท้อนภาพการจัดตั้งเตรียมการอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดคิวให้มีการชี้มูลคดีระบายข้าวในต้นสัปดาห์ การสั่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอัยการสูงสุด 1 ชั่วโมงก่อนลงมติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเกมการเมืองในระดับสูงที่ทำให้แนวคิดปรองดองหมดน้ำหนักไป คะแนนเสียงถอดถอนอย่างท่วมท้น 190:18 ของ สนช. จึงเป็นสัญญาณเตือนทางการเมืองที่น่าจะต้องพิจารณา
ก่อนหน้าการถอดถอน มีแรงกดดันต่อ คสช.ในการดำเนินนโยบาย โดยเตือนว่า หากไม่ใช้อำนาจเด็ดขาดในนามของการ "ปฏิรูป" อาจทำให้การปฏิวัติ "เสียของ" เหมือนปี 2549 ที่เครือข่ายทักษิณคืนชีพมาใหม่ ขณะที่มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ คสช.ปฏิรูปด้วยการใช้นโยบายความยุติธรรม ความเป็นธรรมที่มีมาตรฐานเดียวและเสมอภาคสร้างความปรองดอง เพื่อให้ความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม การลงมติถอดถอนในวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ให้คำตอบแล้วว่า คสช.ได้เลือกแนวทางไหนในการดำเนินนโยบายทางการเมือง
แน่นอนว่าการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำให้ฝ่ายที่ชิงชัง "ระบอบทักษิณ" เกิดความยินดี หลังจากได้ออกมาประท้วงรัฐบาล ชัตดาวน์กรุงเทพฯในปี 2556-2557 แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายที่สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงผู้รักความเป็นธรรมทั่วไปย่อมรู้สึกแค้นเคือง เพราะเห็นว่ากรณีนี้ตัดสินด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการกวาดล้างอีกฝ่าย หลังจากที่ใช้การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากราชการบางส่วน กลายเป็นสภาพที่ตอกย้ำความแตกร้าวระหว่างคนในสังคมอีกครั้ง
หากพิจารณาเสียงวิจารณ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งข้อมูลและแสดงความเห็นโดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือเกรงใจ จะพบว่าเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซีระบุว่า การถอดถอนไม่เกี่ยวทั้งการคอร์รัปชั่นหรือหลักแห่งกฎหมาย แต่เป็นการบรรลุเป้าหมายของฝ่ายที่ต้องการให้ชินวัตรพ้นจากการเมือง นิตยสารไทม์ของสหรัฐชี้ว่า จะส่งผลให้ความแตกแยกรุนแรงเพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนชนบทกับกลุ่มคนชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกระทบทางลบ ภาระหนักจึงตกเป็นของรัฐบาล คสช.ว่าจะลดผลกระทบนี้อย่างไร