ภาพ ทางการเมือง จาก สัมปทาน ปิโตรเลียม ภาพ 'พวกเดียวกัน'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 18 January 2015 09:19
- Published: Sunday, 18 January 2015 09:19
- Hits: 4008
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ภาพ ทางการเมือง จาก สัมปทาน ปิโตรเลียม ภาพ 'พวกเดียวกัน'
มติในที่ประชุมสปช. 130 ต่อ 79 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 สะท้อนลักษณะทางการเมืองอย่างแน่นอน
ประเด็นคือ เป็นการเมืองแบบไหน
เหมือนกับเป็นการเมืองเรื่อง “พลังงาน” อันเห็นต่างระหว่าง 2 กลุ่ม 2 แนวทางใหญ่ นั่นก็คือ ระหว่างกลุ่ม นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับ กลุ่ม น.ส.รสนา โตสิตระกูล
อาจใช่ แต่มีอะไรมากยิ่งกว่านั้น
แม้กล่าวในด้านกระแสหลักกลุ่ม นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จะอยู่ในฐานะครอบงำ ผ่านกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อนำโครงการเข้าศึกษาและพิจารณาในสปช.กลับแพ้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล
แสดงว่ากลุ่มของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กลับอยู่ในฐานะนำกำหนดทิศทาง “พลังงาน” ในที่ประชุมสปช.ได้
ตรงนี้ “สำคัญ” ตรงนี้ “แหลมคม”
...............
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าทั้ง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ทั้ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล ล้วนขึ้นเวทีกปปส. ล้วนเคยเป่านกหวีดมาแล้ว
สถานการณ์ตอนนั้นถือว่าเป็นพวกเดียวกัน
แต่ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.กลับเลือก นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แต่ก็มิได้ทอดทิ้ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล
ยังแต่งตั้ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็น “สปช.”
ความหวังลึกๆ ของคสช.ก็ประเมินว่า น.ส.รสนา โตสิตระกูล น่าจะเป็นกำลังหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงาน เป็นส่วนเสริมให้กับกระทรวงพลังงาน เป็นส่วนเสริมให้กับการทำงานของคสช.และรัฐบาล
เป็นการทำงานผ่าน “สปช.” เป็นการทำงานผ่าน “การปฏิรูป”
...............
ปรากฏการณ์ 130 ต่อ 79 ภายในที่ประชุมสปช.จึงเป็นปรากฏการณ์อันสะท้อนให้เห็นว่าพันธมิตรในแนวร่วมของคสช.นั้นกว้างขวางใหญ่โต
ยุทธศาสตร์เป็นอย่างเดียวกันแน่นอน
นั่นก็คือ เป็นยุทธศาสตร์เดียวกันกับรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ได้แก่การโค่นล้มและขจัดอิทธิพลของ “ระบอบทักษิณ” ที่เคยครอบงำสังคมไทย
จึงจำเป็นต้อง “สามัคคี” อย่างกว้างขวาง
กระนั้น ภายในการขับเคลื่อนทำงาน เมื่อเดินมาถึงระยะทางหนึ่งพันธมิตรภายในแนวร่วมก็ย่อมเห็นต่างและออกมาแสดงพลังให้เห็น
ดังในกรณี 130 ต่อ 79 นั่นแล
..................
จากเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนมกราคม 2558 จะปรากฏความเห็นต่างมากยิ่งขึ้น
มิได้มาจากพรรคเพื่อไทย มิได้มาจากคนเสื้อแดง หากแต่เด่นชัดยิ่งว่ามาจาก “พวกเดียวกัน” อันเคยกอดคอร่วมสร้างกระแสให้เกิดรัฐประหารมากกว่า
ปมเงื่อนอยู่ที่คสช.และรัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไร
....................................................................................