ฟังกระแส'ปรองดอง'มองทิศทาง'การเมือง'จับตา ถอดถอน !
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 11 January 2015 21:41
- Published: Sunday, 11 January 2015 21:41
- Hits: 3078
ฟังกระแส'ปรองดอง'มองทิศทาง'การเมือง'จับตา ถอดถอน !
วิเคราะห์
กระบวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กับ นายนิคม ไพรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม
กระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม
นายสมศักดิ์ และ นายนิคม ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจควบคุมการประชุมรัฐสภาในระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมยับยั้งนโยบายจำนำข้าว จนทำให้มีการทุจริตและเกิดความเสียหายต่อรัฐ
ทั้งกรณีของ 2 อดีตประธานสภา และกรณีของ น.ส.
ยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ถอดถอน
กระบวนการถอดถอนเริ่มจากการแถลงเปิดคดี โดยมีผู้ถูกร้องให้ถอดถอนแถลงค้าน จากนั้นคณะกรรมาธิการ สนช.ที่ทำหน้าที่ซักถามจะรวบรวมคำถามของ สนช. และดำเนินการซักถามภายในเวลา 7 วัน จากนั้น สนช.จะนัดโหวต โดยต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ สนช. หรือจำนวน 132 เสียงถึงจะถอดถอนได้
นายนิคม คาดว่า สนช.น่าจะลงมติวาระถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์วันที่ 22-23 มกราคม
ส่วนการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะโหวตกันหลังจากนั้น แต่ไม่น่าเกินปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์
เท่ากับว่าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ จะได้เห็นแนวโน้มการเมืองไทย
ทั้งนี้ เพราะการถอดถอนทั้ง นายสมศักดิ์ นายนิคม และถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผลพวงความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557
เป็นความขัดแย้งที่ฝ่ายหนึ่งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่อีกฝ่ายหนึ่งเกรงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เกรงกันถึงขนาดว่าจะกระทบต่อโทษที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกศาลตัดสิน
เช่นเดียวกับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ผลักดันนโยบายจำนำข้าว กระทั่งฝ่ายตรงกันข้ามหยิบยกขึ้นมาเพื่อปลดนายกฯ และผลักให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากสนามการเมือง
หากแต่เมื่อการเมืองผ่านวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจโดยอ้างว่า ต้องการยับยั้งความขัดแย้ง และผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองไทยน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนจากความขัดแย้งกลับคืนสู่ความปรองดอง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยังชี้่แนวโน้มการเมืองไทยไม่ชัดว่า จะก้าวข้ามความขัดแย้ง แล้วนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งได้หรือไม่
ความเคลื่อนไหวเรื่องถอดถอน นายสมศักดิ์ นายนิคม และถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นมาตรวัดแรกของปี 2558 ที่พอจะสัมผัสได้ และเท่าที่สดับฟังรอบทิศ พบว่ากระแสการโหวตถอดถอนอดีตประธาน และอดีตนายกรัฐมนตรี นั้นแผ่วลง
ประการแรก แผ่วลงเพราะเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การถอดถอนยังไม่เพียงพอ เนื่องจากทั้ง นายสมศักดิ์ นายนิคม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่บัดนี้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่มีแล้ว ขณะเดียวกันทั้ง นายสมศักดิ์ นายนิคม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงมีปัญหาว่าจะยังถอดถอนได้อีกหรือไม่
ประการที่สอง แผ่วลงเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีภารกิจที่ใช้เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ คือ การสร้างสันติสุขให้กลับคืนสู่ประเทศไทย
ภารกิจดังกล่าวจะทำสำเร็จก็ต่อเมื่อระงับข้อพิพาทที่สมควรระงับ ส่วนข้อพิพาทใดที่ไม่อาจระงับ ต้องส่งองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือเช่นศาลเป็นผู้ตัดสิน และ คสช.หรือองค์กรที่ คสช.ตั้งขึ้นไม่ควรเพิ่มข้อพิพาทใดให้เกิดเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต
กรณีถอดถอนทั้ง 2 อดีตประธาน และถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี จึงสมควรจะอยู่ในข้อพิพาทที่สมควรระงับ
ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาการทุจริต น่าจะส่งกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีคดีจำนำข้าวที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม
และมีคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวกรณี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกถูกกล่าวหาค้างคาอยู่ที่ ป.ป.ช. ซึ่งหากมีผลสรุปประการใด ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้แต่งตั้งขึ้นโดย คสช.
ประการที่สาม แผ่วลงเพราะเริ่มมีผู้ปลุกกระแสปรองดองขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าไม่แพ้ใครในเวทีโลก
กระแสดังกล่าวเริ่มดังมาจากแม่น้ำ 5 สาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี และ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ เองด้วย
ประการที่สี่ แผ่วลงเพราะมี สนช.จำนวนหนึ่งรู้สึกต่อคำถาม "ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขรัฐธรรมนูญผิด สนช.มาจากการฉีกรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ผิด"
คำถามดังกล่าวสะกิดให้ฉุกคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดหรือ? การนำนโยบายของรัฐบาลไปทำตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนผิดหรือ?
ด้วยเหตุทั้ง 4 ประการจึงทำให้เกิดการคาดหมายว่า นายสมศักดิ์ นายนิคม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรอดพ้นจากการถอดถอนในครั้งนี้
หากเป็นเช่นคาดการณ์ แสดงว่าการเมืองกำลังปรับตัวไปในทางบวก คือพึ่งพิงกระบวนการปกติที่ยังเหลืออยู่คือศาลสถิตยุติธรรมได้
แต่หากองค์กรที่เกิดจากกระบวนการไม่ปกติ ใช้อำนาจลงโทษทางการเมือง แสดงว่าการเมืองยังอยู่ในวนเวียนอยู่ที่เดิม
เวียนวนอยู่ที่การล้างบาง !...