นับแต่มาตรการ "ชัตดาวน์" ปรากฏขึ้นจาก กปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำ "รัฐประหาร"
มีความเห็น "ต่าง" ปรากฏขึ้นมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง "เงียบ" โดย บ.ก.ลายจุด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง "ต่อหน้า" ด้วยการ
"ชู 3 นิ้ว" โดยนักศึกษา "กลุ่มดาวดิน"
ไม่ว่าจะเป็นความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในการ "จัดเสวนา" เพรียกหาประชาธิปไตยโดย "นักวิชาการ"
กระนั้น ก็ยังมี "จุดร่วม" ภายในกลุ่มอันเห็น "ต่าง"
เป็นจุดร่วมที่เห็นพ้องต้องกันในภาวะเสื่อมทรุดอย่างต่อเนื่องของสถานการณ์ในทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นระดับ "เจ้าสัว" ไม่ว่าจะเป็นระดับ "รากหญ้า"
ไม่ว่าจะเป็นระดับ "นายธนาคาร" ไม่ว่าจะเป็นระดับ "โรงจำนำ"
ไม่ว่าจะเป็น "ผู้ส่งออก" ไม่ว่าจะเป็น "ผู้นำเข้า"
ความเสื่อมทรุดในปี 2557 เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ขณะเดียวกัน ก็มองมายังเศรษฐกิจปี 2558 ด้วยความใจหาย ใจคว่ำ
เพียงเดือนมกราคม 2558 ก็เริ่มเห็น "อาการ"
นอกเหนือจากการออกมายอมรับของบุคคลระดับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างอ่อนอกอ่อนใจว่า
"เป็นช่วงเวลาที่ลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี"
บุคคลระดับ นายธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี ซึ่งมองโลกในแง่ดีมาโดยตลอดยังถึงกับต้องคราง
เห็นชอบด้วยกับมาตรการ "แจกเงิน" ชาวบ้าน
บุคคลระดับ นายบุญชัย โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ซึ่งผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคให้กับคนระดับรากหญ้าถึงกับลดเป้ารายได้ลง
เพราะแม้แต่ "มาม่า" ยอดขายยัง "ตก"
ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร
โลก ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
ล้วนประกาศ "ลด" ประมาณการ "ลง"
ทั้งหมดนี้ เป็นฐานข้อมูลอันแนบแน่นอยู่กับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ รับรู้ความรู้สึกของชาวบ้านซึ่งเป็นลูกค้า เป็น
ผู้บริโภคเป็นอย่างดี ในฐานะเป็นผู้ประกอบการ ในฐานะเป็นนายธนาคาร
สัมพันธ์โดยตรงกับ "เรียลเซ็กเตอร์" หรือ "เศรษฐกิจจริง"
ตามความเป็นจริง ภาวะถดถอย ชะลอตัวในทางเศรษฐกิจเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศ หากแต่เป็นเรื่องของโลก เป็นไปในระดับทั่วโลก
ยุโรปก็เป็น ญี่ปุ่นก็เป็น จีนก็เป็น
ถามว่า แล้วเหตุใดความวิตก ความกังวล ความไม่มั่นใจและไม่แน่ใจจึงสัมผัสได้เป็นอย่างมากในหมู่คนไทย
หรือเพราะว่าเราล้วนเป็น "คนไทย"
ถูกต้องอย่างยิ่ง ถูกต้องอย่างที่สุด ในเมื่อเราเป็นคนไทย อาศัยอยู่ในประเทศไทย เราย่อมรับรู้ความเป็นจริงของเศรษฐกิจในบ้านของเราได้อย่างถ่องแท้
แต่ยังมีอีก "ปัจจัย" ที่ "แหลมคม" และน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า
นั่นก็คือ บทบาทของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของ "ทีมเศรษฐกิจ" อันดำรงอยู่ภายในรัฐบาล
สร้างความมั่นใจให้ได้มากน้อยเพียงใด
เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวมีแนวทางที่ยอดเยี่ยมในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาได้หรือไม่ เจ้ากระทรวงพาณิชย์มีแนวทางในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกมาได้หรือไม่ เจ้ากระทรวงการคลังเป็นหลักประกันในเรื่องไม่รีดเลือดจากปูซึ่งกำลังแห้งเหือดอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง
ตรงนี้ต่างหากที่ "ขาดหาย"
สอนกันมานานแล้ว ในยามยากย่อมพิสูจน์ "มิตรแท้" จะทำให้ "ชาวบ้าน" รับรู้และ "มั่นใจ"
ถามว่าชาวบ้านมีความมั่นใจต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เพียงใด ถามว่าชาวบ้านมีความมั่นใจต่อ นายสมหมาย ภาษี เพียงใด มั่นใจต่อ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เพียงใด
คำถามนี้จำเป็นต้องมี "คำตอบ"