WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ล่มเรือแป๊ะ

วันที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 15:51 น.  ข่าวสดออนไลน์       

ล่มเรือแป๊ะ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มามติชนรายวัน

      หลายคนเชื่อว่ารัฐประหารซ้อนเท่านั้นที่จะสามารถล่มเรือแป๊ะได้ รวมทั้งแป๊ะและบริวารอีกหลายคนก็มองภยันตรายต่อเรือของตนเองว่า มีอยู่ทางเดียวคือรัฐประหารซ้อนโดยกองทัพ... ก็ไม่แปลกอะไร ทั้งแป๊ะและบริวารล้วนเป็นทหาร และไม่ยอมเป็นอย่างอื่นอีกเลยนอกจากทหารจนบัดนี้ จึงมองภัยได้จากมุมเดียวคือการยุทธ์

     รัฐประหารซ้อนหมายความว่า ระหว่างที่รัฏฐาธิปัตย์ถูกยึดไปโดยคนกลุ่มหนึ่งด้วยกำลัง (ในเมืองไทย กำลังที่เคยทำอย่างนั้นมาล้วนเป็นกองทัพทั้งสิ้น) ก็มีอีกกำลังหนึ่ง (อีกส่วนหนึ่งของกองทัพอีกนั่นแหละ) เข้ามาล้มล้างแย่งชิงรัฏฐาธิปัตย์จากกลุ่มเก่าไปเสีย

     การอภิวัตน์ใน 2475 ไม่ใช่การรัฐประหารซ้อน เพราะรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือของผู้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามประเพณีการปกครองในสมัยนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจึงไม่ใช่ระบอบรัฐประหาร เช่นเดียวกับการรัฐประหารของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ใช่รัฐประหารซ้อนของถนอม กิตติขจรใน 2514 ก็ไม่ใช่รัฐประหารซ้อนเสียทีเดียวนัก ของ รสช.รุ่นห้าใน 2534 ก็ไม่ใช่รัฐประหารซ้อน

    ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีรัฐประหารซ้อน (ตามความหมายอย่างเคร่งครัดเช่นนี้) ประสบความสำเร็จเลย ยกเว้นครั้งเดียวคือการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหอยของสงัด ชะลออยู่ และเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่ทำไมจึงสำเร็จ จะพูดถึงข้างหน้า

     ถ้าถือว่า การเข้ายึดกุมอำนาจของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นการรัฐประหาร "กบฏบวรเดช" ก็เป็นรัฐประหารซ้อนครั้งแรก และก็ประสบความปราชัยย่อยยับลงในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกัน หากถือว่ารัฐบาลพิบูลสงครามในครึ่งแรกของทศวรรษ 2490 เป็นรัฐบาลรัฐประหาร "กบฏวังหลวง", "กบฏแมนฮัตตัน" และ"กบฏนายพัน" ก็อัปราชัยลงในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน แม้แต่ความพยายามจะทำรัฐประหารต่อรัฐบาลที่กองทัพหนุนหลังก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ

     เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้รัฐประหารซ้อนในเมืองไทยไม่เคยประสบความสำเร็จ ก็เพราะหลังกลุ่มพลังหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้รับการปลดปล่อยออกมาจากการครอบงำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน 24 มิ.ย. 2475 กลุ่มพลังที่มีกำลังสูงสุดคือกองทัพ (กองทัพเป็นหนึ่งในสถาบันสมัยใหม่เพียงไม่กี่สถาบันที่ได้สถาปนาขึ้นอย่างมั่นคงมาก่อนระบอบประชาธิปไตยไทย)

     ดังนั้น กองทัพจึงอยู่เบื้องหลังอำนาจทางการเมืองตลอดมา ทั้งเบื้องหน้าภายใต้ระบอบรัฐประหาร หรือเบื้องหลังภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (บางครั้งอยู่เบื้องหลังมากเสียจนดีดนิ้วทีเดียวก็ไล่หอยออกไปจากเปลือกได้ใน 2520) รัฐประหารซ้อนจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อกองทัพขาดเอกภาพ แต่มีน้อยครั้งมากที่กองทัพไทยจะขาดเอกภาพ (เช่นในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2490 ที่เกิด "กบฏวังหลวง" และ "กบฏแมนฮัตตัน" ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก)

    ทําไม ถึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าคงหาคำตอบได้จากประวัติศาสตร์อีกนั่นแหละ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพแห่งชาติล้วนถือกำเนิดมาจากกองกำลังในการทำสงครามกู้เอกราช ส่วนกองทัพที่เจ้าอาณานิคมสร้างไว้ (เช่น กองกำลังคริสเตียนชาวกะเหรี่ยงในพม่า, กองกำลังคริสเตียนชาวอัมบนในอินโดนีเซีย ฯลฯ) ล้วนถูกสลายลงเมื่อประชาชาติเหล่านี้ได้เอกราช ในขณะที่กองทัพไทยถือกำเนิดขึ้นร่วมสมัยกับกองทัพของเจ้าอาณานิคม ด้วยวิธีคิดคล้ายๆ กัน คือไม่ใช่เพื่อรบกับข้าศึกต่างแดน แต่เพื่อช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อำนาจส่วนกลาง จึงเป็นกองทัพ "อาณานิคม" เพียงแห่งเดียวของภูมิภาคนี้ที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน

     กองทัพแบบนี้ แตกต่างจากกองกำลังกู้เอกราช เพราะวางสายบังคับบัญชาอย่างเป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น ในขณะที่กองกำลังกู้เอกราชจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้บังคับบัญชาระดับท้องถิ่นมีอิสระในปฏิบัติการได้มาก หลัง 2475 กองทัพไทยสลัดการควบคุมของพระราชวงศ์ลงได้หมด แต่ก็รักษาการจัดองค์กรไว้ตามเดิม กลายเป็นสถาบันอิสระในตัวเอง ที่ไม่มีอำนาจอื่นเข้าไปตรวจสอบกำกับได้จริงในทางปฏิบัติ (เปรียบเทียบกับกองทัพเวียดนาม ซึ่งแม้กำเนิดเป็นกองกำลังกู้เอกราชเหมือนกัน แต่อยู่ภายใต้การกำกับของพรรคแรงงานเวียดนามหรือพรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ต้น)

    ดังนั้น หากผู้นำกองทัพสามารถรวบรวมนายทหารระดับนำทั้งหมดให้ทำรัฐประหารร่วมกันได้แล้ว จึงยากมากที่จะเกิดการรัฐประหารซ้อนจากหน่วยใดๆ ในกองทัพได้อีก ไล่ไปดูบทบาททางการเมืองของกองทัพในประเทศอื่นทั้งโลกสิครับ นับตั้งแต่ตุรกี, อียิปต์, มาจนถึงประเทศในละตินอเมริกา ผู้ทำรัฐประหารไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ทัพเสมอไป นายพันหลายต่อหลายคนคือผู้นำรัฐประหาร ยึดกุมอำนาจไว้ได้เป็นเวลานาน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นำการปฏิวัติอย่างถึงรากถึงโคนมาให้แก่ประเทศนั้นๆ กันอีกหลายประเทศ (แล้วจะดีแก่ประเทศนั้นหรือไม่ คงเถียงกันได้) แต่ไม่เคยมีปรากฏการณ์อย่างนั้นในเมืองไทยเลยสักครั้งเดียว

     แต่เอกภาพที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการต่อรองหรือความขัดแย้งในกองทัพเสียเลย โดยเฉพาะเมื่อกองทัพเลือกจะยึดอำนาจด้วยวิธีนอกกฎหมาย เพราะเป็นช่วงที่กองทัพต้องแสวงหาความชอบธรรมชนิดใหม่ จึงย่อมเป็นภาวะเปราะบางที่เปิดโอกาสให้ผู้คุมหน่วยกำลังสามารถต่อรองได้มากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เพราะความเป็นเอกภาพของการจัดองค์กร ทำให้แม่ทัพที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมีต้นทุนในการต่อรองได้สูงกว่ามาก เช่น หากไม่ไว้ใจลูกน้องใกล้ชิดคนใด ก็อาจเสนอแลกเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมืองแทนที่ตำแหน่งทางทหาร ลูกน้องยอมรับ เพราะอย่างไรเสียก็ดีกว่าต้องเสียทั้งหมด แม้แต่วางลูกน้องที่ไว้ใจได้ให้กำกับหน่วยกำลัง ก็ยังอาจต้องตั้งลูกน้องอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นในตำแหน่งที่คานอำนาจกันเองด้วย

    แม้กระนั้น หากเราดูกองทัพในฐานะสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่ามีเอกภาพยิ่งกว่าสถาบันทางการเมืองทุกชนิดอยู่นั่นเอง เช่น เอาไปเปรียบกับพรรคการเมืองหรือสถาบันอุดมศึกษา, องค์กรราชการพลเรือนทั้งหมด, องค์กรตุลาการ หรือแม้แต่ในกลุ่มชนชั้นนำทั้งหมด ทั้งทางประเพณี (เช่น คณะสงฆ์ เป็นต้น) และทางเศรษฐกิจ

     อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีรัฐประหารซ้อนที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทยเสียเลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ในระยะประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา อำนาจรัฐประหารถูกโค่นล้มลงหลายครั้งหลายหนอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา หรือโดยอาศัยแรงกดดันจนต้องยอมยุติสภาวะรัฐประหารลงอย่างรวดเร็ว เพราะถูกรัฐประหารซ้อน แต่รัฐประหารซ้อนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้มาจากหน่วยกำลังใดในกองทัพลุกขึ้นมาโค่นล้มอำนาจรัฐประหารโดยตรง ตรงกันข้ามกองทัพทำรัฐประหารโดยการนั่งเอาก้นแปะกาวไว้ ไม่ลุกขึ้นไปช่วยนายมากกว่า

    ผมควรกล่าวนอกเรื่องไว้ด้วยว่า การนั่งเอาก้นแปะกาวนี้เป็นความเสี่ยงในอาชีพทหารพอสมควร เพราะหากนายสามารถปราบศัตรูที่จะล้มอำนาจรัฐประหารของตนได้ ก็อย่านึกเป็นอันขาดว่ากาวที่แปะไว้นั้นจะเหนียวพอให้นั่งอยู่ในเก้าอี้ตัวเดิมต่อไปได้ ดังนั้นการที่นายทหารซึ่งคุมกองกำลังจะนั่งเก้าอี้แปะกาวในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงไม่ใช่การตัดสินใจเฉพาะหน้า แต่ต้องมีการติดต่อจาก "อำนาจ" อีกหลายกลุ่ม รวมทั้งติดต่อประสานกันเองไว้ล่วงหน้าพอสมควรแล้ว

    รัฐประหารซ้อนที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกในรอบ 50 ปีมานี้คือ 14 ตุลา นอกจากนักศึกษาแล้ว มีร่องรอยอยู่มากที่ชี้ให้เห็นว่ายังมีกลุ่มพลังอื่นๆ อีกมากที่ร่วมกันโค่นล้มเผด็จการถนอม-ประภาส ในกลุ่มพลังเหล่านี้มีบางส่วนของกองทัพร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ผมเชื่อว่ามี เพราะทหารที่ออกมาปราบปรามประชาชนในท้องถนนนั้น เป็นเพียงบางหน่วยของกองทัพเท่านั้น ในขณะที่ทหารส่วนใหญ่นั่งเอากาวแปะก้นไว้ โดยเฉพาะทหารในสายของพลเอก กฤษณ์ สีห์วรา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

  เช่นเดียวกับการล้มเผด็จการ รสช. แม้ดูเหมือนกระฎุมพีเมืองเป็นหัวหอกสำคัญ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย บางส่วนก็ช่วยให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น โดยใช้ชายฉกรรจ์ (ซึ่งอาจเป็นนอกเครื่องแบบ) ช่วยป่วนในครั้งนั้น ก็น่าจะมีหน่วยกำลังบางหน่วยที่ระดมกำลังไว้ในค่ายเพื่อทำท่าเตรียมพร้อม แต่ก็เป็นการเตรียมพร้อมที่จะนั่งอยู่เฉยๆ

    แรงกดดันของประชาชน (ทั้งเสื้อแดงและไม่มีสี) ทั่วประเทศหลังรัฐประหาร คมช. ทำให้คณะรัฐประหารมองเห็นชัดว่าไม่สามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้แน่ จึงเร่งกระบวนการคืนประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ฝากความหวังที่จะสกัดกั้นพรรค ทรท.ไว้กับองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่และศาลรัฐธรรมนูญ จะนับว่าเป็นรัฐประหารซ้อนก็ได้ เพราะความเคลื่อนไหวทั้งหมดนำไปสู่การล้มอำนาจรัฐประหารเหมือนกัน

  ที่น่าสนใจก็อยู่ตรงที่ว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา การรัฐประหารมักจบลงที่การรัฐประหารซ้อน แต่เป็นการรัฐประหารซ้อนของประชาชน ไม่ใช่รัฐประหารซ้อนของหน่วยในกองทัพ

    และหากเชื่อว่าประวัติศาสตร์อาจให้บทเรียนบางอย่าง การรัฐประหารที่สามารถครองอำนาจได้ยืนยาวในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ก็คือการทำให้รัฐประหารคลายสภาพรัฐประหารลง กลับคืนสู่ภาวะ "ปรกติ" ให้เร็วที่สุด แม้ยังรักษาอำนาจกองทัพไว้ทะมึนเหนือการเมือง "ปรกติ" ก็ตาม รัฐประหารซ้อนใน พ.ศ.2520 เป็นตัวอย่างอันดี จากธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 2520 ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2521 อย่างรวดเร็ว ซ้ำเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่ทุกฝ่ายที่มี "กำลัง" อยู่ในบ้านเมืองด้วย แต่เปิดให้ตามสัดส่วนแห่งอำนาจที่มีอยู่จริง แม้กระนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ติดต่อกันมาได้ถึง 12 ปีกว่า

     กองทัพจะป้องกันการรัฐประหารซ้อนของประชาชนได้อย่างไร จนถึงบัดนี้ยังไม่มีคำตอบ ที่ร้ายไปกว่าไม่มีคำตอบก็คือ คำถามได้แปลงไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้น ฉะนั้นแม้แต่วิธีที่คิดว่าเป็นคำตอบก็อาจเป็นคำตอบที่ผิดได้

   หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา คนกลุ่มใหม่ที่สามารถทำรัฐประหารซ้อนได้สำเร็จมาทุกครั้งก็คือกระฎุมพีเมือง ด้วยเหตุดังนั้น รัฐประหารในรอบ 50 ปีนี้จึงเลือกที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของ "ประชาชน" ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเสรีภาพชนิดที่กระทบความรู้สึกของกระฎุมพีเมืองมาก รสช.ประกาศตรวจข่าวหนังสือพิมพ์วันเดียว แล้วก็รีบถอนคำสั่งนั้นเป็นการขอความร่วมมือแทน เป็นต้น เพื่อจะทำให้กระฎุมพีเมืองไม่ขุ่นเคืองการรัฐประหาร จึงต้องให้สิทธิเสรีภาพไว้ในระดับสูง อันเป็นผลให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับสิทธิเสรีภาพนั้นไปด้วย

    กระฎุมพีเมืองสามารถแสดงบทบาทเป็นตัวแทน "ประชาชน" ได้ทั้งหมดเสมอมา แต่การรัฐประหารของ คมช.ใน 2549 ทำให้กระฎุมพีเมืองต้องแยกทางกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฐานะเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กระฎุมพีเมืองไม่สามารถเป็นตัวแทนของ "ประชาชน" ได้อีกแล้ว ทำให้รัฐประหาร คสช.ต้องเพ่งไปที่ประชาชนกลุ่มใหม่นี้มากกว่ากระฎุมพีเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ยังแสดงความสนับสนุนการรัฐประหารอย่างคึกคักอยู่

    และนี่คือเหตุผลที่รัฐประหาร คสช.เลือกจะใช้วิธีจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างขึงตึงกว่าการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาใน 50 ปีนี้ (อาจยกเว้นรัฐบาลหอย ซึ่งก็เห็นกันว่าจะครองอำนาจอยู่ต่อไปไม่ได้นาน) ยุทธวิธีทางทหารที่กระทำกับ "ข้าศึก" ถูกนำมาใช้แทบจะครบถ้วนกระบวนความกับประชาชนกลุ่มนี้ แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ การจำกัดหรือแม้แต่การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มนี้ย่อมกระทบต่อกระฎุมพีด้วย และเป็นผลให้กระฎุมพีส่วนหนึ่งรับการรัฐประหารนี้ไม่ได้

    ที่น่าสังเกตก็คือ กระฎุมพีส่วนที่รับไม่ได้นั้นเป็นกลุ่มที่พอจะมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เอ็นจีโอ, นักศึกษามหาวิทยาลัย, นักวิชาการ, ปัญญาชนของนักธุรกิจ, กลุ่มวิชาชีพบางกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ฯลฯ ส่วนกระฎุมพีเมืองที่ได้แต่ห้อยนกหวีด เมื่อ คสช.สะกัดสุเทพและสนธิไว้ได้แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญญาเคลื่อนไหวอะไรได้อีก ฉะนั้นพวกนี้จะพอใจหรือไม่พอใจ คสช.ก็ไม่เป็นปัญหา

     ผมคิดว่า นี่คือ สถานการณ์ที่แท้จริงของการล่มเรือแป๊ะในเวลานี้ คำถามที่ยังตอบไม่ได้หรือไม่อยากตอบในเวลานี้ก็คือ กระฎุมพีระดับล่างซึ่งต่อต้านการรัฐประหาร บวกกับกระฎุมพีเมืองบางส่วนจะเป็นคลื่นที่แรงพอล่มเรือแป๊ะหรือไม่ ถ้าก่อให้เกิดคลื่นที่แรงพอได้ แป๊ะจะตอบโต้อย่างไร หากตอบโต้ไม่ถูกวิธี ส่วนหนึ่งของกองทัพก็จะเอากาวแปะก้นไว้ให้แน่น ถึงตอนนั้นเรือแป๊ะก็จะล่มแน่นอน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!