WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'สุรชาติ บำรุงสุข'มองกองทัพ-การเมืองปี 58 ฝ่าวิกฤตแม่น้ำ 5 สาย

'สุรชาติ บำรุงสุข'มองกองทัพ-การเมืองปี"58 ฝ่าวิกฤตแม่น้ำ 5 สาย

มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

            หมายเหตุ - นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ในประเด็นบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทยในปี 2558

 

- ประเมินบทบาทกองทัพในปีหน้าว่าจะมีบทบาทต่อการเมืองไทยมาน้อยแค่ไหน

     ตรงนี้คงมีระยะเวลาขยายอีกช่วงหนึ่ง การประเมินหรือการตอบคำถามไม่ง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจริงๆ จะไปเริ่มโผจะเริ่มเห็นชัดประมาณเดือนเมษายน เพราะ ผบ.ทบ.คนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม เพราะฉะนั้นเราพูดกันในขณะนี้ ขณะที่ปีใหม่ยังไม่เริ่มจริงๆ คำถามนี้มีระยะเวลาที่ทอดช่วงจนคิดว่าไม่ง่ายที่จะตอบ เป็นแต่เพียงว่าในระยะข้างหน้านี้ ถ้าตอบปัญหาทหารอีกมุมหนึ่งก็จะพบว่า ปีหน้ากองทัพจะเผชิญกับความท้าทาย ผมคิดว่ากองทัพที่ตัดสินใจทำรัฐประหารแล้วเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทุกกองทัพต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายไม่แตกต่างกัน เราต้องยอมรับว่าในอดีตเราเห็นตัวแบบในหลายประเทศ ความท้ายคือ เมื่อทหารทำหน้าที่ทางการเมืองด้วย เท่ากับบอกว่าผู้นำทหารนั้นสวมหมวก 2 ใบ หมวกในฐานะทหารและในฐานะนักการเมือง ดังนั้นด้วยหลายอย่างอาจจะต้องยอมรับว่าอาจจะต้องเผชิญกับความขัดแย้ง หรือในขณะเดียวกัน การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของทหารต้องคิดอีกมุมหนึ่งคือ การพาสถาบันกองทัพเข้าสู่เวทีการเมือง ในประเด็นนี้ผมคิดว่าไม่ค่อยมีคนพูดในบ้านเมืองเรา เพราะเวลาที่เราพูดถึงทหารกับการเมืองไทยนั้น สังคมไทยมักจะวางน้ำหนักไว้กับตัวบุคคล พล.อ.คนโน้น พล.อ.คนนี้ อะไรอย่างนั้นเป็นต้น แต่เราไม่ค่อยมองบริบทที่ว่า เมื่อกองทัพเข้าสู่การเมือง นัยยะคือสถาบันกองทัพทั้งตัวเข้าสู่การเมืองด้วย เพราะฉะนั้น ความท้าทายที่เกิดขึ้นมันถึงเกิดทั้งบริบทความเป็นสถาบันกองทัพ ความเป็นผู้นำในระดับสูง รวมถึงทหารภายในกองทัพเองที่ต้องเผชิญ ถ้าคิดอย่างนี้ โจทย์ปีหน้าของกองทัพจะกลายเป็นโจทย์การเมืองส่วนหนึ่ง เป็นโจทย์ของทหารเองส่วนหนึ่ง

       สำหรับโจทย์การเมืองปีหน้าคงยุ่ง 1.ปีหน้าที่เราเห็นชัดเจนคือ การเมืองไทยจนถึงวันนี้มีวิกฤตแน่ๆ วิกฤตส่วนหนึ่งเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้ยังไม่ชัดว่ารัฐธรรมนูญที่จะออกมานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยหลายฝ่ายก็กลัวว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนในช่วงหลังยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ยึดอำนาจ คือเป็นรัฐธรรมนูญที่วางรากฐานประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยหวังว่าจะเปิดช่องให้กองทัพหรือกลุ่มผู้มีอำนาจเข้ามาควบคุมการเมือง ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะอย่างนั้น ผมคิดว่าปีหน้าเราจะเห็นวิกฤตชุดหนึ่งคือ วิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นวิกฤตการเมืองในตัวของมันเอง

       2.ผมคิดว่า ถ้าปีหน้ายังเดินแบบนี้ รัฐบาลจะเผชิญกับวิกฤตด้วยความเป็นรัฐบาลทหาร วันนี้เราอาจจะพูดว่ารัฐบาลทหารได้รับการยอมรับอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราถอยกลับไปดูตั้งแต่หลังรัฐประหารที่ไม่ใช่แค่รอบนี้ แต่ตั้งแต่ปี 49 เราเห็นอย่างหนึ่งที่ชัดคือ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่ในเวทีโลก ดังนั้น ปีหน้าแรงกดดันจะเกิดทั้งตัวที่เป็นรัฐบาลทหารของไทย และแรงกดดันจากการเลือกตั้งของพม่า เพราะจะหมายความว่า พม่าจะเลือกตั้งก่อนประเทศไทย นี่จะกลายเป็นแรงกดดันของไทยไปโดยปริยาย แม้เราจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นในมุมอย่างนี้ เมื่อเราดูคู่ไปกับวิกฤตรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นวิกฤตที่รัฐบาลนี้ต้องเผชิญ

      3.ผมว่าเราจะเห็นวิกฤตในกองทัพแน่ๆ ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย ที่เราเรียกว่าการโยกย้ายเล็กหรือการโยกย้ายในเดือนเมษายน แม้ว่าการโยกย้ายรอบนี้จะไม่มีอะไรสำคัญแต่ก็จะส่งสัญญาณอะไร แต่การโยกย้ายที่จะเกิดหลังจากที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. เกษียณในปี 58 ซึ่งการขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในปีหน้าจะถูกจับตามองอย่างมากว่าจะเป็นใคร หรือจะเป็นบุคคลที่มาจากสายไหน เป็นต้น ดังนั้น กองทัพจะเผชิญกับการเมืองที่กองทัพเข้าไปมีบทบาทเอง ซึ่งที่เราได้พูดกันไปแล้วว่า กองทัพจะทำอะไรในสภาพการเมืองที่เป็นแบบนี้ โจทย์ของการเมืองไม่ง่าย เมื่อกองทัพตัดสินใจสวมหมวก 2 ใบอย่างนี้ เท่ากับกองทัพกำลังแบกรับภารกิจของทั้งการเมืองและการทหารคู่กัน จึงจะเป็นปัญหาในตัวเองพอสมควร

     4.วิกฤตเศรษฐกิจ ไตรมาสสุดท้ายของปี 57 ส่งสัญญาณหลายอย่าง ผมกลัวว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะเป็นเศรษฐกิจในปี "แพะดุ" ไม่อยากจะบอกว่าเป็น "แพะอาละวาด" แต่เราเห็นสัญญาณหลายอย่าง ทั้งราคาสินค้าเกษตร สินค้าส่งออกของไทย ทั้งการท่องเที่ยว ฯลฯ ที่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ปีหน้าเราอาจจะเห็นสัฐญญาณบวกตัวเดียว คือราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจผมคิดว่าปีหน้ายังเป็นปีที่น่ากังวล ทั้งเศรษฐกิจโลกปีหน้าก็ไม่ไดเห็นสัญญาณบวกเท่าไหร่

       5.วิกฤตของบรรดาชนชั้นนำ หรือวิกฤตของชนชั้นกลางไทยที่มีความหวังอยู่ตลอดเวลา โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้ง ชนชั้นนำพยายามขับเคลื่อนการเมืองในรูปแบบเก่า ความโชคดีของชนชั้นนำไทยถูกผสมผสานกับการเปลี่ยนจุดยืนของชนชั้นกลางไทย ที่นับวันยิ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ชนชั้นนำไทยอาจจะรู้สึกว่าเขาได้ฐานรองรับจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในปีกของชนชั้นกลาง ที่น่าสนใจคือ ยิ่งนานวันชนชั้นกลางไทยยิ่งทวีความเป็นอนุรักษ์มากขึ้น โดยหวังว่าความอนุรักษ์ที่ผสมผสานระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นนำ ซึ่งอาจจะรวมผู้นำทหารอีกส่วนหนึ่งนั้นจะเคลื่อนการเมืองไปสู่ช่วงเวลาเก่าๆ หรือที่เราพูดกันว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม มีความหวังอย่างเดียวคือ หวังที่จะหมุนเข็มนาฬิกากลับ แต่ของจริงคือนาฬิกามันไม่เคยเดินย้อนเวลา ดังนั้น วิกฤตทั้ง 5 ส่วน ถ้าเปรียบเทียบก็คือปีหน้าเราจะมีวิกฤตจากแม่น้ำ 5 สาย และเป็นแม่น้ำที่มีโอกาสจะเกิดอุทกภัย หรือหนักที่สุดอาจจะขยายตัวเป็นมหาอุทกภัยได้

    ถ้าดูอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าการเมืองในปี 58 นั้นเป็นการเมืองที่น่าติดตาม อีกส่วนหนึ่งที่เราละเลยไม่ได้คือ ปี 58 จะเป็นปีสุดท้ายของการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อเราดูภาพรวมของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะเห็นส่วนหนึ่งคือวันนี้การเมืองในภูมิภาคเรา เป็นการเมืองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของอำนาจนิยม หรือไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบที่มีรัฐบาลทหารเป็นผู้ปกครอง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มากกว่าการเป็นประชาคมอาเซียนที่เราจะเห็นในปี 58 นั่นคือการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของจีนในภูมิภาคของเรา โจทย์พวกนี้อาจเหมือนเป็นโจทย์ระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการเมืองไทยเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าในระยะหลังการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ไม่สามารถตัดขาดออกจากการเมืองในภูมิภาค ที่เห็นบทบาทของรัฐมหาอำนาจเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

     เพราะฉะนั้น ความหวังของคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า ถ้าทำรัฐประหาร ประเทศตะวันตกไม่ยอมรับเรา เราจะหันไปหาจีน ผมคิดว่านั่นคือตัวแบบของพม่าในอดีต หากคิดอย่างนี้ในตัวแบบของไทย ผมว่าไม่ใช่คำตอบ เพราะพม่าพยายามจะพาตัวออกจากรูปแบบของรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือการเมืองไทยในปี 58 อาจจะต้องคิดถึงเรื่องการจัดความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจมากยิ่งขึ้น ผมไม่เคยเชื่อทฤษฎีที่ว่าจะต้องยืนอยู่กับสหรัฐทั้งหมดหรือกับจีนทั้งหมดเป็นคำตอบที่ดีสำหรัฐรัฐบาลไทย แต่หลังจากการรัฐประหาร แนวโน้มหรือความพยายามของคนบางส่วนที่เมื่อตะวันตกไม่ยอมรับการเมืองไทยนั้น เราสามารถหันรัฐนาวาไปหาจีนนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้มากขึ้นในอนาคต เมื่อคิดอย่างนี้ ปีหน้าจะเป็นปีแห่งความท้าทาย เป็นปีของโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่

- การปฏิรูปกองทัพควรเป็นไปในทิศทางใด

     ถ้าเราสังเกตโจทย์การปฏิรูปถูกสร้างออกมาทั้งหมด ไม่มีอยู่ด้านเดียวคือ ด้านความมั่นคงหรือด้านทหาร นี่เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ตัดสินใจที่จะเปิดหัวข้อในการปฏิรูปในทุกเรื่องทุกประเด็น วันนี้ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปด้านความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องใหม่ บางครั้งประเด็นนี้ถูกทำเสมือนให้เป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องของทหารเท่านั้น เป็นเรื่องกิจการภายในของทหาร ทั้งที่ประเด็นตรงนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับบทบาทการเมืองของทหาร ต้องยอมรับก่อนว่าการปฏิรูปเป็นคำใหญ่ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของปีกชนชั้นนำหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม หากเราย้อนอ่านประวัติศาสตร์การปฏิรูป เป็นแนวคิดของกลุ่มชนชั้นนำที่หวังให้การปฏิรูปหยุดยั้งการปฏิวัติ

      แต่ถ้าปล่อยให้ระบบเก่าเดินไปโดยไม่มีการปฏิรูป กลุ่มชนชั้นนำหัวก้าวหน้า กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ก้าวหน้าบางส่วนรู้ว่าสุดท้ายจะพาไปสู่การปฏิวัติ แต่การปฏิรูปในสยามรอบปัจจุบัน เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้าในปีกชนชั้นนำ ใครเป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้าในปีกอนุรักษ์นิยมที่ต้องการการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทั้งนี้ การปฏิรูปนั้นมีหลักการอยู่อย่างเดียวคือ การทำให้สิทธิของคนชั้นล่าง สิทธิของคนโดยทั่วไปที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนได้รับการขยายสิทธิ ขยายการมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกันจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปก็คือ ควบคุมสิทธิพิเศษของชนชั้นนำทางการเมืองหรือกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง

- ถ้าจะปฏิรูปทหารให้ได้อย่างที่คาดหวังจะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง

       ผมว่าเงื่อนไขพื้นฐานของการปฏิรูปกองทัพ ตัวแบบที่เราเห็นในหลายประเทศ ตัวแบบหนึ่งคือตัวแบบในแอฟริกาใต้ เราจะเห็นว่าการปฏิรูปกองทัพของแอฟริกาใต้เกิดหลังจากกระบวนการสร้างประชาธิปไตย มันขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้ จนเกิดรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสถียรภาพพอที่จะผลักดันการเมืองชุดใหม่ ดังนั้น ผมคิดว่า ถ้ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยในบ้านยังไม่เข้มแข็ง โอกาสของการปฏิรูปกองทัพเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ การพูดถึงการปฏิรูปกองทัพในวันนี้เป็นได้แค่ความหวัง เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเราคิดในความเป็นจริง ผมคิดว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นโจทย์คู่ขนานกับการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปกองทัพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าการปฏิรูปการเมืองไม่เกิด หรือโดยนัยยะเดียวกัน การปฏิรูปการเมืองจะเกิดไม่ได้จริงถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพ

- มีแนวทางให้กองทัพกับการเมืองแยกออกจากกันอย่างไร

       คิดว่าโจทย์ชุดนี้เราพูดกันมาหลายปี พูดตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 เอาเข้าจริงๆ โจทย์เรื่องทหารกับการเมืองไทยนั้น เราไม่ได้ตอบตัวเอง ผมจึงบอกว่า หากจะปฏิรูปกองทัพก็ต้องปฏิรูปการเมือง ต้องทำคู่ขนาน อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กองทัพจะต้องเผชิญกับบทบาทของประชาคมอาเซียน บทบาททหารในประชาคมอาเซียนเป็นบทบาทใหม่ที่กองทัพไทยต้องตอบ ทหารจะทำอะไรในความเป็นประชาคมอาเซียน วันนี้การเมืองในอาเซียนมีลักษณะเป็นการเมืองเปิดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การขับเคลื่อนการเมืองที่มาพร้อมกระแสโลกาภิวัฒน์ ผมคิดว่ามันจะพาการเมืองไทยไปในทิศทางนั้น ถ้าหากเราจะจัดอันดับ ก็ต้องบอกว่าการเมืองไทยเราอยู่ในอันดับที่รั้งท้าย เพราะเราเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศ และปีหน้าการเลือกตั้งก็จะเกิดในพม่า แม้รัฐธรรมนูญของเขาจะยังมีความพยายามที่จะคงอำนาจของทหาร แต่เราก็ยังได้เห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เกรงว่าปี 58 ไทยจะกลายเป็นคนป่วยคนใหม่ในอาเซียน

- คสช.จะเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้ได้หรือไม่

       ผมคิดว่าโรดแมปเขียนอย่างไรก็ได้ สุดท้ายสิ่งที่ต้องตอบคือโจทย์วิกฤต 5 ลุ่มน้ำ ที่ผมได้เปิดประเด็นไปในตอนต้น เป็นความท้าทายใหญ่ของ คสช. โรดแมปคือผลงานที่เขียนลงบนกระดาษ ผมคิดว่าวันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าการเมืองไทยปี 58 จะผันผวนแค่ไหน แต่ในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองนั้น ตอบได้อย่างหนึ่งว่า การเมืองไทยปี 58 จะผันผวนแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยยังต้องติดตาม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!