WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'เหาะเกินลงกา' สารพัดสูตร'การเมือง'ตอบโจทย์'ปฏิรูป'?

'เหาะเกินลงกา' สารพัดสูตร'การเมือง'ตอบโจทย์'ปฏิรูป'?

วิเคราะห์

     ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นช่วงเวลาที่บรรดานักคิดได้แสดงสูตร "การเมือง" ออกมาอย่างเข้มข้น

     ทั้งที่แสดงแบบเปิดเผย ทั้งที่แสดงแบบปิดลับ

     ทุกสูตรการเมืองมีความเหมือนและมีความต่างกันอย่างสัมผัสได้

     เริ่มตั้งแต่ข้อสรุปของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่มี นายสมบัติ

     ธัญญวงศ์ เป็นประธาน ได้เสนอด้วยเสียงข้างมากให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

     ด้วยเหตุและผลที่ว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดลง แต่ก็ถูกคัดค้านทั่วทิศ นับตั้งแต่คนในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง รวมไปถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ

     โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้อภิปรายข้อเสีย

     6 ประการ แสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องอำนาจฝ่ายบริหาร ที่เปรียบว่ามีอำนาจมากประดุจ "ซุปเปอร์ประธานาธิบดี"

    แม้กระทั่งพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และอื่นๆ ก็ไม่เอาด้วย

    สุดท้าย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและผู้ดูแลงานด้านกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกมาแสดงความเห็น

    ส่งสัญญาณเบรกด้วยวาทะ 'อย่าเหาะเกินลงกา'กระทั่งกระแสเลือกตั้งนายกฯและคณะรัฐมนตรีโดยตรงสงบลง

    ประจวบเหมาะกับสูตรพิเศษที่ผุดขึ้นตามมาอีก

    นั่นคือ ข้อเสนอให้ คสช.แปลงเป็นคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐสภามีจำนวน 500 คน ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.มาจากการเลือกตั้งร้อยละ 70 และเป็น ส.ว.มาจากการสรรหาร้อยละ 30

    รัฐสภาทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี

    แต่ข้อเสนอดังกล่าวดังขึ้นเพียงชั่วคืน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ทยอยมีมติต่างๆ ออกมาทุกวัน

    วันแรก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนของ ส.ส.

    กำหนดให้ ส.ส.มีทั้งสิ้น 450 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแบ่งเขต 250 คน และประเภทสัดส่วน 200 คน

    วิธีการเลือกตั้งใช้แบบเยอรมนี คือกำหนดจำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนที่ได้รับเลือกจากประชาชน เช่น ได้ประชาชนเลือก ส.ส.สัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ พรรคการเมืองนั้นก็จะมี ส.ส.แค่ 45 คน ถ้าได้จำนวน ส.ส.เขตไม่พอก็นำเอา ส.ส.สัดส่วนมาเพิ่มเติมเข้าไป

    แต่ทั้งนี้ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

    ต่อมาคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้สรุปให้นายกรัฐมนตรีมาจาก'คนนอก'ก็ได้ โดยอ้างว่าเผื่อไว้สำหรับแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

    ขณะเดียวกันได้เสนอให้มี ส.ว. 200 คน ทั้งหมดมีที่มาจากการสรรหา 5 กลุ่มผู้นำของสังคม ทั้งผู้นำ

   3 อำนาจอธิปไตย ผู้นำข้าราชการ ผู้นำภาควิชาชีพ ผู้นำภาคประชาชนที่สรรหาตามสัดส่วน และสุดท้ายคือเปิดให้ประชาชนเลือกทางอ้อม

   ข้อสำคัญคือ ได้เพิ่มอำนาจให้สมาชิกวุฒิสภาเข้าไปกลั่นกรองประวัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

   และยังมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมกับ ส.ส. โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเป็นเกณฑ์

   เท่ากับว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้ติดดาบให้แก่ ส.ว.เต็มที่

   หลังจากนี้ จนถึงสิ้นปี 2557 คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะยังประชุมกันต่อเนื่อง ก่อนจะถึงกำหนดเวลา 12 มกราคม 2558 ซึ่งคณะกรรมาธิการจะยกร่างเป็นรายมาตรา

   บัดนี้ มองเห็นสารพัดสูตรการเมืองแล้ว อนุมานภาพรวมของเจตนาผู้นำเสนอได้ว่ายังคงต้องการแก้ไขโจทย์การเมืองเก่าที่ค้างคาใจ

   นั่นคือ ทำอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งระบอบ ทักษิณ ชินวัตร

   หรือทำอย่างไรจะควบคุมระบอบทักษิณไม่ให้ควบคุมฝ่ายบริหารได้เบ็ดเสร็จ

   กระทั่งมีกระแสข่าวสะพัดว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีความคิดจะให้อำนาจ คสช.อยู่สืบทอดต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

   ไม่ว่า จะเป็นรูปแบบองค์กรในรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่ก็การเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป

    แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนหรือวิธีใด โจทย์การเมืองที่ค้นหาคำตอบอยู่ยังเป็นเรื่องเดิม

    เพียงแต่การตอบโจทย์เรื่องเดิมดั่งว่านั้นจะเป็นการตอบโจทย์การปฏิรูปไปพร้อมๆ กันได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม

    ทั้งนี้ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่ผู้เสนอให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การปฏิรูปก็ด้วยเหตุผลความเจริญก้าวหน้าของประเทศ หรือการที่ทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีกว่าอดีต

    ประชาชนมีเสรีภาพดีกว่า ประชาชนมีความเสมอภาคมากกว่า และประเทศชาติได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

    หากแต่ยิ่งมีสูตรการนำเสนอทางการเมืองปรากฏแก่สายตา กลับปรากฏว่าประชาชนได้รับเสรีภาพน้อยลง จนไม่แน่ใจว่ามีความเสมอภาคเท่าเดิมหรือไม่

    นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกก็ได้ หมายความว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ประชาชนไม่ได้เลือกก็ได้

    ให้สมาชิกวุฒิสภากลั่นกรองประวัติบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าหากนายกรัฐมนตรีจะตั้งรัฐบาล ต้องผ่านการพิจารณาจากสมาชิกวุฒิสภาเสียก่อน

    หมายความว่า สมาชิกวุฒิสภามีส่วนสำคัญต่อบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีทุกคน

    เท่ากับว่าฝ่ายบริหารจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการเสนอชื่อ

    ข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่เคยเกิดขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2535 หรือเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

    ข้อเสนอดังกล่าวกำลังถูกมองว่าทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนลดน้อยลง

    ข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นที่น่าสงสัยว่า ยังจะอยู่ในนิยามของคำว่า'ปฏิรูป'อีกหรือไม่...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!