วิเคราะห์
เสียงเตือนตรงๆ จาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คงไม่ใช่เรื่องเกินกว่าความเป็นไปได้
อย่าลืมว่า พล.อ.ชวลิต เป็นนายทหารระดับที่คนในแวดวงยุคนั้นยกนิ้วให้เป็น "ขงเบ้ง"
พล.อ.ชวลิต ยังเป็นนายทหารที่ผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร เหตุการณ์ปราบปรามการปฏิวัติรัฐประหาร มาแล้ว
พล.อ.ชวลิต เป็นนายทหารที่กระโจนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และได้รั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
ดังนั้น คำเตือนจากปาก พล.อ.ชวลิต จึงต้องเอี้ยวตัวไปฟังใกล้ๆ
พล.อ.ชวลิตบอกว่า ในปี 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องเผชิญหน้าเรื่องวิกฤตหลายเรื่อง
วิกฤตทั้งภายนอก วิกฤตทั้งภายใน
วิกฤตจากปัญหาการเมือง และวิกฤตจากปัญหาเศรษฐกิจ
สุดท้าย พล.อ.ชวลิตบอกตรงๆ ให้รัฐบาลระวังเกิดปฏิวัติซ้ำ
จากคำเตือนของ พล.อ.ชวลิต พิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน แล้วพอมองเห็นเลาๆ ว่า ปี 2558 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเจออะไรบ้าง
พบว่า ปัญหาแรกที่รัฐบาลต้องเผชิญหน้าตั้งแต่ต้นปีคือ ปัญหาเศรษฐกิจ
เป็นปัญหาจากราคาสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าว และราคายาง ซึ่งตกต่ำลงอย่างสัมผัสได้
สัมผัสได้ตั้งแต่บัดนี้ที่น้ำยางพาราตกเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท !
สัมผัสได้จากความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดใต้และกลาง ซึ่งต้องการให้รัฐบาลผลักดันราคาให้ได้กิโลกรัมละ 80 บาท
ขณะที่รัฐบาลรับปากผลักดันให้ได้ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ถึง
หากไปรวมกับกลุ่มชาวนาที่เคยได้รับเงินจากการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท เหลือเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ รวมกับการลดน้ำทุนการผลิตแล้วยังมีรายได้ไม่เพียงพอ
คงจะพอนำร่องให้เป็นการขับเคลื่อนในรูปแบบม็อบในปีหน้า
นี่ยังไม่รวมกับค่าครองชีพ การส่งออก การท่องเที่ยว ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจประมง และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นปัญหารอให้แก้ไข
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังตามด้วยปัญหาการเมือง เพราะในปี 2558 เป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประเด็นการ "เสียของ" จะดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้แค่เริ่มต้นประเด็น "ที่มานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี" และประเด็นวิธีการปรองดองด้วยการ "นิรโทษกรรม" ก็จุดกระแสไม่น้อย
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ชุดนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง
กระทั่งเกิดกระแสต้าน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ฝ่ายบริหารอำนาจล้น แล้วยังลดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
ที่สำคัญคือการนำเอาข้อเสนอดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับระบอบประธานาธิบดี !
ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานก็เสนอให้ใช้วิธี "นิรโทษกรรม" เพื่อการปรองดอง
ข้อเสนอดังกล่าวถูกกระแสต้านเช่นกัน จนนายเอนกอาสาเข้าพบกับผู้นำ "แม่น้ำ 4 สาย" เพื่อเสนอความเห็นต่อไป
นี่เพียงแค่การเมือง การปฏิรูปยังมีด้านอื่นๆ อีก 10 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ขณะที่ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญต้องให้เสร็จตามกำหนด มิเช่นนั้นจะต้องเริ่มต้นใหม่
คาดว่าการต่อสู้ทางการเมืองจะเป็นอีกปัจจัยที่กระหน่ำใส่สถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะวางตัวให้อยู่ห่างจากวิกฤตการณ์และสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ด้านการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดำเนินการไปเต็มที่
ด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดทางให้ทีมเศรษฐกิจ ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แสดงฝีมือ
แม้จะมีข่าวความขัดแย้งระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ในด้านปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์ยังมอบให้ "หม่อมอุ๋ย" ดำเนินการ ส่วนทางด้าน "ความคิด" นั้น พล.อ.ประยุทธ์เปิดรับฟังทุกด้าน
รวมทั้งความคิดของนายสมคิดด้วย
วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาดูแลงานจริงๆ จังๆ คือ ความมั่นคง คือ ดูแลให้ประเทศชาติสงบสุข
พล.อ.ประยุทธ์คุมสถานการณ์ให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยอาการปกติ
หากแต่ในด้านความมั่นคงเองก็ใช่ว่าจะราบเรียบไปเสียทั้งหมด
เดือนตุลาคม ปี 2558 มีผู้บังคับบัญชาระดับ ผบ.ทัพ ต้องเกษียณอายุราชการ ซึ่งต้องแต่งตั้งนายทหารขึ้นไปทดแทนหลายตำแหน่งที่สำคัญ
โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เกษียณอายุลง
ใครจะเป็นต่อไป ?
เช่นเดียวกับตำแหน่งอื่นๆ ในการคุมกำลัง ซึ่งหากการโยกย้ายเกิดผลกระทบกับขั้วอำนาจในกองทัพขึ้นมา อาจลุกลามใหญ่โต
สถานการณ์อาจบานปลายกลายเป็นปฏิวัติซ้ำ ปฏิวัติซ้อนตามที่ พล.อ.ชวลิตกล่าวไว้ได้ไม่ยาก
เป็นการปฏิวัติซ้อนที่อาจไม่ได้หมายถึงการนำทหารออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง หากแต่เป็นการปฏิวัติซ้อนด้วยการบังคับเปลี่ยนขั้วอำนาจในรัฐบาล
เรื่องเช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้น !
เพียงแต่โอกาสดังว่าจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารราชการแผ่นดิน
บริหารวิกฤตเศรษฐกิจ บริหารวิกฤตการเมือง
หากประเทศไร้วิกฤต คงไม่มีฝ่ายทหารคนใดคิดใช้การยึดอำนาจมาเป็นบันไดสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่ถ้าประเทศอุดมไปด้วยวิกฤต ประเทศประชาธิปไตยจะเรียกร้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คือให้ลาออก และเลือกตั้งใหม่
แต่สำหรับประเทศอย่างไทยที่อยู่ในช่วง "คืนความสุข" โดยคณะ คสช. การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเป็นไปได้อยู่ไม่กี่ทาง
และทางหนึ่งคือการเปลี่ยนขั้วอำนาจการบริหารแบบฉับพลัน
หรือการปฏิวัติซ้อน นั่นเอง
ดังนั้น คำพูดของ พล.อ.ชวลิตจึงเป็นเสมือนคำเตือน
เป็นคำเตือนที่เปรียบเทียบได้กับ "มีควันก็ต้องมีไฟ"
มีปฏิวัติแล้วย่อมมีโอกาสสูงที่จะมีปฏิวัติอีกครั้ง หรือที่ เรียกว่า ปฏิวัติซ้อน !