มองอย่างเปรียบเทียบระหว่างบทบาทของนักศึกษา "กลุ่มดาวดิน" ซึ่งออกมา "ชู 3 นิ้ว" กับบทบาทของ นายสมหมาย
ภาษี ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์แก้ไข
พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันและจดจำนอง
ของใคร "แรง" กว่ากัน
การเคลื่อนไหวของ "กลุ่มดาวดิน" อาจส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูง กระทั่งมีคนฉลาดๆ ออกมาตั้งข้อสังเกตเป็นจำนวนมาก
ว่าด้วย "ความหมาย" ของการชู 3 นิ้วว่า "หมายความ" ว่าอย่างไร
ยิ่งกว่านั้น ยังส่งผลสะเทือนกว้างไกลจาก "ขอนแก่น" มายังมหานคร "กรุงเทพฯ" กระทั่งบนภูสูงทะลุฟ้าแห่ง "เชียงดาว"
เป็นข่าว "หน้า 1" อย่างครึกโครม
ขณะที่การออกมาคอมเมนต์ของ นายสมหมาย ภาษี ต่อกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ในเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ำประกันและจดจำนอง เสมอเป็นเพียงข่าวเล็กๆ หน้าใน
ทั้งๆ ที่กรณีของ นายสมหมาย ภาษี เป็น "เรื่องใหญ่"
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงในบทบาทของ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวในลักษณะอันเป็นตัวแทนของ "ธนาคารพาณิชย์"
"ความหมาย" หมายความเท่ากับเป็นการเล่นบท "ฝ่ายค้าน"
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันและจดจำนองนี้ได้ผ่านกระบวนการของ "สนช." มาแล้ว
ผ่าน 3 วาระรวด
มีผลเป็น "กฎหมาย" แล้วอย่างสมบูรณ์ เพราะผ่านการตีพิมพ์ในหนังสือ "ราชกิจจานุเบกษา" มาแล้ว
เพียงแต่จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เท่านั้น
การที่นายสมหมาย ภาษี สรุปว่า "ถือเป็นบทเรียนที่ต้องพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะสมาชิก สนช.ที่มาจากด้านการเงินและเศรษฐกิจจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะมีผลบังคับใช้"
ต้องยอมรับว่า "แรง" และ "แรงส์"
คำถามอยู่ที่ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันและจดจำนองนี้มีกระบวนการเป็นมาอย่างไร
1 เริ่มต้นจากไหน
1 ผ่าน คสช.มาได้อย่างไร โดยที่มือกฎหมายระดับ นายวิษณุ เครืองาม ไม่เกิดความเฉลียว โดยที่มือเศรษฐกิจระดับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่สำเหนียก
ยิ่ง "ประธานพรเพชร" ยิ่งต้อง "รัดกุม"
หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการทักท้วงเบาๆ จาก 1 สมาคมธนาคารไทย 1 จากที่ นายสมหมาย ภาษี ระบุว่าเป็น "นักกฎหมายชั้นนำเอกชน"
เรื่องก็คงดำเนินไปอย่างชนิด "ผ่านเลย"
ผ่านเลยเพราะเชื่อใจ "คสช." ผ่านเลยเพราะเชื่อใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านเลยเพราะเชื่อใจในความเป็น "คนดี" ของเหล่าสมาชิก สนช.
ถามว่าคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายมีหรือไม่
ถามว่าในเมื่อเป็นกฎหมายในทางเศรษฐกิจ ธุรกิจได้ผ่านการพิจารณาของ ครม.เศรษฐกิจมาแล้วหรือไม่
ถามว่าทั้งๆ ที่สำคัญ เหตุใดไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
หากฟังจากที่สมาคมธนาคารไทยนำมาเปิดเผย ไม่เพียงแต่ทางสมาคมไม่ได้รับการปรึกษาหารือ ไม่มีการจัดส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมให้เสนอความเห็น หากดูเหมือนว่าการพิจารณาของ สนช.เป็นไปอย่างรวดเร็วเร่งรีบ
ผ่านทีเดียว 3 วาระรวด
บทเรียนครั้งนี้ยิ่งใหญ่มหาศาล ไม่เพียงแต่จะทางด้าน "เศรษฐกิจ" หากยังเป็นทางด้าน "การเมือง" ที่ขาดการตรวจสอบ ขาดการถ่วงดุล
จึงดำเนินไปอย่างถี่ลอด "ตาช้าง" ห่างลอด "ตาเล็น"
ยังไม่มีใครตอบได้ว่า เวลาที่เหลืออีก 2 เดือน คสช.และรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร
หนทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมซ้ำเข้าไปอีก หรือไม่ก็ออกกฎหมายใหม่ เพื่อยกเลิกของเดิมให้กลายเป็นโมฆะไป
บทเรียนนี้ "คสช." ชอกช้ำยิ่งกว่าใคร
ชี้แจง
บทความ กฎหมาย 'ร้อน' 2 กฎหมายเศรษฐกิจ บน 'ตัก' คสช. ในมติชน หน้า 3 วันที่ 24 พ.ย. มีข้อเท็จจริงบางประการดังนี้
1.การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.
2.การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันและจดจำนอง ผ่าน สนช.แล้ว ปรับปรุงแก้ไขจากเดิมที่ให้เจ้าหนี้ไล่เบี้ยจากผู้ค้ำประกัน ในบทบัญญัติใหม่ให้เจ้าหนี้ดำเนินการกับลูกหนี้ในระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้การติดตามหนี้มีกระบวนการที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
จึงเรียนมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
กองบรรณาธิการ