การปรากฏขึ้นของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 188/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจำนวน 12 คน ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน
สะท้อนอะไร
หากประเมินจากอำนาจหน้าที่ 1 ให้คำปรึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี 2 ประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นโยบายเร่งด่วนและนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ในสถานการณ์พิเศษตามที่ได้รับมอบหมาย
3 ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามข้อ 2
4 พิจารณาเสนอความเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการ ดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี 5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
6 เชิญบุคคลหรือขอรับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน
7 ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ก็มิได้เป็นเรื่อง "ผิดปกติ" หรือนอกเหนือ "ความคาดหมาย" แต่อย่างใด
เพราะทุกนายกรัฐมนตรีล้วนมี "ที่ปรึกษา" และ "คณะที่ปรึกษา" ทั้งสิ้น ไม่ว่ายุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่ายุค นายชวน หลีกภัย
ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา
ยุค นายชวน หลีกภัย ก็มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
การแต่งตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นที่ปรึกษาและประธานคณะที่ปรึกษาจำนวน 12 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้เป็นเรื่องแปลก
แล้วทำไมจึงกลายเป็น "เรื่องแปลก"
คำตอบ 1 สะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตระหนักว่ามีความจำเป็นต้องขยายบทบาทของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
นอกเหนือจากการเป็นสมาชิก "คสช."
คำตอบ 1 หากประเมินจากรายชื่อที่ปรึกษาไม่ว่าจะเป็น นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ไม่ว่าจะเป็น นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ไม่ว่าจะเป็น นายบรรยง พงษ์พานิช ไม่ว่าจะเป็น นางธันยา เลาหทัย
เน้นหนักไปทางด้าน "เศรษฐกิจ"
ตรงนี้ ต่างหากที่กลายเป็น "ประเด็น" ตรงนี้ต่างหากที่เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจกำลังเป็น "เรื่องใหญ่"
คำถามที่เสนอตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ คำสั่งที่ 188/2557 จะไม่ส่งผลสะเทือนต่อ "ทีมเศรษฐกิจ" หรอกหรือ
คำยืนยันจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือไม่น่าจะมีปัญหา
"เรื่องนี้ไม่ได้มีการขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น เพราะทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นที่ปรึกษา คสช.มาตั้งแต่ต้น ทำงานมาด้วยกัน"
ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 ยังมาจากคำถามที่ว่า "ทีมเศรษฐกิจ" มีและดำรงอยู่จริงหรือไม่
แม้ความเข้าใจโดยทั่วไป "ทีมเศรษฐกิจ" มีอยู่ เพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ระบุ "ผมและทีมเศรษฐกิจ" แต่ก็ยอมรับด้วยในขณะเดียวกันว่า
"ไม่ใช่กลุ่มผู้มีอำนาจเดียวในรัฐบาล"
เนื่องจากคำว่า "ทีมเศรษฐกิจ" ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กินความเฉพาะกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปยังกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์
ทั้งๆ ที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ
ความหมายจึงเท่ากับว่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ต่อสายตรงถึง "นายกรัฐมนตรี" ไม่จำเป็นต้องผ่าน "รองนายกรัฐมนตรี"
"นายกรัฐมนตรี" ต่างหากคือ "หัวหน้า" ทีมเศรษฐกิจ ตัวจริง
การตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะมาอยู่ใน "คณะที่ปรึกษา" จึงชอบแล้วด้วยเหตุผล
1 เพราะปัญหาเศรษฐกิจกำลังกลายเป็น "เรื่องใหญ่" 1 เพราะนายกรัฐมนตรีสันทัดเรื่องความมั่นคงแต่ไม่สันทัดในเรื่อง "เศรษฐกิจ" จำเป็นต้องได้คนเก่งมาเป็น "ที่ปรึกษา"
"สมคิด" และ "ปรีดิยาธร" จึงสำคัญทั้ง 2 คน