คอลัมน์ วิเคราะห์ มติชนออนไลน์ :
มีสัญญาณไม่สู้ดีนักสำหรับการบริหารราชการประเทศไทยในยามนี้
สัญญาณแรก เป็นสัญญาณทางการเมืองที่แสดงออกผ่านการดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เป็นสัญญาณเรื่อง "เสียของ" ซึ่งเป็นภารกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อยากให้เกิดขึ้น
เป็นสัญญาณที่เกิดจากสมาชิกฝ่ายหนึ่งต้องการกวาดล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้น กับสมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งต้องการเห็นการประนีประนอม
สัญญาณดังกล่าวปะทุให้เห็นจากการพิจารณาถอดถอนนักการเมืองในรัฐบาลที่แล้ว
ถอดถอนนายสมศักดิ์เกียรติสุรนนท์และนายนิคมไวยรัชพานิช
ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
และล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งเรื่องให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาอีก
สัญญาณที่ปะทุชัด เกิดขึ้นเมื่อวิป สนช. มีมติว่าไม่ควรถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีแล้ว แต่ สนช.เกิดแหกมติประชุม ไม่ทำตามข้อเสนอวิป
สนช.ยังรับคำร้องถอดถอนเอาไว้พิจารณา จึงเกรงว่าอาจจะมีการลุกฮือ
นอกจากนี้ คสช.ยังประเมินว่า สถานการณ์ "คลื่นใต้น้ำ" ยังน่าเป็นห่วง และยังเห็นความจำเป็นที่จะคงการประกาศใช้กฎอัยการศึก และประกาศคณะ คสช.ไว้
คงกฎและประกาศไว้เพื่อควบคุมมิให้เกิดความไม่สงบขึ้น
สัญญาณที่สอง เป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประเมินจากผลการทำงาน 2-3 เดือนหลังจากรัฐบาลบริหารงาน พบว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ อัดฉีดเงิน 3 แสนล้านบาท ลงไปในพื้นที่ตามช่องทางงบประมาณเก่า ทั้งงบประมาณใหม่
แต่จนบัดนี้ ผลที่ออกมายังไม่สามารถทำให้ผู้คนสัมผัสได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีอาการดีขึ้น
ขณะที่กลุ่มชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยาง ส่งเสียงร้องเกี่ยวกับเงินกู้ 15,000 ล้านบาท ว่า ธกส.ปล่อยให้ยาก
มีกลุ่มชาวนาร่วมโครงการที่รัฐว่าจ้างไปขุดคลองน้อยเกินคาด
มีการขานรับนโยบายแจกเงินชาวนาไร่ละพันน้อย ขณะที่เอสเอ็มอีก็รอการช่วยเหลือ
ผลประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ของจีดีพี
ทุกอย่างแลดูยังมีปัญหา และมีข่าวการขยับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขยับแรกคือผลักดันให้นายอำนวย ปะติเส ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือทีมเศรษฐกิจ
อีกขยับหนึ่งคือ ข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งที่ปรึกษาเศรษฐกิจเพิ่ม
หรือกระทั่งเกิดข่าวแพร่สะพัดว่า ต้นปีหน้าอาจมีการปรับคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่อยู่ในทีมเศรษฐกิจอาจอยู่ในเป้าหมายโดนปรับหลายคน
ขณะเดียวกัน บรรดารัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เริ่มพบกับปัญหาจากระบบราชการ และแนวการทำงานแบบทหาร
พร้อมกันนั้น เริ่มมีเสียงโทษนั่น โทษนี่ ซึ่งหากปล่อยไว้จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ยากจะเยียวยา
จากสัญญาณทางการเมือง และสัญญาณทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นแรงบีบที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องแบกรับไว้แจ่มชัดขึ้น
และเชื่อว่าทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในส่วนของ คสช. ครม. รวมไปถึงฝ่ายประสานงานกับ สนช.และ สปช.ก็คงทราบ
ในด้านเศรษฐกิจ จึงเห็น พล.อ.ประยุทธ์ ดึงจีนเข้ามาลงทุนสร้างรางรถไฟ 3 สายในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังเห็นการชะลอขึ้นราคาพลังงานทั้งในส่วนน้ำมันดีเซลและก๊าซ ซึ่งเดิมรัฐบาลตั้งใจจะดำเนินการภายในสิ้นปี
แต่สุดท้ายได้ตัดสินใจเลื่อนออกไป
และยังได้ยินไอเดียจากทีมเศรษฐกิจที่ประกาศให้ของขวัญคนไทยในช่วงปีใหม่ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกคำรบ
ในด้านการเมืองมีการขยับของฝ่ายทหารมากขึ้นมีการใช้โทรศัพท์โทร.ไปหาแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ายุติการชุมนุมเรียกร้อง
แม้การดำเนินการดังกล่าวทำเพื่อให้เกิดความสงบแต่ก็สะท้อนให้เห็นความไม่สงบที่คุกรุ่นอยู่
ทั้งนี้หากคสช.ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองให้ปกติ และไม่สามารถดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทุกอย่างจะส่งผลแรงกดดันไปที่ คสช.อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
วันนี้เริ่มมีใครหลายคนในแม่น้ำ 5 สาย ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่จับเค้าลางดังกล่าวได้
วันนี้เริ่มมีสัญญาณเร่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ และผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้น
จากเดิมที่วางไว้ว่าอาจจะเป็นปี 2559 ก่อนเทศกาลเช็งเม้ง 5 เมษายน ได้เปลี่ยนมาเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน 2558
แต่ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จหรือไม่เร็วหรือช้า อย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องใช้เวลาปี 2558 บริหารประเทศ
ช่วงเวลาดังกล่าว หากปล่อยให้แรงบีบเพิ่มแรงกด สถานการณ์รัฐบาล และ คสช. คงต้องเผชิญกับความอึดอัดมากขึ้น
โจทย์ของรัฐบาลและ คสช. จึงต้องกลับมาที่การลดแรงบีบจากการเมืองและเศรษฐกิจ
และต้องลดแรงบีบตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งหากสามารถผ่อนคลายสัญญาณร้ายลงได้ สัญญาณดีย่อมเกิดขึ้นมาแทนที่
แต่หากสัญญาณการเมืองแย่ สัญญาณเศรษฐกิจเดี้ยง แต่ละย่างก้าวในปี 2558 คงหวาดเสียวน่าดู