หมายเหตุ - ความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายหลังปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว แถลงผลความเสียหายของ 15 โครงการ ขาดทุน 6.82 แสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว 4 โครงการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง
ตัวเลขของโครงการจำนำข้าวที่แจงโดยใครต่อใครในยุครัฐบาลนี้ช่างหลากหลาย เดี๋ยวก็ 9 แสนล้านบาท เดี๋ยวก็ 7 แสนล้านบาท จนคนไม่ค่อยชอบพูด ไม่ชอบเถียงแบบผม ต้องเคยออกมาพูดดังๆ ว่าไม่จริง ซึ่งขอตั้งขอสังเกตแบบจับผิดได้ชัดๆ ว่าเป็นความพยายามที่จะรวมเอาภาระคงค้างจากโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลที่แล้วเข้ามา และคงเตรียมจะบวกภาระใหม่จากโครงการแจกด่วนไร่ละ 1 พันบาท จนได้ตัวเลขสูงให้เป็นที่เข้าใจผิดกับรัฐบาลก่อน และยังจะไม่ต้องแสดงตัวเลขภาระใหม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีก
สัปดาห์นี้มาใหม่ กลายเป็น 5 แสนล้านบาท แต่ยังอ้างตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวในอดีตอันไกลโพ้นที่ไม่มีภาระคงค้าง และสินค้าคงเหลืออีกแล้ว มาแสดงรวมกันให้ดูมากกว่า 5 แสนล้านบาท และทั้งเทียบเคียงกันให้ดูน่าตำหนิ ถึงตอนนี้อยากถามคนใหญ่คนโตที่พูดตัวเลข 9 แสนล้านบาท 7 แสนล้านบาท บอกแล้วว่าไม่ใช่
ส่วนข้อมูล 5 แสนล้านบาท ยังมีความจริงที่คนทั่วไปต้องทราบอยู่อีก 3 เรื่องสำคัญ คือเรื่องแรก ตัวเลขทางบัญชีนี้ยังคงใช้ข้อสมมุติ ด้านราคากับสินค้าคงคลัง ย่อมเป็นที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าคงใช้ตัวเลขราคาที่ต่ำ ตัวเลขทางบัญชีเมื่อขายสินค้าคงคลังจนหมด ย่อมจะน้อยกว่านี้ ยกเว้นไม่มีฝีมือในการขาย หรือมีการทุจริตเอื้อเฟื้อราคาให้กับคนซื้อข้าวที่เป็นพรรคพวกกัน ชักจะมีกลิ่นออกมาแล้ว เมื่อผู้รับผิดชอบออกมาพูด คนละทีสองทีเรื่องข้าวด้อยคุณภาพ จะเปิดทางให้ซื้อขายกันในราคาต่ำๆ
เรื่องที่สองโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จึงได้จัดงบประมาณ อันเหมาะสมชดเชยให้กับโครงการ ในปีงบประมาณ 2555/56 ไปแล้วตามสมควร ผลสุทธิจำนวนรวมคงค้างย่อมต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทที่อ้างถึงล่าสุดนี้ อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใครที่คิดว่ายังเป็นเงินที่สูงอยู่ดี ขอให้ตระหนักว่าโครงการนี้ช่วยเหลือกระดูกสันหลังของประเทศให้พอลืมตาอ้าปากได้มาแล้วถึง 3 ปี หรือ 5 ฤดูการผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่คลายความทุกข์ยากของชาวนาทั่วประเทศเกือบ 4 ล้านครอบครัว โดยไม่ต้องทำตามสัญญา ขอเวลาจะคืนความสุขแก่ชาวนา รวมทั้งเป็นกำลังซื้อของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีความสุขไปด้วย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกถึงได้จัดอันดับประเทศไทยดีขึ้นในช่วงเวลาของรัฐบาลก่อน
ประการที่สาม รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับวินัยการคลังอย่างเข้มงวด ภาระหนี้ที่นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของโครงการ และรัฐบาลทำหน้าที่ค้ำประกันวงเงิน รวมกับการมีภาระหนี้สินทุกประดามี ทั้งของรัฐบาลและของรัฐวิสาหกิจ ได้จัดรวมอยู่ใน'ภาระหนี้สาธารณะของประเทศ' อย่างครบถ้วน และควบคุมให้มีสัดส่วนตามกฎหมาย และกรอบวินัยทางการคลัง เมื่อเทียบกับยอดงบประมาณประจำปีและจีดีพีอย่างเข้มแข็ง เหตุผลที่เราทำเช่นนั้นได้ เพราะเรามุ่งมั่นในการลดยอดการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณที่รับผิดชอบอยู่ และจัดการทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ให้มีแผนการชำระคืนที่ชัดเจนและปฏิบัติได้
ขอให้กำลังใจรัฐบาลชั่วคราวนี้ให้เข้มงวดกับวินัยการคลังของประเทศ เช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่าเอาอย่างรัฐบาลก่อนๆ ที่ยกเพดาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปเมื่ออยากจะกู้เพิ่ม และขอส่งความปรารถนาดีมายังข้าราชการประจำทั้งที่เคยทำงานร่วมกับผมอย่างใกล้ชิด และไม่ใกล้ชิด ท่านเคยทำงานโดยไม่ต้องเอาใจนักการเมืองอย่างผมก็จริง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปท่านอาจต้องเปลี่ยนไปบ้างผมพอเข้าใจ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลัง ตัวเลขที่ออกมาเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความเสียหายสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท แค่ความเสียหายขนาดนี้มีปริมาณที่สูงมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ หลายเท่าตัว เป็นตัวเลขที่ตอกย้ำถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่อนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าวประกาศออกมา เป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ดูแล้วข้อมูลอาจจะไม่ทันเหตุการณ์ แม้มีการแถลงว่าจะปิดบัญชีอีกครั้งในวันที่ 30 กันยายน 2557 เนื่องจากประชาชนได้รับรู้ข้อมูลการตรวจโกดังข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงอยากรับทราบข้อมูลที่รวมความเสียหายเรื่องข้าวเหลือง ข้าวเสีย ข้าวปลอมที่ปนจากการตรวจโกดังของ ม.ล.ปนัดดาด้วย เพราะถ้ารวมการตรวจดังกล่าวเชื่อว่าความเสียหายจะสูงกว่านี้
อีกข้อสังเกต คือ ปริมาณสินค้าคงคลัง เนื่องจากการปิดบัญชีของอนุกรรมการปิดบัญชีคิดตามเอกสารที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ส่งข้อมูลมาให้ ทำให้สินค้าคงคลังมีข้าวเก็บสูงถึง 19.2 ล้านตัน ปริมาณตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริงที่ ม.ล.ปนัดดาลงไปตรวจจริงมีข้าวเหลือประมาณ 18 ล้านตัน เท่ากับว่ามีความสูญหายเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ไม่แน่ใจว่าอนุกรรมการปิดบัญชีได้นำหนี้ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อไว้ หลังจากรับข้าวชาวนามาแต่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายชาวนาได้ จนชาวนาฆ่าตัวตายสูงถึง 16 ราย ในช่วงดังกล่าวยังเป็นหนี้ชาวนาอีกประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท นำเข้ามารวมความเสียหายด้วยหรือไม่ เชื่อว่าถ้าการปิดบัญชีครอบคลุมข้อมูลทุกอย่างของ ม.ล.ปนัดดา ความเสียหายต่างๆ ของโครงการรับจำนำข้าวจะสูงมากกว่านี้ และเป็นบทพิสูจน์ถึงความเสียหายอย่างยิ่งต่อชาติและพี่น้องชาวนาเองที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เอาแค่ปริมาณข้าวตามบัญชี 19.2 ล้านตัน ไม่ต้องคิดค่าเก็บรักษา ค่าดอกเบี้ย แค่ปริมาณนี้ก็กลับมาเป็นหอกทิ่มแทงพี่น้องชาวนา เพราะข้าวสารที่เก็บมากขนาดนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ข้าวเปลือกราคาตกลงในปัจจุบัน
วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ)
อนาคตรัฐบาลควรยกเลิกโครงการช่วยเหลือด้านราคาข้าวได้แล้ว ทั้งโครงการจำนำข้าวและโครงการประกันรายได้ เพราะเราอยู่ในมายาคติว่า 1.ราคาเป็นตัวชี้ขาด และ 2.เกษตรกรยากจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องช่วยเรื่องราคา ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ทุกวันนี้ชาวนาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชาวนาภาคกลาง ที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตมาก ในต้นทุนที่ต่ำ และสามารถดำรงชีพได้ ขณะที่ชาวนาอีกกลุ่มคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวเพื่อการบริโภคมากกว่า ดังนั้นหากรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวอยู่อย่างต่อเนื่อง จะทำให้รัฐต้องขาดทุนโดยเปล่าประโยชน์
สมพร อิศวิลานนท์
นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ
คาดว่า ข้าวที่เหลืออยู่ในสต๊อกของรัฐบาลที่มีประมาณ 19.2 ล้านตัน จะเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพและต่ำกว่ามาตรฐานประมาณ 12-13 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวดังกล่าวจะขายได้ประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวที่เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้ราคาอยู่ที่ 4,000 บาทต่อตัน หากรวมการด้อยค่าของข้าวเสื่อมราคาแล้วคาดว่าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขาดทุนสูงกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวยังไม่นับรวมค่าดำเนินงานหลังนำข้าวออกขาย ส่วนการคิดต้นทุนขายของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีนั้น
ทั้งนี้ ในส่วนของการหักค่าเสื่อมที่กำหนดอัตราสูงสุดเพียง 40% นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องจากหากรัฐบาลระบายข้าวช้า ข้าวในสต๊อกย่อมได้รับความเสียหาย เพราะข้าวไม่ใช่สินค้าที่คงอัตราความเสียหายได้เหมือนสินค้าชนิดอื่น สุดท้ายมูลค่าข้าวในสต๊อกที่ไม่รีบระบายออกจะต้องเป็นศูนย์ สุดท้ายโครงการจำนำข้าวอาจขาดทุนสูงถึง 9 แสนล้านบาท แต่เข้าใจว่าที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีต้องกำหนดอัตราค่าเสื่อมสูงสุดที่ 40% เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณทางบัญชี
สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการต่อจากนี้คือ เร่งสำรวจปริมาณข้าวที่อยู่ในสต๊อกว่าเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพเท่าใด และหายไปจากสต๊อกจำนวนเท่าใด หากทำได้จะช่วยให้การคำนวณมูลค่าความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวทำได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการส่งออกข้าว เพิ่มความมั่นใจเรื่องคุณภาพข้าวไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความชัดเจนเรื่องคดีความและการดำเนินคดีต่อพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้าวหายจากสต๊อกด้วย
สำหรับ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือชาวนาในอนาคตนั้น รัฐบาลควรแยกการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่ในภาคอีสาน เนื่องจากข้าวในพื้นที่ภาคอีสานสามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละ 1 ครั้ง และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิได้ดี ข้าวทั้งสองชนิดมีผลผลิตที่พอดีกับการบริโภคในประเทศและตลาดต่างประเทศต้องการมาก
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาข้าวหอมมะลิหลังเลิกโครงการจำนำข้าว พบว่าราคาข้าวเหนียวที่แปรสภาพเป็นข้าวเปลือกแล้วอยู่ที่ 30,000 บาทต่อตัน วิธีการช่วยชาวนากลุ่มนี้คือ การชะลอไม่ให้ข้าวออกมาสู่ตลาดในต้นฤดูมากเกินไป เพื่อให้ขายข้าวที่มีทั้งหมดได้ในราคาสูง ป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าและโรงสี โดยวิธีที่รัฐบาลทำคือการจำนำยุ้งฉาง ซึ่งถือเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงการ และตรวจสอบความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวในพื้นที่ชลประทานซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ที่ไม่ไวแสงประมาณ 12 ล้านตันนั้น ส่วนหนึ่งถูกนำมาเป็นข้าวนึ่ง แต่มีอีกบางส่วนที่เป็นส่วนเกิน ข้าวส่วนนี้มีคู่แข่งการตลาดมาก ราคาต่ำเพียง 8,000 บาทต่อตัน ซึ่งยังไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการข้าวส่วนเกินนี้อย่างชัดเจน
รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกษตรกรให้ปลูกข้าวที่มีมูลค่าการตลาดสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อตัน ข้าวอินทรีย์และข้าวหอมนิล ซึ่งเรื่องดังกล่าวควรหาภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในการส่งออกและทำตลาดด้วย โดยอาจศึกษาจากหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว เช่น ข้าวคุณธรรม
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กระทรวงพาณิชย์ควรผลักดันให้เกิดตลาดกลางข้าว โดยใช้กลไกของ ธ.ก.ส.ในจังหวัดขอนแก่นและสุพรรณฯมาใช้ เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่าต้องการให้ข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ปัจจุบันไทยไม่มีตลาดกลางข้าวให้อ้างอิงราคา ทำให้โรงสีกดราคาข้าวชาวนา