หมายเหตุ - รายละเอียดแนวทางการปฏิรูปด้านการเมือง แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย และแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปประเทศทั้ง 15 ด้าน ตามแนวทางปฏิรูปของ "นิด้าโมเดล ปฏิรูปประเทศไทย"
แนวทางปฏิรูปประเทศด้านการเมือง
1.การปฏิรูประบบพรรคการเมือง
1.1 กำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่เสียภาษีให้แก่พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนเงินจำนวนนี้ในอนาคตจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละหมื่นล้านบาท พรรคการเมืองที่โดดเด่นอาจได้รับเงินบริจาคปีละหลายพันล้าน พรรคการเมืองก็จะมีเงินทุนสนับสนุนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของนายทุนพรรค มาตรการนี้จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองโดยตรง
1.2 พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศและอย่างน้อยร้อยละ 1 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้พรรคเป็นพรรคของพื้นที่แต่เป็นพรรคการเมืองของคนทั้งประเทศ
1.3 ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ให้ที่ประชุมตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครของพรรคในแต่ละจังหวัด
1.4 ถ้าประยุกต์ระบบแบ่งแยกอำนาจมาใช้ เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี โดยผ่านพรรคการเมืองและ ส.ส.ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยกำหนดให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งอันดับหนึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แนวทางนี้สามารถกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองได้ ถึงแม้จะมี ส.ส.อิสระได้รับการเลือกตั้งก็จะไม่กระทบการจัดตั้งรัฐบาล
2.แนวทางการปฏิรูประบบและกระบวนการเลือกตั้ง
2.1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทุจริตการเลือกตั้งจะต้องถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 คน พร้อมกับถูกตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต โดยถือว่าผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งไม่ควรมีโอกาสทางการเมืองอีกต่อไป
2.2 ให้ผู้สมัครจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามกรอบวงเงินที่ทางราชการกำหนดเสนอต่อเจ้าหน้าที่ในเขตเลือกตั้ง การใช้จ่ายเงินต้องผ่านระบบบัญชีของธนาคารหากผู้ใดจ่ายเกินให้ลงโทษจำคุกและตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง
2.3 การเลือกตั้งให้ใช้ระบบบัญชีรายชื่อจังหวัด พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ตามจำนวนของ ส.ส.ที่มีในแต่ละจังหวัดจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดให้เป็นไปตามสัดส่วนประชากร กรณีนี้สามารถให้มีผู้สมัครอิสระได้
2.4 ให้พรรคที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศสูงสุดอันดับหนึ่ง ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล และให้หัวหน้าพรรคทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และมีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรี จะทำให้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นอิสระ ปลอดจากการกดดันของ ส.ส.ในสภา
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีลาออกหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้พรรคเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ และให้หัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกถอดถอนให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้งอันดับสองทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
2.5 ให้ตัวแทนประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ในเขตเลือกตั้งร่วมเป็นกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมและโปร่งใส
2.6 ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งขององค์กรวิชาชีพตามกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้ปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองโดยกำหนดคุณสมบัติให้สอดคล้องกับการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
2.7 ให้นำระบบ e-voting มาใช้ในการลงคะแนนและนับคะแนน เพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและสามารถทราบผลการเลือกตั้งได้โดยเร็ว
แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย
มีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือสภาพปัญหา หลักการ และแนวคิด และข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป ดังนี้
1.สภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรม มีสภาพปัญหาที่สำคัญ ดังนี้ 1.1 สถานการณ์คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก 1.2 การอำนวยความยุติธรรม 1.3 กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยมีขนาดใหญ่และมีต้นทุนสูง 1.4 ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 1.5 การบริหารงานกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมยังคงมีปัญหา
2.หลักการและแนวคิดในการปฏิรูป มีหลักการและแนวคิด ดังนี้ 2.1 การแก้ปัญหาและพัฒนาระบบยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก ให้มีประสิทธิภาพ 2.2 การนำแนวคิดยุติธรรมทางเลือกมาเป็นตัวเสริมในการแก้ปัญหาระบบยุติธรรมกระแสหลัก 2.3 การทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบมีส่วนร่วม 2.4 การทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิที่ครอบคลุม ทั้งต่อผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และผู้ต้องโทษ 2.5 กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม
3.ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
3.1 ประเด็นพิจารณาชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีแนวทางดังนี้ (1) การทบทวนความเป็นอาชญากรรม ได้แก่ การ Legalization หรือ Decriminalizing (2) การให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรม (Crime prevention) และควบคุมอาชญากรรม (Crime control) (3) การจัดการความขัดแย้งและระงับข้อพิพาททางอาญา ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3.2 ประเด็นพิจารณาชั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง ควรนำมาตรการดังต่อไปนี้มาใช้ (1) การจับกุม ควบคุมตัวการเพิ่มบทบาทพนักงานอัยการในการ กลั่นกรองการออกกฎหมาย (2) การสืบสวนสอบสวนให้อัยการหรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามามีบทบาทมากขึ้น (3) การปล่อยชั่วคราว ให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและให้มีมาตรการทางเลือก (4) มาตรการทางเลือกและยุติธรรมทางเลือกในชั้นสอบสวน โดย ก.การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท ข.ควรนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาใช้
3.3 การคุ้มครองและเยียวยาเหยื่ออย่างเหมาะสมและเพียงพอ ควรนำมาตรการต่อไปนี้มาใช้ (1) การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้เพื่อเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม ในกรณีที่เหยื่อต้องการหรือยินยอม โดยกระบวนการดังกล่าวไม่ควรเป็นเงื่อนไขหลักในการลดทอนโทษของผู้กระทำความผิด (2) พัฒนากลไกในการคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรมที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้หญิงจากการละเมิดซ้ำจากกระบวนการยุติธรรม (3) การเยียวยาเหยื่อจากกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและเพียงพอ
แนวทางการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข ทั้งความเหลื่อมล้ำในอำนาจ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ความเหลื่อมล้ำในการต่อยอดทุน และความเหลื่อมล้ำเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มนายทุนเก่าและใหม่ จากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนคือเรื่องความมีอำนาจที่ไม่สมดุลกับประชากรในชาติ จึงเป็นที่มาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหา คือต้องหาวิธีทำให้คนทุกกลุ่มในชาติมีความสมดุลกันให้ได้มากหรือใกล้เคียงกัน
มากที่สุด
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำในโอกาส เกิดจากที่คนชั้นล่าง ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริการสาธารณะที่ดีมีคุณภาพ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล จึงต้องมีการปรับปรุงในส่วนนี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทุกระดับ ต่อมาในส่วนของความเหลื่อมล้ำทางต้นทุน คนจนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม มีโอกาสน้อยที่จะได้ถือครองทรัพย์สิน การต่อยอดรายได้จึงทำได้ยาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะถูกเหยียดหยามทางสังคมได้ ทั้งนี้ สังคมยังมีเรื่องทุนที่มาจากมรดก ที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าทุนที่เกิดขึ้นใหม่ และสังคมไทยยังคงสภาพเป็นสังคมสืบสถานะ มานานกว่า 5 ทศวรรษ กฎหมายยังไม่เป็นกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องของกลไกรัฐ ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกมิติ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจก่อให้เกิดความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอนโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่ คสช.ควรพิจารณาอย่างเร่งด่วนมี 6 เรื่อง คือ
1.ในเรื่องของการกระจายอำนาจให้องค์กรชุมชน ท้องถิ่น ได้ตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดสรรสิทธิและโอกาสรวมถึงเสริมสร้างความสามารถของคนยากคนจน คนชายขอบให้มากขึ้น โดยตั้งหลักการกระจายอำนาจอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น 2.จัดทำนโยบายและแผนงานโครงการที่กระจายทรัพยากรของรัฐไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเพื่อสร้างโอกาส โดยเริ่มจากพิจารณาปัญหาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไป
3.สร้างพื้นที่การสื่อสาร พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางนโยบาย ให้คนชั้นกลางทั้งในเมืองและชนบทได้ร่วมกันแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน 4.การเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการสื่อสารโดยตรงจากชุมชนสู่รัฐ 5.ลดอำนาจอิทธิพลของนักธุรกิจ เพิ่มบทบาทของตัวแทนภาคประชาสังคม 6.ปฏิรูประบบภาษีอากร ด้วยการเพิ่มภาษีของคนรวย เช่น ภาษีกำไร ภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก ดอกเบี้ย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ไม่ให้คนรวยหนีภาษีและขยายฐานภาษีของ อปท.และให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บภาษีที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
ส่วนแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวนั้น จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแข่งขัน ต้องพัฒนาศักยภาพคน เทคโนโลยีเพิ่มการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือภาครัฐจะต้องลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลงให้เร็วที่สุด เพราะเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม กฎหมายต้องเป็นกฎหมายต้องบังคับใช้ได้และสังคมแบบพวกพ้อง สังคมแบบอุปถัมภ์ จะต้องปลูกจิตสำนึกเสียใหม่ให้สิ่งเหล่านี้ลดลงตามลำดับ