ทำไมถึงได้มีการ 'โยนหินถามทาง'จาก นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในเรื่องอาจมีมาตรการ'การเงิน' เข้ามาเสริม
คำตอบ แจ่มชัด ตรงไปตรงมา
1 เป็นความกังวลอันเกิดขึ้น และดำรงอยู่ภายในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด
1 กังวลเพราะมาตรการ'การคลัง'อาจไม่ได้ผล
โดยรวมศูนย์ไปยังความกังวลในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ'ต่ำ'กว่าประมาณการ มีการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น'ธปท.' ไม่ว่าจะเป็น 'สศค.'
ตัวเลขที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้งก็คือ การลดลงของ 'การส่งออก" เมื่อประสานเข้ากับการลดและหดตัวของ "การท่องเที่ยว"
ก็ต้องสวด 'นะโม' สถานเดียว มิมีหนทางอื่น
ที่รอคอยกันด้วยความระทึกใจอย่างที่สุดจึงเป็นการรอคอยหัวรถจักรอันมาจากการลงทุนของ 'ภาครัฐ'
ตรงนี้แหละคือ'ความหวัง' ในปี 2558
เหตุใดจึงเกิดความเห็นร่วมในลักษณะอันเรียกว่า'สมารมณ์'ว่ายากเป็นอย่างยิ่งที่ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 จะออกมาสดสวย
ทำท่าว่าจะต่ำกว่าร้อยละ 1.5 ด้วยซ้ำ
ที่เป็นเช่นนี้ ปัจจัย 1 มาจากที่เคยฝากความหวังไว้กับการเร่งอัตราเบิกจ่ายให้ได้เป็นจำนวนมากเพื่อให้เงินจำนวนนี้ลงไปและกระจายใน 'ภาคเอกชน'
ในที่สุดก็ต้องเอามือก่ายหน้าผาก
รูปธรรมไม่เพียงแต่อัตราการเบิกจ่ายยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าปีงบประมาณ 2557 มีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 65 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 69
ปีงบประมาณ 2558 ไตรมาส 1 ยังต่ำกว่าอีก
หาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการประธานในที่ประชุม ครม. เมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน ยังได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้รวดเร็วและรอบคอบ
ทั้งนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาลระบุว่า
"หลังจากเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกไปในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2558 ยังไม่เห็นผลออกมาชัดเจน"
'ความชัดเจน'นั้นเองเป็น 'เป้า' ที่หลายฝ่ายปรารถนา
ถามต่อไปอีกว่า เหตุปัจจัยใดทำให้'ภาคเอกชน'คาดหมายว่าผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าจะเห็นผลก็ในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2558
นั่นเพราะว่าที่ผ่านๆ มา เสมอเป็นเพียง'จะ'
อาการ'จะ'ปรากฏให้ได้รับรู้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และต่อเนื่องมายาวนานกระทั่งเดือนพฤศจิกายน
เป็นเวลา 6 เดือนแห่ง'จะ'
ไม่ต้องเป็นอาจารย์แห่งสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็รู้ว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรูปประโยคในแบบ
อนาคตกาล หรือ ฟิวเจอร์ เท้นส์
ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ 'คสช.'ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ'รัฐบาล'ล้วนติดอยู่ในกระบวนการ 'จะ' ทั้งสิ้น อาการ'จะ'นี้เองจึงเสมอเป็นเพียง 'วาทกรรม' คำพูด มิได้เป็นการลงมือ'ปฏิบัติ'
เมื่อเป็น'คำพูด' ย่อมลอยหายไปกับ 'สายลม'
การรอคอยขอ ง'ภาคเอกชน' การรอคอยของ'ประชาคมโลก'จึงอยู่ที่การแปรคำว่า'จะ'เข้าไปสู่การทำอย่างเป็นจริง
นี่คือ จุดแห่งการรอคอยอันทรงความหมายยิ่ง
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว คะแนนและความนิยมอันมีต่อ คสช.และรัฐบาลมาจากปมตรงนี้เป็นสำคัญ
แรกที่รัฐประหารคะแนนและความนิยมทะยานขึ้นสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปคะแนนและความนิยมกลับผันผวนและมีแนวโน้มที่ลดต่ำลงเป็นลำดับ
สัมผัสได้จาก'ดัชนี'สะท้อน'ความมั่นใจ'....