'ปรองดอง'ในความแตกต่าง รัฐธรรมนูญกำหนดได้ จริงหรือ?
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 14 November 2014 22:52
- Published: Friday, 14 November 2014 22:52
- Hits: 3538
'ปรองดอง'ในความแตกต่าง รัฐธรรมนูญกำหนดได้ จริงหรือ?
มติชนออนไลน์ :
(จากซ้าย) พนัส ทัศนียานนท์, พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, เอกชัย ไชยนุวัติ
|
หมายเหตุ - เป็นความเห็นของนักวิชาการต่อความคาดหวังในกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม จะสามารถสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงไร พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความเห็นของผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย ไม่ใช่เครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ที่จะสร้างให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมในขณะนี้ การลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ สังคมของประชาชน ไม่ใช่ว่าไปเขียนในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำมันลดลง แล้วจะลดลงไปได้ ต้องอยู่ที่การจัดระบบระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ทั้งหมด ต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมือใดที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยลำพังตัวรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้โดยทันที การที่มีความตั้งใจวางโรดแมปต่างๆ เอาไว้เป็นสิ่งสามารถทำได้ ว่าต้องการจะให้เกิดอะไรขึ้น เป็นเป้าหมาย แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่แค่เขียนในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ยกตัวอย่างง่ายๆ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่บอกว่าจะแก้ปัญหาการเลือกตั้ง ซื้อสิทธิขายเสียงได้ แต่สามารถแก้ได้จริงหรือ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่กลไกกฎหมายที่จะไปกำหนดให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับกติกาการปกครองบ้างเมือง แล้วจะเอาไปใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยชูให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องหลัก ย่อมเป็นไปไม่ได้ และทำให้สังคมเข้าใจผิดกันไปยกใหญ่ โดยเฉพาะที่บอกว่าจะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นมาภายในประเทศ คิดว่าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็เพียงแต่เขียนว่า "เป็นความมุ่งมาดปรารถนาของผู้ร่าง" ทำได้เพียงเท่านั้น เพราะในขณะที่กำลังยกร่างคู่ขัดแย้งยังคงตั้งป้อมกันอยู่ ไม่มีทางจะเห็นพ้องต้องกัน ไม่มีทางจะเห็นไปในทางหนึ่งทางเดียวกัน สุดท้ายไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองกันได้ จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไร รัฐธรรมนูญจะสามารถเนรมิตได้กระนั้นหรือ ดังนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่าทำให้คนเข้าใจผิดว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้ทุกอย่าง จะไปบอกให้ประชาชนเกิดความคาดหวังแบบนี้ไม่ได้ เพราะจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาต่อไป ตอนนี้เห็นกันว่าเป็นการยกร่างข้างเดียว แล้วจะไปบอกอีกฝ่ายให้ปรองดองได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเป็นกติกาการปกครองบ้านเมือง เป็นการรับรองว่าประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ แค่ไหนเพียงใด สองเรื่องนี้เป็นหลักใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้คัดค้านว่าจะมีการเขียนลงไป แต่ถ้าจะเขียนต้องเขียนให้มองเห็นได้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เขียนเป็นนามธรรม ต้องเขียนบอกไปเลยว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยต้องเสียสละแค่ไหน กำหนดมาให้ชัด หรือจะให้เป็นรัฐสวัสดิการแบบไหน มีความเป็นสังคมนิยมเพิ่มมากขึ้นมากน้อยเพียงไร เขียนออกมาให้ชัด ถ้าเขียนให้ชัดก็จะสามารถอธิบายว่ายึดหลักพวกนี้แล้ว จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำไปได้ สำหรับเรื่องการปรองดองก็ต้องเขียนให้ชัดว่า ทำอย่างไรจึงจะปรองดองกันได้ ไม่ใช่เอาแต่บอกให้อีกฝ่ายหนึ่ง "ยอม" คนที่ไม่เห็นด้วยต้องยอม อย่างนั้นไม่ได้เรียกว่าการปรองดอง แต่เรียกว่าเป็นการ "กดหัว" พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญมี 4 ภาค โดยเฉพาะภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งแบ่งเป็นหมวด 1 การปฏิรูปที่ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม กับหมวด 2 การสร้างความปรองดอง โดยหลักการแล้วเรื่องดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่ต้องคำนึงถึงการปฏิรูปประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเจตนารมณ์ต่อการสร้างความปรองดองให้บังเกิดขึ้นในสังคม การที่คณะกรรมาธิการจะยกร่างในภาคที่ 4 จึงถือเป็นหลักประกัน และกรอบแนวทางในการปฏิบัติต่อไปในอนาคต เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ถ้าไม่ดำเนินการแสดงว่ากระทำขัดกับรัฐธรรมนูญในภาคที่ 4 ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างความปรองดองในสังคม คือปัจจัยแทรกซ้อนกันภายในของกลุ่มคลื่นใต้น้ำ กลุ่มคนคิดต่าง ทำให้รู้สึกกังวลพอสมควร เพราะจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญให้กระบวนการสร้างความปรองดอง และลดความเหลื่อมล้ำหยุดชะงักลง จนส่งผลกระทบต่อโรดแมป คสช.ได้อีก ซึ่งกรอบดังกล่าวจะปรองดองได้จริงหรือไม่ ก็ต้องทำงานกันต่อไป และติดตามกันอีกที สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบรัฐธรรมนูญที่ออกมา ไม่แน่ใจว่าเมื่อเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด โอกาสเดินหน้าต่อไปให้ถูกต้องจะทำได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ายาก ลำพังการเริ่มต้นการร่างรัฐธรรมนูญโดยคนที่มีฐานความคิดคับแคบ เป็นการเริ่มที่ผิดพลาด โอกาสจะเดินต่อก็ยากจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ในส่วนของกรอบเรื่องความปรองดอง สะท้อนว่ามีการมองความขัดแย้งในสังคมโดยนึกถึง กปปส.และ นปช.เท่านั้น ทั้งที่ความขัดแย้งจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งที่รวมเอาคนในสังคมเข้ามาด้วย นปช.หรือ กปปส.เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความขัดแย้ง ดังนั้น การดึงเอาเฉพาะแกนนำหรือพรรคการเมืองเข้ามา ไม่ได้ช่วยทำให้คลี่คลายความขัดแย้งได้มากนัก และแก้ปัญหาอะไรได้น้อยมาก การจะปรองดองไม่ใช่แค่เชิญแกนนำคู่ขัดแย้งเข้ามา แต่จะต้องเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างเถียงกันได้ก่อน การจะบอกให้ทุกคนปรองดอง แล้วจะมีรัฐธรรมนูญออกมาให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในกติกานี้ โดยที่ทุกคนไม่มีโอกาสได้เถียงกันเลย คิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย เวลาคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เรื่องของการกำหนดเนื้อหา เพราะการกำหนดเนื้อหาเป็นเหมือนการตั้งประเด็นโดยคนบางกลุ่มที่อาจเป็นปัญหา กรณีนี้ต้องกลับไปตั้งแต่เบื้องต้นว่า การตั้งประเด็นว่าอะไรคือปัญหานั้น เป็นเหมือนการกำหนดวาระ ว่าอะไรคือสิ่งที่จะเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญแล้วจะแก้กันตรงไหน ตรงนี้สำคัญกว่ารายละเอียดที่จะลงลึกในรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการตั้งประเด็นรัฐธรรมนูญว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง หมายความว่าเขาเห็นปัญหา แต่ขณะเดียวกันอาจจะไม่เห็นปัญหาบางอย่างว่าเป็นปัญหา การตั้งต้นแบบนี้ทำให้คนบางกลุ่มซึ่งมีปัญหาในเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ได้ถูกวางในกรอบ เช่น สถาบันทหาร หรือองค์กรอิสระ จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือมีกรอบอย่างไร จึงเห็นว่าเริ่มต้นก็กลัดกระดุมแม็ดแรกผิด ขณะนี้เป็นการกลัดกระดุมผิดเป็นเม็ดที่สอง และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ รัฐธรรมนูญเรื่องความปรองดอง หรืออะไรต่างๆ ที่ออกมา ต่อให้ยกร่างเสร็จ แต่เมื่อสังคมกลับไปสู่ภาวะปกติ ไม่มีกฎอัยการศึก ตอนนั้นคนจะออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ และพร้อมจะละเมิดรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลา เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการอิสระ แนวทางในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบส่วนหนึ่งมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เพียงผู้เดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือแม่น้ำทุกสายก็ไหลเวียนกลับไปที่ คสช. ที่มีเป้าประสงค์ให้เกิดการปฏิรูปและปรองดองสำเร็จดังที่ประกาศไว้นั้น จะให้ประชาชนทุกฝ่ายทุกส่วนมีส่วนร่วมได้อย่างอิสระเสรีตามกฎหมายได้อย่างไร ขออ้างอิงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 รัฐบาลชุดเดิมได้เชิญนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และคนอื่นๆ มาในงาน Uniting for the Future คือรวมกันเพื่ออนาคต นายแบลร์กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่สุด คือมองโอกาสร่วมกัน ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปปรองดองต้องสร้างโอกาสร่วมกัน โดยเน้นคำว่าอิสระและเสรี ถ้าไม่สร้างตรงนั้น จะเป็นงูกินหาง พันไปเรื่อยๆ ความปรองดองที่จะเกิดขึ้นจากกรอบร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะนักกฎหมายเสรีประชาธิปไตย กฎหมายหลายฉบับรวมถึงรัฐธรรมนูญ คือ ข้อตกลงของประชาชนที่ยอมเสียสละสิทธิเสรีภาพบางส่วน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น การจะบังคับให้ปรองดองไม่สอดคล้องกับแนวคิดนักกฎหมายแนวนี้ นั่นคือ จะไปบังคับประชาชนไม่ได้ และหากยังใช้กฎอัยการศึกที่ไม่ต้องการให้มีความเห็นต่างในขณะนี้ ก็เรียกได้ว่ายังไม่มีการสร้างโอกาสร่วมกัน |