ถอดถอน-รธน. คสช.เอาไม่อยู่?
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 09 November 2014 20:28
- Published: Sunday, 09 November 2014 20:28
- Hits: 3669
วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ถอดถอน-รธน. คสช.เอาไม่อยู่?
การเมืองเดินหน้าเข้าสู่โหมดการร่างรัฐธรรมนูญทันทีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน
กรรมาธิการยกร่างฯ คือแม่น้ำสายสุดท้ายจากทั้งหมด 5 สายใน 'โรดแม็ป' ของคสช. อันประกอบไปด้วย คสช. ครม. สนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
โดยมีคสช.เป็นแม่น้ำสายแรก และ ยังเป็นผู้ให้กำเนิดแม่น้ำอีก 4 สาย ในเวลาต่อมา
การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นเพราะรายชื่อกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นไปตามโผที่ออกมาล่วงหน้า
โดยเฉพาะนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชื่อหลุดออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ก่อนใคร ว่าถูกวางตัวให้มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ตั้งแต่ยังไม่ตั้งสปช.ด้วยซ้ำไป
จากโฉมหน้ากรรมาธิการยกร่างฯ ถ้าให้คะแนนก็ผ่านแบบคาบเส้น
ไม่ถึงกับ 'ยี้'แต่ก็ไม่ถึงขนาดร้อง 'ฮ้อ'เพราะถูกตัดแต้มตรงที่ ครม.ดันไปคว้าเอา'พ่อตา-ลูกเขย'เข้ามาเป็นกรรมาธิการทีเดียวพร้อมกัน ถือเป็น'รอยด่าง'ที่ไม่มีคนกล้าวิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก
เพราะถึงอย่างไรสิ่งที่สังคมเฝ้าดู อยู่ น่าจะเป็น "เนื้องาน" การยกร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายบวรศักดิ์เคยกล่าวในที่ประชุมสปช.ว่า ไม่ต้อง การให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็นการเขียนกติกาของผู้ชนะเพื่อเล่นงานผู้แพ้
รวมถึงภายใต้คำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระแก้วมรกตและศาลหลักเมือง ว่ากรรมาธิการจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ ยึดประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งไม่ตรงกับที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน 1 ในกรรมาธิการยกร่างฯ และกลุ่มอดีต 40 ส.ว. ประกาศว่าจะใช้ความรู้ความสามารถเข้าไปร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตรงกับความต้องการของ 'มวลมหาประชาชน'ตามที่เคยสัญญาไว้แน่นอน
จึงต้องติดตามดูกันต่อไป ระหว่างคำสัตย์ปฏิญาณของนายบวรศักดิ์ กับคำสัญญาของนายไพบูลย์
ของใครจะศักดิ์สิทธิ์กว่ากัน
กับอีกเรื่องที่กำลังเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ แตกเป็น 2 ทาง
กรณีที่ประชุม สนช.มีมติ 87 ต่อ 75 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ให้ตัวเองมีอำนาจรับเรื่อง'ถอดถอน' นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็น ที่มาส.ว.โดยมิชอบ ไว้พิจารณา
มติ 87 ต่อ 75 นี้ สวนทางกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า หลังจากศึกษาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ในสำนวนถอดถอนตามที่ป.ป.ช.ส่งมาจำนวน 4,000 หน้า
สนช.สายทหารและสนช.สายข้าราชการซึ่งถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ควรรับเรื่องถอดถอน 'สมศักดิ์-นิคม' ไว้พิจารณา
ด้วยเหตุผลว่าเนื่องจากฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
ที่สำคัญสนช.ไม่อยากให้เรื่องนี้ กลายเป็นชนวนปลุกมวลชนออกมาเคลื่อนไหวระลอกใหม่ เพราะ จะกระทบต่อแนวทางสร้างความปรองดองของ รัฐบาลและคสช.
ขณะที่สนช.ส่วนน้อยที่อยากให้รับเรื่องไว้พิจารณา มีเพียงกลุ่มอดีต 40 ส.ว.ซึ่งพยายามล็อบบี้ขอให้สมาชิกรับเรื่องไว้พิจารณาก่อนเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการถอดถอน จากนั้นค่อยพิจารณาว่าจะลงมติถอดถอนหรือไม่
ซึ่งผลก็ออกมาอย่างที่เห็น มีรายงานข่าวแจ้งว่าการ 'ผิดคิว' ที่เกิดขึ้น กำลังตรวจสอบกันอยู่ว่าเป็นความ ผิดพลาดทางเทคนิค หรือมีเจตนาจงใจ 'เบี้ยว'กันเอง
เนื่องจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ไม่เดินตามแนวทางที่วิปสนช.และสนช.สายทหารตกลงกันไว้ว่าให้โหวต 'ตีตก' ไปเลย
แต่นายพรเพชรกลับให้โหวตว่าจะ'รับ'หรือ 'ไม่รับ' เรื่องแทน ทำให้เกิดความสับสนในหมู่สนช.สายทหาร กระทั่งมีการงดออกเสียงจำนวนมาก และพ่ายมติไป ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีการอ่านเกมกันไว้ก่อนแล้วว่ากรณี 'สมศักดิ์-นิคม'เป็นแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น
ส่วนการ 'จัดหนัก' ของจริงต้องรอดูวันที่ 12 พ.ย. ที่สนช.มีคิวพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากปมปล่อยทุจริตโครงการจำนำข้าว
และน่าจะโยงไปถึงคำตอบส่วนหนึ่งว่า ทำไมคสช.ยังต้องคา 'กฎอัยการศึก'ไว้ก่อน
หมากเกมการถอดถอน 'สมศักดิ์-นิคม'ถือเป็นก้าวแรกของเป้าหมายที่ใหญ่กว่า
ในอนาคตจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไรแน่นอนว่า สนช.ต้องยอมรับกับสิ่งที่ร่วมกันกระทำลงไป
แต่ที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้เช่นกันก็คือคสช. ในฐานะผู้ให้กำเนิดแม่น้ำทั้ง 5 สาย
ต้องรับผิดชอบเพราะไม่สามารถควบคุมกระแสน้ำให้ไหลไปในทิศทางที่ตนเองกำหนดขึ้นมาได้ ภายใต้หลักการสร้างความสมาน ฉันท์ปรองดอง อันเป็นบันไดขั้นแรกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่หมักหมมมาเป็นเวลานับสิบปี
คสช.เริ่มเอาไม่อยู่ คุมเกมไม่ได้
เพราะในขณะที่ปากท่องคาถาปรองดอง แต่อีกด้านหนึ่งกลับปล่อยให้คู่ขัดแย้ง "ไล่ทุบ" อีกฝ่ายหนึ่งอย่างมันมือ โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่สามารถเข้าไปควบคุมก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใครได้
แต่พอฝ่ายโดนไล่ทุบใกล้สิ้นสุดความอดทน เตรียมลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรม คสช.ก็คำรามว่าจะใช้กฎหมายเข้าดำเนินการจากเบาไปหาหนัก หากจำเป็น ก็ต้องนำเอามาตรา 44 มาใช้ ซึ่งก็ได้ผล กลุ่มเคลื่อนไหวถอยกรูด ไปตามๆ กัน
ถึงกระนั้นร่องรอยการเริ่มคุมเกมไม่อยู่ของคสช. ไม่ได้ปรากฏขึ้นแต่เฉพาะในส่วนของสนช.เท่านั้น
ในสปช.เองยังเคยเกิดกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งใครก็รู้ว่าเป็น "เนติบริกร" สายตรงคสช. เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ
ขอร้องให้ที่ประชุมสปช.เสียสละโควตากรรมาธิการยกร่างฯ 5 จาก 20 ที่นั่งให้กับ "คนนอก" เพื่อให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม แต่กลับได้รับการปฏิเสธแบบ ไร้เยื่อใย สปช.ลงมติยึดไว้เองทั้ง 20 ที่นั่ง
สำหรับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีคนอย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่พก"นกหวีด" มาแต่ไกล
ถามว่าบุคคลเหล่านี้ที่เข้ามามีพื้นที่ในสนช.-สปช. บางคนเคยขึ้นเวทีม็อบกปปส.แสดงจุดยืนทางการเมืองไว้อย่างไร คสช.ในฐานะผู้เคย อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ตอนนั้น ย่อมได้ยินได้ฟัง มาบ้าง
การตัดสินใจดึงเอากลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้ามา เป็นมือไม้ให้ คสช. จะเป็นข้อผิดพลาดใหญ่หลวง ส่งผลให้การสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศต้องล้มเหลวในบั้นปลายท้ายที่สุดหรือไม่
ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. ว่ามองออกแล้วหรือยังว่าการที่ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้
ใครคือตัวปัญหาที่แท้จริง