WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'วีรพัฒน์ ปริยวงศ์'วิเคราะห์ จะเกิดอะไรขึ้น? หากเรายอมให้มีการ“ถอดถอน”ทางการเมือง ย้อนหลัง

วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:58 น. ข่าวสดออนไลน์


'วีรพัฒน์ ปริยวงศ์'วิเคราะห์ จะเกิดอะไรขึ้น? หากเรายอมให้มีการ“ถอดถอน”ทางการเมือง ย้อนหลัง

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
facebook.com/verapat
 
    ผมไม่แน่ใจว่าในโลกใบนี้ มีที่ไหนที่เขาสามารถ ‘ถอดถอน’ นักการเมืองที่ ‘พ้นจากตำแหน่ง’ ไปแล้ว !
 
    สมควรย้ำว่า การ ‘ถอดถอน’ ถือเป็น ‘กระบวนการทางการเมือง’ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบทางการเมือง’
 
    หมายความว่า หากนักการเมืองใดถูกกล่าวหาว่าเขาทำผิดทางการเมือง และถูกยื่นให้ต้องถูกถอดถอน นักการเมืองผู้นั้นก็จะมี ‘ทางเลือก’ หลักอยู่ 2 ทาง คือ
 
   1.หากสำนึกว่าผิดจริง ก็ ‘ลาออก’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หมายถึงยอมรับว่าตนมีส่วนผิดจริง จึงขอพ้นตำแหน่ง เพื่อให้เรื่องยุติในทางการเมือง (ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย)
 
หรือ
    2. หากมั่นใจว่าตนไม่ผิด ก็ ‘ไม่ลาออก’ และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ ‘ถอดถอน’ หากเขามั่นใจว่าเขามีเสียงผู้แทนประชาชนสนับสนุนเขาในทางการเมือง เขาก็ไม่ต้องกลัวอะไร (ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย ไม่ได้เอามาปนกัน)
 
     ด้วยเหตุนี้ การ ‘ถอดถอน’ จึงจำเป็นต้องกระทำในขณะที่นักการเมืองยังอยู่ในตำแหน่ง
 
    ส่วนหากนักการเมืองผู้นั้นทำผิดในทางกฎหมายกล่าวคือ กระทำสิ่งที่มีกฎหมายบัญญัติโทษไว้ชัดเจน เช่น ทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุก ก็สามารถดำเนินคดี ‘ในทางกฎหมาย’ กับนักการเมืองผู้นั้นได้ แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว อันเป็นคนละเรื่องกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบทางการเมือง’
 
    ตรงกันข้าม หากการ ‘ถอดถอน’ ทางการเมืองเป็นกระบวนการที่กระทำย้อนหลัง คือ แม้จะได้ ‘ลาออก’ หรือพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมา ‘ถอดถอน’ กันได้ ผลที่ตามมาก็คือ จะไม่มีนักการเมืองคนใดยอมแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก เพราะถ้ายอมรับผิดแล้วลาออก ก็ยิ่งกลายเป็นยอมรับให้ตัวเองถูกถอดถอน
 
    และในที่สุด ก็จะเกิดวงจรหวงอำนาจ นักการเมืองที่ถูกกล่าวหา ก็จะพยายามรักษาตำแหน่งไว้ เพื่อใช้อำนาจที่เหลือเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่ออยู่ป้องกันไม่ให้มีการถอดถอนหรือร้ายกว่านั้น ก็จะเกิดขั้นตอนการนำการถอดถอนย้อนหลังมาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนทางการเมือง เป็นช่องโหว่ให้เกิดการเจรจาย้อนหลังไม่รู้จบ เปิดช่องให้ทุจริตเพิ่มเติมกว่าเดิม เช่น “ผมจะไม่ถอดถอนคนของท่านย้อนหลัง หากท่านยอมช่วยผม 1 2 3 4 5...”
 
    ด้วยเหตุนี้ การที่สนช. ตีความให้เดินหน้าลงมติถอดถอน อดีตประธาน ส.ส. และ ประธาน ส.ว. ที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว รวมถึงกำลังจะพิจารณากรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น จึงส่งผลเป็นการทำลาย ‘หลักความรับชอบทางการเมือง’ และส่งเสริม ‘วงจรการหวงอำนาจ’ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นการ ‘เปิดช่องเวลาให้ทุจริตมากขึ้นกว่าเดิม’ เสียด้วยซ้ำ
 
    ดังนั้น ต่อไปนี้ หากใครจะบ่นว่า ‘นักการเมืองไทยหน้าด้าน’ ไม่ลาออกเหมือนญี่ปุ่น หรือชอบเล่นพรรคเล่นพวก ก็โปรดอย่าลืมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหา ก็คือ บรรดา ‘คนดี’ ที่จะไปถอดถอนคนอื่นแบบไร้หลักคิดดังที่กล่าวมา ด้วยประการฉะนี้ แล
  
ที่มา มติชนออนไลน์

'สนช.'รับถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'ส่งสัญญาณการเมือง'ปรองดอง'?

วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

 

 
 

  


      เคาะออกมาเป็นที่เรียบร้อยสำหรับมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาวาระเรื่องรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหา นายนิคม ไวยรัชพานิช 

     อดีตประธานวุฒิสภา และกล่าวหา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุม สนช.หรือไม่ เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาด้วยคะแนน 87 ต่อ 75 งดออกเสียง 15 

หลังจากก่อนหน้านั้น สนช.จากสายอดีต 40 ส.ว. กับ สนช.สายทหาร มีความเห็นขัดแย้งกันในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สนช. ว่าจะมีอำนาจในการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคมได้หรือไม่

มติของ "สนช." ที่ออกมาว่า "สนช." มีอำนาจในการถอดถอนคดีนายสมศักดิ์และนายนิคมนั้น ถือว่าผิดความคาดหมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

เพราะก่อนหน้านั้น "สนช." สายทหาร ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับฐานความผิด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้เหตุผลที่จะเอาผิดบุคคลทั้งสองไม่ชัดเจน อีกทั้งจะกระทบต่อการปฏิรูปประเทศตามโรดแมปของ "คสช." 

ส่วนอีกฝ่ายที่มองว่า สนช.มีอำนาจในการถอดถอนได้ อย่าง สนช.สายอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.นั้น มองว่าทั้งนายสมศักดิ์และนายนิคม นอกจากจะผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 พ่วงอีกด้วย 

แต่เมื่อมามองจำนวนเสียงส่วนใหญ่ของ สนช.ที่เห็นว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการถอดถอนนั้น มติ 87 ต่อ 75 งดออกเสียง 15 ถือว่าห่างกันไม่มาก เนื่องจากเมื่อดูจากยอดผู้เข้าประชุมทั้งหมดคือ 177 คน โดยพบว่ามี สนช.ไม่เข้าร่วมประชุมถึง 43 คน จากจำนวน สนช.ทั้งหมด 220 คน 

โดย สนช.ทั้ง 220 คน มีสัดส่วนของทหารสูงถึง 118 คน ตำรวจ 11 คน ส่วน 91 คน จะเป็นกลุ่มอดีต ส.ว. นักวิชาการ ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจ

หากมองกระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ที่จะต้องมีกระบวนการประมาณ 45 วัน ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการถอดถอน โดยจะต้องเปิดให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหามาแถลงชี้แจงยกเหตุผลให้สมาชิก สนช. ได้ตัดสินใจก่อนการลงมติลับเพื่อชี้ขาดการถอดถอน โดยต้องใช้เสียงถอดถอน 3 ใน 5 ของ สนช. หรือจำนวน 132 เสียง จากทั้งหมด 220 เสียง

หากจะมองถึงจำนวนเสียง 132 เสียง เพื่อชี้ขาดการถอดถอนถือว่าไม่มากและไม่น้อย เพราะจำนวนเสียงของฝ่ายทหารและตำรวจหากรวมกันได้เป็นเอกภาพจะมีถึง 129 เสียง และถือเป็นสัดส่วนเสียงส่วนใหญ่ของ สนช.ที่จะชี้ขาดการถอดถอนได้หรือไม่ได้ เพราะการลงคะแนนโหวตการถอดถอนของ สนช.จะใช้วิธีการโหวตลับ เช็กชื่อกันลำบากต่อมติการถอดถอนที่จะออกมา

ยิ่งหากไม่มีการส่งสัญญาณการถอดถอนมาให้ชัดเจนและเป็นเอกภาพในขั้นตอนของการโหวตชี้ขาด 

โอกาสที่ผลการถอดถอนจะออกมาเขย่าคดีถอดถอน

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำลังจะจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของ "สนช." ในอนาคตก็เป็นไปได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!