'วีรพัฒน์ ปริยวงศ์'วิเคราะห์ จะเกิดอะไรขึ้น? หากเรายอมให้มีการ“ถอดถอน”ทางการเมือง ย้อนหลัง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 07 November 2014 12:57
- Published: Friday, 07 November 2014 12:57
- Hits: 4254
วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:58 น. ข่าวสดออนไลน์
'วีรพัฒน์ ปริยวงศ์'วิเคราะห์ จะเกิดอะไรขึ้น? หากเรายอมให้มีการ“ถอดถอน”ทางการเมือง ย้อนหลัง
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
facebook.com/verapat
ผมไม่แน่ใจว่าในโลกใบนี้ มีที่ไหนที่เขาสามารถ ‘ถอดถอน’ นักการเมืองที่ ‘พ้นจากตำแหน่ง’ ไปแล้ว !
สมควรย้ำว่า การ ‘ถอดถอน’ ถือเป็น ‘กระบวนการทางการเมือง’ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบทางการเมือง’
หมายความว่า หากนักการเมืองใดถูกกล่าวหาว่าเขาทำผิดทางการเมือง และถูกยื่นให้ต้องถูกถอดถอน นักการเมืองผู้นั้นก็จะมี ‘ทางเลือก’ หลักอยู่ 2 ทาง คือ
1.หากสำนึกว่าผิดจริง ก็ ‘ลาออก’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หมายถึงยอมรับว่าตนมีส่วนผิดจริง จึงขอพ้นตำแหน่ง เพื่อให้เรื่องยุติในทางการเมือง (ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย)
หรือ
2. หากมั่นใจว่าตนไม่ผิด ก็ ‘ไม่ลาออก’ และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ ‘ถอดถอน’ หากเขามั่นใจว่าเขามีเสียงผู้แทนประชาชนสนับสนุนเขาในทางการเมือง เขาก็ไม่ต้องกลัวอะไร (ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย ไม่ได้เอามาปนกัน)
ด้วยเหตุนี้ การ ‘ถอดถอน’ จึงจำเป็นต้องกระทำในขณะที่นักการเมืองยังอยู่ในตำแหน่ง
ส่วนหากนักการเมืองผู้นั้นทำผิดในทางกฎหมายกล่าวคือ กระทำสิ่งที่มีกฎหมายบัญญัติโทษไว้ชัดเจน เช่น ทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุก ก็สามารถดำเนินคดี ‘ในทางกฎหมาย’ กับนักการเมืองผู้นั้นได้ แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว อันเป็นคนละเรื่องกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบทางการเมือง’
ตรงกันข้าม หากการ ‘ถอดถอน’ ทางการเมืองเป็นกระบวนการที่กระทำย้อนหลัง คือ แม้จะได้ ‘ลาออก’ หรือพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมา ‘ถอดถอน’ กันได้ ผลที่ตามมาก็คือ จะไม่มีนักการเมืองคนใดยอมแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก เพราะถ้ายอมรับผิดแล้วลาออก ก็ยิ่งกลายเป็นยอมรับให้ตัวเองถูกถอดถอน
และในที่สุด ก็จะเกิดวงจรหวงอำนาจ นักการเมืองที่ถูกกล่าวหา ก็จะพยายามรักษาตำแหน่งไว้ เพื่อใช้อำนาจที่เหลือเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่ออยู่ป้องกันไม่ให้มีการถอดถอนหรือร้ายกว่านั้น ก็จะเกิดขั้นตอนการนำการถอดถอนย้อนหลังมาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนทางการเมือง เป็นช่องโหว่ให้เกิดการเจรจาย้อนหลังไม่รู้จบ เปิดช่องให้ทุจริตเพิ่มเติมกว่าเดิม เช่น “ผมจะไม่ถอดถอนคนของท่านย้อนหลัง หากท่านยอมช่วยผม 1 2 3 4 5...”
ด้วยเหตุนี้ การที่สนช. ตีความให้เดินหน้าลงมติถอดถอน อดีตประธาน ส.ส. และ ประธาน ส.ว. ที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว รวมถึงกำลังจะพิจารณากรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น จึงส่งผลเป็นการทำลาย ‘หลักความรับชอบทางการเมือง’ และส่งเสริม ‘วงจรการหวงอำนาจ’ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นการ ‘เปิดช่องเวลาให้ทุจริตมากขึ้นกว่าเดิม’ เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น ต่อไปนี้ หากใครจะบ่นว่า ‘นักการเมืองไทยหน้าด้าน’ ไม่ลาออกเหมือนญี่ปุ่น หรือชอบเล่นพรรคเล่นพวก ก็โปรดอย่าลืมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหา ก็คือ บรรดา ‘คนดี’ ที่จะไปถอดถอนคนอื่นแบบไร้หลักคิดดังที่กล่าวมา ด้วยประการฉะนี้ แล
ที่มา มติชนออนไลน์
'สนช.'รับถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'ส่งสัญญาณการเมือง'ปรองดอง'?
วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557