WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับตา โค้งสุดท้าย จับตา การเมือง ก่อนวันพิพากษา

จับตา โค้งสุดท้าย จับตา การเมือง ก่อนวันพิพากษา




วิเคราะห์

     สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ปฏิทินการเมืองกระชั้นจนใจรู้สึกระทึก

วันที่ 5 พฤษภาคม ม็อบ กปปส. เริ่มต้นเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นำกลุ่มผู้ชุมนุมกระทำสัตยาธิษฐานที่วัดพระแก้ว

ประกาศทวงคืนอำนาจอธิปไตย 

     วันที่ 5 พฤษภาคม วันเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ตั้งเวทีใหญ่ที่ถนนอักษะอีกครั้ง

     คราวนี้ทั้งนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานและเลขาธิการ นปช. ประกาศ "ปราบกบฏ"

    วันที่ 13 พฤษภาคม กปปส. เคลื่อนไหวอีกครั้ง คราวนี้นายสุเทพ นำประชาชนที่สนับสนุนทำบุญเนื่องในวันวิสาขบูชา 

     นายสุเทพ ระบุว่า เป็นการทำบุญประเทศ ก่อนจะถึงวันดีเดย์ วันที่ 14 พฤษภาคม

     วันทวงคืนอำนาจอธิปไตย

     วันนั้นนายสุเทพเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกมา เพราะเป็นการ "รบครั้งสุดท้าย"

ทั้งนี้ นายสุเทพได้สรุปแผนเผด็จศึกรัฐบาลเอาไว้ว่า "วันที่ 5 พฤษภาคม งดรถกระจายเสียงด่าว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 1 วัน เพราะเป็นวันมงคล วันที่ 6 พฤษภาคม หยุดพัก 1 วัน และเริ่มต่อสู้อีกครั้งวันที่ 7-9 พฤษภาคม ต่อด้วยวันที่ 13-14 พฤษภาคม ด้วยการเดินชวนพี่น้องกรุงเทพฯออกมาร่วมต่อสู้กับ กปปส. โดยห้ามคนนำอาวุธมาชุมนุม แต่ใช้จำนวนคนเป็นล้านๆ เพราะเราเป็นพลเมืองดี และจะไม่มีการนัดชุมนุมอีกแล้ว"

พร้อมกับตบท้ายว่า..

      "นัดนี้นัดเดียว รู้แพ้รู้ชนะเลย แล้วจบ ไม่มันจบก็เราจบ" 

      ขณะที่ม็อบที่เวทีแจ้งวัฒนะ พระพุทธะอิสระก็ประกาศเคลื่อนไหวผสมผสานกับ กปปส. โดยกำหนดว่าจะเดินทางไปหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจ

     พระพุทธะอิสระ ให้สัมภาษณ์ว่า วิธีการดังกล่าวเป็นอีก'ทางลง' ให้แก่นายสุเทพ หากนายสุเทพดำเนินการตามวิถีเดิมไม่สำเร็จก็ขอให้หันมาสนับสนุนวิธีการของพระพุทธะอิสระ

       ประเด็นความเคลื่อนไหวนี้ แลดูคล้ายกับจะรุก แต่มองอีกทีก็เหมือนกำลังหาทางจบ

      ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังประชันกำลังกันอยู่นั้น ความเคลื่อนไหวอีกฟากฝั่งก็มีความเข้มข้น

      คดีที่คาดหมายกันว่าจะเป็นคดีชี้เป็น-ตายทางการเมืองกำลังใกล้ชิดตัดสิน 

วันที่ 2 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้ายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องส่งเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญในคดีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี 

    วันที่ 6 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญเรียกพยานมาไต่สวนจำนวน 4 ปาก ในจำนวนนั้นมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็น 1 ใน 4 ปากนั้น เพียงแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาให้ปากคำหรือไม่?

     จังหวะเดียวกัน กระแสข่าวได้สะพัดที่พรรคเพื่อไทยว่า วันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญอาจนัดตัดสิน

     ผลการตัดสินคาดกันว่าจะออกมา 4 แนว คือ 1.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัว แล้วให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต่อไป 2.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่ง และให้คณะรัฐมนตรีชุดที่ย้ายนายถวิล พ้นจากตำแหน่งด้วย 

    คำตัดสินนี้ทำให้รัฐมนตรีที่ไม่ได้ร่วมคณะรัฐมนตรีชุดที่ย้ายนายถวิลอยู่ต่อได้

3.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่ง และให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง

    และ 4.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่ง และยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เพื่อไม่ให้มีใครรักษาการ แล้วใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี 

      ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีหมายนัดประชุมคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี และกล่าวหานายกรัฐมนตรีละเว้นกรณีนโยบายจำนำข้าวในวันที่ 8 พฤษภาคม หรือไม่ก็วันที่ 15 พฤษภาคม 

    หากมติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี 

     ประเด็นหลังจากองค์กรอิสระพิจารณาคดีดังกล่าวจึงอยู่ที่ว่า จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง และจะเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งหรือไม่?

       ขณะนี้บังเกิดข้อเสนอทางออกจากวิกฤตทางการเมืองโดยแบ่งเป็น 1.ข้อเสนอจาก นายสุเทพ ที่ต้องให้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจากการแต่งตั้ง เพื่อปฏิรูปประเทศจนแล้วเสร็จ จึงค่อยเลือกตั้ง 2.ข้อเสนอจากฝ่ายรัฐบาล ที่ต้องให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาก่อน แล้วให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปประเทศ จากนั้นจึงเลือกตั้งใหม่ และ 3.เป็นข้อเสนอที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอ ซึ่งก็มีความโน้มเอียงไปทางการเลือกตั้ง เพียงแต่มีเงื่อนไขสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

      การเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ ที่ออกตัวอาสาชงข้อเสนอครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายผู้สนับสนุนนายสุเทพรู้สึกเคือง เพราะการเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์่ครั้งนี้เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่า การเลือกตั้งคือทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนการเลือกตั้งจะมีเงื่อนไขอะไร ปฏิบัติประการใด เป็นหัวข้อที่หาความคิดเห็นร่วมกัน

     ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้หารือกับรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าร่วม และได้ข้อสรุปว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม โดยฝ่าย กกต.ส่งความเห็นให้ ครม.ทูลเกล้าฯร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในสัปดาห์นี้ 

     คาดว่า ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม พระราชกฤษฎีกาน่าจะมีผลบังคับใช้ จากนั้นกระบวนการรับสมัคร หาเสียง และเลือกตั้งน่าจะขับเคลื่อนไปได้

     จากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ทำให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องจับตาว่าการเลือกตั้ง ซึ่งเป็น'ทางออก'ที่ดีที่สุดนั้น จะมีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษในสถานการณ์พิเศษเช่นปัจจุบันนี้

     และต้องจับตาอีกว่า กลุ่ม กปปส. ที่ชุมนุมมายาวนาน 6 เดือน และประกาศเคลื่อนไหวเป็นนัดสุดท้ายนั้น จะหาทางจบเช่นไร?.....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!