ท่าที ท่วงทำนอง ปฏิกิริยา ในทาง สากล ต่อ ประเทศไทย ปฏิกิริยาโลกต่อรัฐประหารในไทย
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 25 May 2014 08:59
- Published: Sunday, 25 May 2014 08:59
- Hits: 5006
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:46 น. ข่าวสดออนไลน์
ปฏิกิริยาโลกต่อรัฐประหารในไทย
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
หมายเหตุ : รัฐบาลและสื่อมวลชนต่างประเทศจากภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ออกแถลงการณ์และเสนอบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ต่อการรัฐประหารในไทย
นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ในไทยว่า ?วิตกกังวลอย่างยิ่งยวด? ต่อการยึดอำนาจของทหารในไทย และขอวิงวอนให้นำประเทศกลับไปสู่การปกครองในวิถีประชาธิปไตยอันมีรัฐบาลพลเรือนและรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดการเจรจาทุกฝ่ายอย่างครอบคลุมเพื่อจะนำไปสู่หนทางของสันติภาพและความเจริญในระยะยาวในประเทศไทย
นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผมผิดหวังกับการตัดสินใจของทหารไทยที่ระงับรัฐธรรมนูญและยึดการปกครองหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมายาวนาน โดยไม่มีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายสำหรับการรัฐประหารของกองทัพ ครั้งนี้ ขณะที่เราให้คุณค่าต่อความสัมพันธ์อันยาวนานกับคนไทย การกระทำครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตนาเป็นนัยทางด้านลบสำหรับความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกองทัพไทย เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือระหว่างทหารต่อทหาร รวมถึงการซ้อมรบ CARAT ด้วยตามกฎหมายของสหรัฐ
นายแคร์รี่เรียกร้องให้รีบฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนในทันที หวนกลับไปสู่ประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพสื่อมวลชน และจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน
น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงย้ำว่า สหรัฐจะระงับเงินช่วยเหลือรายปีในระดับทวิภาคีก่อน 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 320 ล้านบาท ก่อนจะทบทวนความสัมพันธ์และความช่วยเหลือทางทหารเป็นลำดับต่อไป
ด้าน พันเอกสตีฟ วอร์เรน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือ เพนตากอน แถลงว่า เหตุรัฐประหารครั้งนี้ทำให้สหรัฐต้องทบทวนความช่วยเหลือและความสัมพันธ์ทางทหารต่อไทย รวมไปถึงการซ้อมรบของนาวิกโยธินและทหารเรือราว 700 นาย ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา
ฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ที่สำนักงานในกรุงบรัสเซลส์ว่า อียูติดตามเหตุการณ์ในไทยด้วยความกังวลสูงสุด สิ่งสำคัญที่สุดคือขอให้ไทยกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอันถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว
"ทหารต้องยอมรับและเคารพต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอำนาจพลเรือน เช่นเดียวกับหลักการพื้นฐานของการมีรัฐบาลประชาธิปไตย ขอย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้และครอบ คลุมให้เร็วที่สุดเท่าที่มีความเหมาะสม และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและร่วมทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ" แถลงการณ์อียูระบุ
ด้าน นายวิลเลี่ยม เฮก รมว.ต่างประเทศสหราชอาณาจักร แถลงว่า กังวลอย่างสูงต่อการรัฐประหารในไทย และขอเร่งให้คืนสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตย รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนและเป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิ มนุษยชน
เรามุ่งหวังว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะกำหนดตารางเวลาที่รวดเร็วและชัดเจนสำหรับการเลือกตั้งเพื่อช่วยฟื้นฟูกรอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรหันไปสู่ความรุนแรง การหารืออย่างเปิดกว้างถึงประเด็นทั้งหลายเท่านั้นที่จะทำให้ไทยเดินหน้าต่อไปและมีเสถียรภาพมากขึ้นได้
"เรากำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างระมัดระวังที่สุด ชาวอังกฤษในประเทศไทยหรือที่กำลังคิดจะเดินทางไปควรตรวจดูคำแนะนำของกระทรวงต่างประเทศของ สหราชอาณาจักร ซึ่งจะปรับแก้เป็นระยะเพื่อให้ทันกับสถานการณ์" นายเฮกกล่าว
ด้าน ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส แถลงประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้กลับคืนสู่การใช้หลักรัฐธรรมนูญในทันที พร้อมตระหนัก ถึงความสำคัญในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
นายแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ประณามการตัดสินใจทำรัฐประหารของกองทัพไทย พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพไทยคืนกระบวนการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด
และย้ำว่า ผู้นำกองทัพไทยควรเปิดการเจรจาทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะการปูทางไปสู่ การเลือกตั้ง และต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนชาวไทยว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเสรีภาพของสื่อจะต้องไม่ถูกละเมิด พร้อมเรียกร้องให้ชาวเยอรมันที่อยู่ในไทยติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ
ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก กังวลต่อสถานการณ์ของไทยเช่นกัน นางจูลี บิช็อป รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ในนามรัฐบาล ว่า รัฐบาลออสเตรเลียห่วงใยอย่างมากที่ฝ่ายทหารเข้าควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลในไทย นับเป็นพัฒนาการของสถานการณ์อันน่าเสียใจ
"รัฐบาลออสเตรเลียกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยว กับพัฒนาการของสถานการณ์อันน่าเสียใจนี้ และพิจารณานัยยะที่มีต่อสายสัมพันธ์ระดับรัฐบาลระหว่างประเทศออสเตรเลียและไทย ดิฉันหารือถึงสถานการณ์กับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และจะสื่อความห่วงใยของออสเตรเลียอย่างชัดเจนไปยังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯและผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงแคนเบอร์รา
ออสเตรเลีย และไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอบอุ่นมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี มีความสนใจร่วมกันและความปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน หวังว่าในไทยซึ่งเป็นมิตรประเทศของออสเตรเลียจะพบกับเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีของสังคมอีกครั้งในเร็ววัน" นางบิช็อปกล่าว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีคำเตือนถึงชาวออสเตรเลียที่กำลังเดินทางมาไทยหรืออยู่ในไทยแล้ว ควรระมัดระวังระดับสูงและใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ปฏิบัติตามประกาศเคอร์ฟิวและคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงทุกการประท้วง และสถานที่ประท้วง กิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมขนาดใหญ่
ด้าน นายหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า จีนและไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน รัฐบาลจีนคาดหวังว่าสถานการณ์ภายในไทยจะกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงว่าเสียใจต่อการรัฐประหารในไทย รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว รัฐบาลญี่ปุ่นจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่นในไทย
ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการนองเลือด โดยระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความไม่มั่นคงของไทยจะส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค
ด้านกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียออกแถลงการณ์ระบุ รัฐบาลมาเลเซียขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาหนทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และคาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้
พร้อมประกาศเตือนชาวมาเลเซียให้หลีกเลี่ยงการมาเยือนไทย ส่วนที่พำนักในไทยแล้วให้หลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงเคอร์ฟิว รวมถึงกักตุนน้ำและอาหาร
ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซีย โดย นายมาตรี นาตา เลกาว่า รมว.ต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ระบุ ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และอยู่ภายใต้กฎบัตรอาเซียนซึ่งมีพันธสัญญาในการปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย ทั้งอาเซียนและอินโดนีเซียจะจับตาสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งเรียกร้องให้กองทัพไทยและพลเรือนทำงานร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองและแก้ไขสถานการณ์ของประเทศโดยเร็ว และว่า อินโดนีเซียจะหารือกับพม่า ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อจัดหาความช่วยเหลือทางการเมืองแก่ไทย
ด้านสื่อต่างประเทศรายงานวิเคราะห์ต่อเนื่อง นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีจากอังกฤษ รายงานว่า ประชาธิปไตยกำลังพังพินาศลง รัฐประหารครั้งนี้แรงกว่าเมื่อปี 2549 ณ เวลานั้น กองทัพออกมาขอโทษพร้อมให้คำมั่นจะนำพาประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว แต่ครั้งนี้ยังไม่มีคำสัญญาเช่นนั้น กลับควบคุมด่านชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำกลุ่มต่อต้านหลบหนี
และระบุว่า ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจะทำอะไร แต่เชื่อว่ามีเหตุผลที่จะกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นิตยสารไทม์ระบุว่า ประเทศไทยกำลังทำลายศักยภาพของตนเองและตกอยู่ในสภาวะที่ปกคลุมไปด้วยความวุ่นวาย หลังจากการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยืดเยื้อมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ผู้ประท้วงทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงออกมาชุมนุม และศาลรัฐธรรมนูญขับไล่รัฐบาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จนทหารเข้ายึดอำนาจในที่สุด เหตุรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 700 คน และยังทำลายจุดแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ
การไร้เสถียรภาพและรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 2.1 ขณะที่การลงทุน การบริโภคและการอุดหนุนเงินจากภาครัฐลดลง มีการระงับการลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
ไทม์ ระบุอีกว่า หากไทยไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ในเร็วๆ นี้ บริษัทวิจัย แคปิตอล อีโคโนมิกส์ อาจปรับเป้าจีดีพีของไทยให้อยู่ที่ราวร้อยละ 1 เนื่องจากการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร เพียงแต่รับประกันความสงบเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น และไม่ได้ยืนยันว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก
อัลจาซีราสัมภาษณ์ นายเดวิด สเตร็กฟัซ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากจ.ขอนแก่น มองว่ามีความพยายามที่จะทำลายความตั้งใจของกลุ่มคนเสื้อแดงและรัฐบาล เพื่อสิ่งต่างๆ จะได้เดินไปตามแนวทางของ กลุ่มกปปส.
แต่ ศาสตราจารย์พอล แชมเบอร์ส จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นต่างว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะยังไม่ตอบโต้ เนื่องจากฝ่ายกองทัพยังคงมีอำนาจเหนือกว่า และสถานะของคนเสื้อแดงในช่วงนี้ยังไม่แข็งแกร่ง
แต่ในอนาคตเมื่อประชาชนโกรธแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น การทำรัฐประหารอาจยิ่งทำให้พลังของประชาชนแข็งแกร่ง ขณะที่การรัฐประหารเป็นความพยายามที่จะทำให้การกลับเข้าสู่อำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นสิ่งที่ยุติธรรม
การทำลายประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนมากนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่โกรธแค้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ด้านซีเอ็นเอ็นรายงานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยหลังเกิดเหตุรัฐประหาร นักท่องเที่ยวที่มีเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศในช่วงเวลา 22.00-05.00 น. ยังสามารถเดินทางได้ สนามบินยังคงให้บริการตามปกติและมีรถรับส่งช่วงเคอร์ฟิว
สถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาไทย ให้ตรวจสอบข้อมูลจากสถานทูตประเทศตนก่อนเดินทาง และขอให้พกหนังสือเดินทางติดตัวตลอดเวลา
และรายงานอีกว่า คณะรัฐประหารตรวจสอบสื่อโซเชี่ยลมีเดียเพื่อป้องกันเนื้อหาที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และสั่งห้ามการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ทำให้หลายคนหันไปติดตามข่าวจากสื่อ เช่น ทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้น
เอพีรายงานว่า การก่อรัฐประหารส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย จากเดิมที่ไทยเป็นประเทศชั้นนำเรื่องรายได้และคุณภาพชีวิต และเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ในเอเชีย มีมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ราว 3.66 แสนล้านดอลลาร์ 10.98 ล้านล้านบาท
ตั้งแต่เกิดความไม่สงบทางการเมือง เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสแรก มูลค่าตลาดหุ้นและค่าเงินได้รับผลกระทบ ขณะที่มูดี้ส์ประเมินว่า เศรษฐกิจของไทยปีนี้น่าจะโตได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 หรืออาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในระยะยาวความไม่มั่นคงทางการเมืองจะยิ่งทำให้ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในการแข่งขันกันเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การลงทุนในอาเซียน….
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์ ท่าที ท่วงทำนอง ปฏิกิริยา ในทาง สากล ต่อ ประเทศไทย การคว่ำร่างพ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเป็นอย่างสูง สำคัญ 1 ทำให้แผนกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทยุติลง สำคัญ 1 ทำให้โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งผ่านรถไฟอันมีมาตั้งแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังถูก แช่แข็ง ไว้เหมือนเดิม แช่แข็งเพื่อรอให้ ถนนลูกรัง หมดสิ้นไปเสียก่อน ความคิดในการทำหมันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ อาจมาจากการไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาในแบบของพรรคเพื่อไทย บนพื้นฐานความไม่มั่นใจในความสุจริต โปร่งใสอย่างเพียงพอ แต่ผลสะเทือนนั้นสะท้อนให้เห็นอคติและความคับแคบซึ่งดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งในทางความคิดภายในสังคมไทย เป็นความคิด ปิดตัวเอง เป็นความคิดแบบ แช่แข็ง ความคิดในท่วงทำนองเช่นนี้เมื่อสัมผัสกับ ปฏิกิริยา ในทางสากลของนานาชาติ ต่อกระบวนการทางการเมืองภายในประเทศก็เห็นลักษณะที่คล้องคล้อยและใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ปฏิกิริยา ต่อ กฎอัยการศึก อย่างเช่น ปฏิกิริยา ต่อ การรัฐประหาร ไม่ว่าจะมาจากองค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะมาจากสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะมาจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะมาจากจีน ไม่ว่าจะมาจากญี่ปุ่น ก่อให้เกิดภาวะ หงุดหงิด และไม่สบอารมณ์ เมื่อหงุดหงิดและไม่สบอารมณ์มากขึ้น รุนแรงขึ้น ก็นำไปสู่ความคิดที่ปิดตัวเองและมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรับรู้หรือใส่ใจกับ ปฏิกิริยา เหล่านั้นอย่างเพียงพอ ความคิดทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การโดดเดี่ยวตัวเองได้ในที่สุด ตอนที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แห่งองค์การพิทักษ์สยาม เสนอให้ แช่แข็ง ประเทศไทยเอาไว้ระยะหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกวิตก รู้สึกกังวลว่าความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากนำเอาความเป็นจริงที่มีการต้านไม่ให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเกิดขึ้น มาประสานกับความหงุดหงิดไม่พอใจต่อ ปฏิกิริยา ของนานาชาติต่อรัฐประหารที่กำลังคุกรุ่น ก็สามารถทำความเข้าใจใน กระบวนการ ทางความคิดได้ไม่ยาก ทาง 1 มีความภูมิใจในความเป็นชาติอันเก่าแก่ยาวนานตั้งแต่ยุคสุโขทัย ทาง 1 เมื่อเห็นปัญหาอันเนื่องแต่กระบวนการพัฒนาในทางวัตถุก็นำไปสู่การต่อต้าน และ ย้อนคืน อดีตอันรุ่งโรจน์ของ สยาม ให้หวนคืนมา ความเป็นจริงของโลกในศตวรรษที่ 21 อนุญาตให้ประเทศใดประเทศหนึ่งปิดกั้นตัวเองได้หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้สามารถเห็นได้จากกรณีของพม่า ซึ่งเคยปกครองโดยทหารและปิดตัวเองจากนานาชาติ แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องเปิดตัวเอง เปิดประตูให้กับการพัฒนาจากนานาชาติ ปฏิกิริยา จากนานาชาติ จำเป็นต้อง รับฟัง แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม |
|
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:51 น. ข่าวสดออนไลน์ สัมพันธ์สหรัฐ-ไทย ท่าทีในห้วงรัฐประหารสกู๊ปพิเศษ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเมืองของประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่รัฐธรรมนูญโดยพลเรือน และตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ด้านสหรัฐอเมริกา พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคออกตัวแรงที่สุด เมื่อแสดงท่าทีผิดหวังและเป็นห่วงกรณีการควบคุมตัวนักการเมือง การปิดสื่อ รวมถึงระงับใช้รัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ของ นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย สหรัฐขอเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่รัฐบาลพลเรือน ประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทันที จากนั้นนักข่าวจึงขอให้เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยกับอียิปต์ แต่ซากีปฏิเสธ โดยระบุว่าจะไม่วิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละประเทศ แต่จะดูเป็นรายสถานการณ์ไป เพราะบริบทไม่เหมือนกัน
จากนั้นโฆษกต่างประเทศกล่าวว่า เบื้องต้นสหรัฐคงจะระงับความสัมพันธ์ด้านการทหาร และความช่วยเหลือระดับทวิภาคีกับไทยซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานที่จะเกิดขึ้น เมื่อถามถึงคำเตือนที่มีต่อชาวอเมริกันในประเทศไทย โฆษกหญิงกล่าวว่า สถานทูตมีแถลงการณ์ฉุกเฉินเตือนพลเมืองอเมริกันอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนปฏิบัติมาตรฐาน แต่ยังไม่มีคำแนะนำให้เดินทางออกจากประเทศไทย เพียงแต่ขอให้ติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ซึ่งสหรัฐทบทวนสถานการณ์ความมั่นคงของทุกประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว จากนั้นผู้สื่อข่าวอีกคนชื่อ นิโคลัส ถามว่า ประหลาดใจไหมกับการตัดสินใจของทหารไทยที่ก่อรัฐประหาร เพราะจากการที่โฆษกหญิงเปิดเผยว่าได้หารือกับกองทัพไทยไปแล้ว และดูจากความสัมพันธ์อันดีกับไทย และกองทัพไทยในทางประวัติศาสตร์ สหรัฐไม่ได้แนะนำหรือว่า นี่ไม่ใช่แนวคิดที่ดี ซากีตอบว่า ตนเองไม่ได้สังเกตเห็นสัญญาณใดๆ และไม่ได้ถามประเด็นที่เฉพาะเจาะจง สหรัฐเพียงแต่โทรศัพท์ถึงเจ้าหน้าที่ทหารไทยเพื่อขอให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยพลเรือนในทันที และขณะนี้กำลังพยายามติดต่อกับผู้นำเหล่าทัพของไทยอยู่ ส่วนหน้าที่ติดต่ออยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหม ต่อข้อถามว่ามีการติดต่อกับรัฐบาลพลเรือนชุดก่อนหรือไม่ ซากีกล่าวว่ามีการติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง แต่สหรัฐกำลังพยายามรักษาการติดต่อกับรัฐบาลพลเรือนชุดรักษาการเอาไว้ จากนั้นเมื่อถามถึงประเด็นที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนวิตกกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย สหรัฐได้หารือกับชาติอาเซียนหรือไม่ทั้งเรื่องไทย และเรื่องที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ รวมถึงอนาคตจะเป็นอย่างไร โฆษกกล่าวว่าสหรัฐยังคงติดต่อใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ในวันถัดมา น.ส.มารี ฮาร์ฟ โฆษกอีกคนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทยในเบื้องต้น 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 112 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กำลังทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีต่อไทยมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 224 ล้านบาท และความช่วยเหลือผ่านโครงการระดับสากลและระดับภูมิภาค รวมถึงความช่วยเหลือต่ออาเซียนเป็นลำดับต่อไป
สำหรับโครงการที่ระงับไปแล้วได้แก่ โครงการการเงินด้านการทหารต่างประเทศที่ให้ทุนสำหรับการซื้ออาวุธ โครงการอบรมและให้การศึกษาด้านการทหารระหว่างประเทศแก่เจ้าหน้าที่
ด้าน พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน เผยว่าพล.อ.เรย์ โอเดียร์โน เสนาธิการทหารสูงสุดกองทัพบกสหรัฐ โทรศัพท์สายตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อย้ำว่าสหรัฐคาดหวังว่าจะเห็นกระบวนการประชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เออร์นี บาวเวอร์ นักวิเคราะห์ประจำศูนย์ศึกษาความสัมพันธ์และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ฝ่ายที่ถูกโค่นอำนาจอาจมองว่า การแซงก์ชั่นไทยเป็นมาตรการที่ยังไม่ดุดันพอ แต่สหรัฐต้องคิดหนัก เพราะการตัดความช่วยเหลืออาจทำให้เสียท่าให้จีน ซึ่งมีโครงการอบรมทหารและอื่นๆ สนับสนุนไทยอยู่
"เรื่องนี้สำคัญเพราะว่าจีนมีพลังและการลงทุนมหาศาลในไทย คุณอาจเสียพันธมิตรรายนี้ไป หรือถ้าไม่ถึงกับเสียพันธมิตร ก็อาจ เสียมิตรภาพที่เป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียนได้" นักวิเคราะห์ ชาวอเมริกันกล่าว |
|