รัฐประหาร-อัยการศึก ไทยและภูมิภาคอาเซียน
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Saturday, 24 May 2014 15:28
- Published: Saturday, 24 May 2014 15:28
- Hits: 4477
รัฐประหาร-อัยการศึก ไทยและภูมิภาคอาเซียน
คอลัมน์ ข่าวสดอาเซียน
วันที่ 22 พ.ค. ประธานาธิบดี เบนิกโน อคีโน ผู้นำฟิลิปปินส์ กล่าวเปิดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อระดมความคิดความร่วมมือสร้างความมั่งคั่งและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ชาติสมาชิกชาติอาเซียน และเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ ยังหารือกัยถึงนโยบายด้านแรงงาน และนำปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคมมาถกเถียงกัน
ผู้จัดระบุว่างานดังกล่าวเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้นำฝ่ายรัฐบาลและธุรกิจมาพบปะพูดคุยกันก่อนที่จะถึงการเปิดประชาคมอาเซียน
วันเดียวกันนี้ที่ประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แถลงออกโทรทัศน์ประกาศยึดอำนาจการปกครอง
ต่อเนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พ.ค.
อันเป็นกฎหมายที่สื่อต่างประเทศล้วนนำเสนอว่าเป็น "กฎหมายร้อยปี" เนื่องจากเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2457
ในประเทศไทยมีใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ยุคนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบ จากนั้นในปี 2549 พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในตอนนั้น ประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อเนื่องจากการรัฐประหาร
ส่วนครั้งนี้ เฉพาะในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน 2 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียประกาศเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังการเดินทางมายังไทย
ขณะที่รัฐบาลชาติอื่น รวมถึงสหประชาชาติพยายามออกแถลง การณ์ทัดทานการรัฐประหารมาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา
ภาพที่ออกไปนี้ นานาประเทศจะมองไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างไรนั้น คงประเมินได้ไม่ยาก
การรัฐประหารประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในช่วงสิบปีหลังมานี้ไม่ปรากฏที่ประเทศใด นอกจากประเทศไทย
ส่วนการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วเช่นกัน
ฟิลิปปินส์ เคยประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2487 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง เพื่อปูทางสู่การประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในวันที่ 23 ก.ค. 2487
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ.2515-2524 ในยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการเพื่อยับยั้งความขัดแย้งอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชน และเพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ ภายหลังจากเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้งในประเทศ รวมถึงกรณีความพยายามลอบสังหาร นายฆวน ปอนเซ่ เอ็นริเล รมว.กลาโหม ซึ่งในภายหลังถูกเปิดเผยว่าเป็นการจัดฉากโดยรัฐบาล
ช่วงแรกของการประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งที่ 2 นั้น ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จากประชาชนในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารอย่างมากมาย ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารวุฒิสมาชิกเบนิกโน อคีโน จูเนียร์ ในปี 2526 และการทุจริตเลือกตั้งอย่างมโหฬาร ในปี 2529 จึงนำมาซึ่งการยกเลิกกฎอัยการศึกและเกิดการปฏิวัติโดยประชาชนในปีเดียวกัน จนอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสต้องลี้ภัย
ครั้งสุดท้ายที่ฟิลิปปินส์ประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่คือเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2552 ประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ต้องการส่งกองทัพฟิลิปปินส์บุกยึดคลังอาวุธของกลุ่มตระกูล อัมปาตวน ผู้ก่อเหตุสังหารหมู่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวรวม 58 ศพ
ด้านอินโดนีเซีย มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วยกัน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2500 โดย พลเอกอับดุล แฮร์ริส นาซู นาซูติออน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น ต้องการขยายอำนาจกองทัพ จึงประกาศใช้กฎอัยการศึก สั่งจับนักการเมืองหลายคนโดยอ้างว่า กระทำผิดฐานคอร์รัปชั่น พร้อมสั่งให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย(พีเคไอ) ซึ่งสนับสนุนการปกครองของรัฐบาลซูการ์โนตามแนวทางวางแผนปฏิรูประบบการเมืองของประเทศเสียใหม่ ในชื่อ "ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ" ที่ระบุว่าเหมาะสมกว่าประชาธิปไตยของชาติตะวันตก
หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เพียง 8 ปี อินโดนีเซียมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อมีความพยายามก่อการรัฐประหาร แต่ล้มเหลวเพราะ นายพลซูฮาร์โต นำกำลังเข้าปราบปราม และยึดอำนาจจากนายซูการ์โนในที่สุด
อินโดนีเซียประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้งในปี 2546 ที่จังหวัด อาเจะห์ ทางเหนือของเกาะสุมาตรา ด้วยรัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี อ้างว่าการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนล้มเหลวไม่เป็นท่า และฝ่ายกบฏอาจก่อเหตุรุนแรงจนเป็นภัยต่อประเทศชาติ
กระทั่งเกิดเหตุสึนามิถล่มภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดียในปี 2547 สร้างความสูญเสียไปทั่วโดยเฉพาะที่อาเจะห์ เป็นตัวเร่งให้การเจรจาสันติภาพบรรลุผลในปีถัดมา และยกเลิกกฎอัยการศึกในเวลาต่อมา
สำหรับไทย หลังการรัฐประหารจะลงเอยอย่างไรยังไม่มีใครรู้....
รัฐประหาร
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 บทนำมติชน
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงยืดเยื้อ ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติมานานหลายเดือน มาถึงจุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตามเหตุผล
เพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 1 นั้น การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ นอกจากเป็นความจำเป็น ต้องให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วแล้ว ยังมุ่งหมายให้ประชาชนในชาติ เกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคม ที่ฝ่ายกองทัพให้ไว้กับประชาชน ในอันที่จะใช้การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองนี้ เข้ามาจัดระเบียบ วางรากฐานใหม่ของสังคมต่อไป
การรัฐประหารทุกครั้ง นำมาซึ่งความตระหนกตกใจของทุกฝ่ายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ได้รับการจับตามอง และมักมีท่าทีอย่างเป็นพิเศษจากนานาประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงเจตนารมณ์ บอกกล่าวโดยตรงกับประชาชนในประเทศ ขณะเดียวกันก็ย่อมเป็นการสื่อสารกับชาติต่างๆ ให้ได้รับรู้ถึงเหตุผล ความจำเป็น รวมถึงเป้าหมายการนำความสงบสุข กลับมาสู่ประเทศ การสื่อสารทำความเข้าใจในทุกระดับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้บอกกล่าวว่า จะมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่แถลงไว้เป็นจังหวะขั้นตอนอย่างไร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องนำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือสู่ระบบที่เป็นที่ยอมรับโดยเร็วที่สุด ตามที่ได้ประกาศเอาไว้เป็นคำมั่นสัญญา