จับกระแส สปช. โหวตปธ.-แบ่งโควต้า กมธ. โจทย์ใหญ่ ล็อกสเปก รธน. นาฬิกาบอกเวลาสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มนับถอยหลังทันที
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 26 October 2014 13:40
- Published: Sunday, 26 October 2014 13:40
- Hits: 3775
จับกระแส สปช. โหวตปธ.-แบ่งโควต้า กมธ. โจทย์ใหญ่ ล็อกสเปก รธน. นาฬิกาบอกเวลาสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มนับถอยหลังทันที เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาตินัดประชุมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติไว้เช่นนั้น
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สปช.ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 1 ขยายความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเอาไว้ได้อย่างกระชับ
นายบวรศักดิ์อธิบายว่า ตามกรอบเวลาที่กฎหมายบังคับ กำหนดให้วันที่ 4 พฤศจิกายน ได้ตัวคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดต้องมารับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการศึกษาการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 ด้านภายในเดือนธันวาคม
หลังจากนั้นกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน ซึ่งประมาณเดือนเมษายน 2558 ต้องเสร็จ
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สปช. เสนอความคิดเห็นในเดือนกรกฎาคม 2558
ดูสิว่า คสช. ครม. สนช.และ สปช. จะเสนอแก้ไขหรือไม่
และสุดท้ายคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2558
ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถยกร่างฯได้ตามกำหนดก็มีอันต้องยุติบทบาท เพื่อให้เลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการ
แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านตามกำหนดเวลา ทั้งกรรมาธิการยกร่างฯและ สปช.ก็ต้องยุติบทบาทและเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่
ดังนั้น การบริหารจัดการเพื่อให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
เริ่มตั้งแต่การหาสัดส่วนผู้ที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ส่อเค้าปั่นป่วนกันแล้ว
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ระบุให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาจาก สปช.เลือก 20 คน มาจาก คสช. ครม. และ สนช. เลือกแห่งละ 5 คน รวมกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่ง คสช.เป็นผู้เสนออีก 1 คน รวม 36 คน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คนนี้จะทำหน้าที่ร่างกฎกติกาของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากคำปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์ของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. นายบวรศักดิ์ รองประธานคนที่ 1 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะได้รับการผลักดันจาก คสช.ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย และ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานคนที่ 2 ต่างมีเป้าหมายต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญ
วิป สปช.จึงได้กำหนดสัดส่วนตัวแทนของ สปช. 20 คน ที่จะไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯว่า ให้มาจาก สปช.จังหวัด ภาคละ 1 คน รวม 4 คน ให้มาจาก สปช. 11 ด้าน จำนวน 11 คน และให้มาจากคนนอก 5 คน
รวมทั้งสิ้น 20 คนพอดี
หากแต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวออกไป ได้มีกระแสเสียงจาก สปช. คัดค้าน เพราะไม่เห็นด้วยที่ สปช.จะต้องสละเก้าอี้ในคณะกรรมาธิการยกร่างฯไปให้คนนอก
เกิดเป็นคลื่นเล็กๆ ที่กระเพื่อมอยู่ภายใน สปช.
คลื่นเช่นนี้มีเค้ามาตั้งแต่วันเลือกตั้งประธานและรองประธาน สปช.แล้ว เมื่อปรากฏกระแสข่าวว่าแต่ละตำแหน่งที่มีตัวเต็ง จะมีผู้คอยเสนอชื่อประกบชิง
ดังนั้น ในวันที่่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นการประชุม สปช.นัดแรก และมีวาระการเลือกประธานและรองประธาน สปช. จึงปรากฏผู้เสนอชื่อคู่ชิงตัวเต็ง
มีผู้เสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร ชิงกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ในตำแหน่งประธาน สปช. แต่นายอลงกรณ์ขอถอนตัว
มีผู้จะเสนอชื่อนายพลเดช ปิ่นประทีป ชิงกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในตำแหน่งรองประธาน คนที่ 1 แต่ในที่สุดก็ไม่มีผู้เสนอชื่อ
มีผู้เสนอชื่อนายประชา เตรัตน์ ชิงกับ น.ส.ทัศนา บุญทอง ในตำแหน่งรองประธาน คนที่ 2 ซึ่งผลการลงคะแนนเลือก ปรากฏว่า น.ส.ทัศนาได้รับเลือกให้เป็นรองประธาน คนที่ 2 ด้วยคะแนน 151 ต่อ 88
แม้ในจำนวน 88 เสียงจะมองว่า นายประชาแพ้เยอะ แต่ 88 เสียงที่สนับสนุนนายประชาก็ส่งนัยทางการเมืองเรื่องความพยายาม "เห็นต่าง" จากโผหรือโพย
เป็นสัญญาณที่ส่งจาก สปช.สายต่างจังหวัด
ทั้งความคิดเห็นเรื่องโควต้ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ สปช. และความเห็นเรื่องบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานหรือรองประธาน สปช. คือ พฤติกรรมปกติของมนุษย์ ซึ่งต้องมีผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่าง
นี่เป็นเพียงแค่ 250 คน ในสภาปฏิรูปแห่งชาติเท่านั้น และเป็นเพียงบางข้อบางประเด็นที่ต้องแสดงความคิดเห็น
แต่เพียงเท่าที่ปรากฏก็พอสะท้อนให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีผู้ต้องปฏิบัติในอนาคตกว่า 60 ล้านคน และมีประเด็นที่ต้องสอบถามความคิดเห็นจำนวนมาก
แต่ละคนแต่ละข้อจะปรากฏผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่างมากมายขนาดไหน
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการบ้านให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึง นับตั้งแต่ คสช. ครม. สนช. และ สปช. ที่มีหน้าที่เลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าสมควรจะกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ ในฐานะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญกันเช่นไร
นอกจากนี้ ยังเป็นการบ้านให้ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า สมควรจะเชื่อมโยงประเด็นในรัฐธรรมนูญกับประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคน อย่างไร
แม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังจะมีขึ้น จะถูกมองว่ามีพิมพ์เขียวมาแล้ว และแม้จะมองเห็นได้ชัดว่ามาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้วางแนวการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เดินไปได้ในพื้นที่ที่แคบกว่าการร่างรัฐธรรมนูฐฉบับใดๆ ของประเทศไทย
แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกคนทุกประเด็นย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและคนเห็นต่าง
ดังนั้น แม้ในความคิดอาจจะความเห็น "ล็อกสเปก" รัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สปช. ก็พอสะท้อนภาพของสังคมไทยให้เห็นว่า คงไม่ปล่อยให้เกิดการล็อกสเปกรัฐธรรมนูญกันง่ายๆ