วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
จังหวะ การเมือง จับตา รัฐธรรมนูญ 2558 บทบาท 'สปช.'
ความเห็น “ต่าง” ในเรื่องกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันมาจากสมาชิกสปช. อาจเป็นเรื่องแปลกในยุครัฐประหาร แต่ก็ธรรมดาอย่างยิ่งในกระบวนการประชา ธิปไตย หากยอมรับใน “ความต่าง” ระหว่างคนที่เห็น “ต่าง” ถามว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน มีความเป็นมาในทางการเมืองอย่างไร นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง มีความเป็นมาในทางการเมืองอย่างไร คนแรกแติบโตในสาย “แต่งตั้ง” คนหลังเติบโตในสาย “เลือกตั้ง” คนแรกเคลื่อนไหวอยู่ในส่วนกลาง เคยร่วมปราศรัยกับกปปส.และอยู่ในส.ว.กลุ่ม 40 ขณะที่คนหลังเคลื่อนไหวในกระบวนการการเมืองท้องถิ่น ใกล้ชิดกับชาวบ้านระดับรากหญ้า รากฐานการดำรงอยู่ต่างกัน ความคิดย่อมต่างกัน รากฐานการทำงานทางการเมืองต่างกัน ความคิดทางการเมืองย่อมต่างกัน ธรรมดาอย่างยิ่ง ปกติอย่างยิ่ง
แล้วอะไรเล่าคือความเห็น “ต่าง” ของสมาชิกสปช.อันมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน กับ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง เป็นตัวแทน ต่างตรงที่ฝ่าย “หลัง” ต้องการ “กระจาย” ต่างตรงที่ฝ่าย “แรก” ต้องการรวบ แม้กระทั่งจำนวนกรรมาธิการยกร่าง 20 คนก็จะให้เป็นของสมาชิกสปช.ทั้งหมด ไม่ยอมให้ “คนนอก” เข้ามามี “ส่วนร่วม” ตรงกันข้าม นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง เห็นว่าจำนวน 5 จากทั้งหมด 20 น่าจะเปิดกว้างให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ไม่มีคนของตนอยู่ในสปช.อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาเป็นกรรมาธิการ เพื่อให้ “รัฐธรรมนูญ” ดำเนินไปในลักษณะ “ตัวแทน”
การถกเถียงเหล่านี้เป็นสีสัน สร้างความวิจิตรสดสวยให้กับกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยก่อนมีรัฐธรรมนูญ ก่อนมีการเลือกตั้ง แต่ก็เหมือนอย่างที่หลายคนรับรู้กับ “สนช.” มาถึง “สปช.” นั่นก็คือ การดำเนินการทุกอย่างมีรากฐานมาจากการรัฐประหาร อำนาจอยู่ในมือของคสช.และทิศทางของคสช.ก็ กำหนดไว้อย่างค่อนข้างเด่นชัด เด่นชัดผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 รัฐธรรมนูญอัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีส่วนร่วมร่างกับ นายวิษณุ เครืองาม และ นายพรเพชร วิชิตชลชัย อย่างชนิดมาตราต่อมาตรา และมาตรา 35 ก็กำหนด “พิมพ์เขียว” ไว้ชัดเจน บทบาทของ “สนช.” บทบาทของ “สปช.” จึงน่าจับตามองอย่างเกาะติดว่าจะดำเนินไปอย่างไร ความน่าตื่นเต้นมิได้อยู่ที่ว่าสนช.และสปช.ดำเนินไปตามพิมพ์เขียวของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ว่าจะดำเนินไปอย่างไรจึงจะได้คำตอบเป็นที่พอใจของหลายๆ ฝ่ายประกอบกัน เดือนตุลาคม 2558 คือ สถานีสุดท้ายของ “คำตอบ”
|