การปฏิเสธไม่ส่งคนเข้าร่วม "สภาปฏิรูปแห่งชาติ" (สปช.) ของพรรคเพื่อไทย ของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรูปการ 1 ของการต่อสู้
เหตุใดจึงสรุปว่าเป็น "การต่อสู้"
ทั้งๆ ที่มติอันมาจากพรรคเพื่อไทย มติอันมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา เท่ากับเป็นการถอย กระนั้น ภายในการถอยนี้ก็สะท้อนลักษณะ "รุก"
ถามว่าเหตุผลอะไรที่พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนาไม่เข้าร่วม
คำตอบ 1 เพราะว่าก่อนเกิดการรัฐประหาร ก่อนเกิดการปฏิรูป หัวใจหลักของการปลุกระดมอันมาจาก"กปปส." คือ การต่อต้าน "นักการเมือง"
คือการชี้นิ้วกล่าวหาว่านักการเมือง คือรากเหง้าแห่งปัญหา
คำตอบ 1 การแสดงออกผ่านมติของพรรคเพื่อไทย มติของพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเท่ากับเป็นการยอมรับ
ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ในการปฏิรูป
ไม่ว่าจะเป็นคนอันมาจาก คสช. ไม่ว่าจะเป็นคนอันมาจาก กปปส. ไม่ว่าจะเป็นคนอันมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
พร้อม "รอคอย" และยอมรับ "ปฏิรูป"
ทั้งๆ ที่การแสดงออกเช่นนี้ของพรรคเพื่อไทยและของพรรคชาติไทยพัฒนาเท่ากับเป็นการยอมจำนนไม่ต่อสู้
ทั้งๆ ที่เรื่อง "การเมือง" น่าจะเป็นภาระของ "พรรคการเมือง"
แล้วเหตุใดมติอันเป็นการถอย อันสะท้อนออกประหนึ่งว่าเป็นการยอมจำนนเช่นนี้เท่ากับเป็นการรุกไปในขณะเดียวกัน
เรียกตามศัพท์ทหารก็ต้องว่า "รุกในทางยุทธศาสตร์"
มองจากพรรคเพื่อไทย มองจากพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคการเมืองเหล่านี้มี "บทเรียน" มาแล้วอย่างสมบูรณ์
พรรคชาติไทยพัฒนามีคนอย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา
สู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 เป็นตั้งแต่สมาชิกพรรคธรรมดากระทั่งทะยานสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค หัวหน้าพรรค และอยู่ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค
พรรคเพื่อไทยก็ต่อยอดมาจากพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย
ตอนที่เป็นพรรคไทยรักไทย ก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 และประสบชัยชนะมาอย่างงดงามในการเลือกตั้ง ไม่ว่าเมื่อปี 2544 ไม่ว่าเมื่อปี 2550 ไม่ว่าเมื่อปี 2554
แล้วมีอะไรจะต้อง "พรั่นพรึง"
ฉากแรกของ สปช.ที่เปิดออกมา บรรดาเกจิทางการเมืองล้วนนำเสนอ "แนวคิด" ของตนด้วยความคึกคัก
บ้างก็จะนำระบบ "กึ่ง" ประธานาธิบดีเข้ามา
บ้างก็ประกาศที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อ "กีดกัน" นักการเมืองบางคน บางพรรคให้ออกไปนอกวงจรทางการเมือง
เหมือนที่รัฐประหาร 2549 เคยทำกับพรรคไทยรักไทย
เหมือนที่รัฐธรรมนูญ 2550 เคยทำกับพรรคพลังประชาชนและรุกไล่พรรคเพื่อไทยรวมถึงพันธมิตรอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา
แล้วผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร
เป็นความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชาชนอย่างนั้นหรือ เป็นความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยอย่างนั้นหรือ ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็เห็นอย่างเด่นชัด ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก็เห็นอย่างเด่นชัด
แล้วการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2558 จะเป็นอย่างไร
ยิ่งพรรคเพื่อไทยสงบนิ่ง ยิ่งพรรคชาติไทยพัฒนาสงบนิ่ง ยิ่งทำให้ฝ่ายที่จ้องจะห้ำหั่นสำแดงอาการออกมา
เป็นอาการ "ไหวหวั่น" ระคน "ความกลัว"
ทั้งหมดนี้คือฤทธานุภาพแห่งการนิ่ง ทั้งหมดนี้คือฤทธานุภาพแห่งการถอย "ถอยทางยุทธศาสตร์"
ความหมายของถอยในทางยุทธศาสตร์ เหมือนกับเป็นการถอย แต่ภายในการถอยนั้นดำเนินไปอย่างเป็นฝ่ายกระทำ ดำเนินไปอย่างรู้ในวิถีและความเป็นจริง
ตรงนี้เองทำให้ "ถอย" ดำเนินไปอย่าง "รุก".............