รายชื่อ "ว่าที่" สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แพร่กระจายอยู่ตามสื่อเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา
สำหรับคนจำนวนไม่น้อยแล้ว มิใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
เมื่อมี "คนหน้าเดิม" ตบเท้ากันเข้ามาเป็นทิวแถว
อาทิ
ด้านการเมือง-นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายดำรงค์ พิเดช นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายชัย ชิดชอบ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชูชัย ศุภวงศ์
ด้านการศึกษา-นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ พล.ท.พอพล มณีรินทร์ นายกมล รอดคล้าย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นางประภาภัทร นิยม นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายมีชัย วีระไวทยะ นางทิชา ณ นคร นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม-นายอุดม เฟื่องฟุ้ง พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายเสรี สุวรรณภานนท์ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร
ด้านเศรษฐกิจ-นายเกริกไกร จีระแพทย์ นายธวัชชัย ยงกิตติกุล น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน-นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช นายประมนต์ สุธีวงศ์ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ นายพลเดช ปิ่นประทีป
ด้านพลังงาน-น.ส.รสนา โตสิตระกูล
ด้านสังคม-นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง นายอำพล จินดาวัฒนะ
ด้านปกครองส่วนท้องถิ่น-นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายจรัส สุวรรณมาลา นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ นายทะนงศักดิ์ ทวีทอง
ด้านอื่นๆ-นายเทียนฉาย กีระนันทน์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
ที่เรียกว่าคนหน้าเดิม ก็เพราะ
1 คนเหล่านี้เคยมีส่วนร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหาร 2549 มาแล้ว บางคนในนั้นมีส่วนร่วมโดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เพิ่งถูกฉีกไปหมาดๆ
1 คนเหล่านี้เคยแสดงภูมิปัญญาอันเฉียบแหลมกว้างขวางบนเวทีปฏิรูปประเทศในช่วงการประท้วงของ กปปส. มาแล้ว
บัดนี้คนเหล่านั้นมีภาระอันใหญ่หลวงที่จะเข้ามาแบกรับการจัดวางแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในอนาคต
คำถามก็คือจะเป็นการปฏิรูปแบบไหน?
ปฏิกิริยาเบื้องต้นต่อรายชื่อดังกล่าวก็แตกต่างกันไป อาทิ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อย่ากังวลว่ารายชื่อเหล่านี้จะเป็นใคร เพราะการปฏิรูปประเทศอยู่ในแนวทางของ คสช. แต่น่าสนใจ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่ามีใครบ้างเพราะเป็นคนกำหนดแนวทางทั้งหมด
ในทางกลับกัน เสียงจากพรรคเพื่อไทยที่เคยมี "กรณี" มากับเหล่านักปฏิรูปเหล่านี้มาแล้วอย่างโชกโชน ย่อมไม่ชื่นชมนัก
ไม่ว่าจะเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายอำนวย คลังผา นายวรชัย เหมะ
ที่ล้วนแสดงความสงสัยปฏิรูปครั้งต่อไป จะยัง "พายเรือในอ่าง" อยู่อีกหรือไม่
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือในขณะที่งานวางแนวทางปฏิรูปในสภาของ สปช. กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่ช้า
คนอื่น กลุ่มอื่น องค์กรอื่นที่ไม่ได้ร่วมเป็นสมาชิก สปช. จะสามารถเสนอข้อมูล ความเห็น แนวคิดได้หรือไม่
ข้อมูล ความเห็น แนวคิดเหล่านี้จะได้รับความเคารพ จะถูกให้น้ำหนักเท่าเทียมกับเหล่า สปช. หรือไม่
โดยเฉพาะข้อมูล ความเห็น แนวคิด จากสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ
นายปราชญ์ ปัญจคุณาธร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ที่ผ่านมา คสช.ไม่เคยสร้างความเชื่อใจได้เลย ไม่ว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ
ที่ต่างเคยเชื่อว่า เมื่อมีรัฐบาลจะยกเลิกหรือนักวิชาการและประชาชนจะมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น
"ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นจึงไม่ใช่เรื่องต้องมี สปช.ก่อนหรือไม่ อยากเรียกร้องให้นักวิชาการและประชาชนทุกคนอย่ากลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ในพื้นที่สาธารณะตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
"เหมือนที่เราทำได้อย่างปกติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา"
เสียงในทำนองนี้จะมีน้ำหนักไหม?