โดย วรรณโชค ไชยสะอาด มติชนรายวัน 4 ตุลาคม 2557
|
"ไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมหมายความว่าเราต้องการคะแนนเสียง"
สดๆ ร้อนๆ สำหรับการแถลงข่าวของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัว วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแจกให้ในอัตรา 1,000 บาทต่อ 1 ไร่ สำหรับผู้มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งหากเกินกว่านี้เหมาจ่ายทันทีที่ 15,000 บาท
"หม่อมอุ๋ย" ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่าไม่ใช่ "โครงการประชานิยม" แต่เป็นการ "กระตุ้นเศรษฐกิจ"
ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง เพราะดูอย่างไรก็เป็นการเอาเงินไปแจกประชาชนชัดๆ ซึ่งหากไม่เรียกว่า "ประชานิยม" แล้วจะให้เรียกว่าอย่างไรได้? โดยเฉพาะเมื่อนี่คือการดำเนิน "เศรษฐกิจประชานิยม"
หลังจากไม่ได้พูดอะไรในการเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย:บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" เพราะถูกตำรวจ-ทหาร เชิญตัวไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน
เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาวันนั้น ซึ่งเตรียมงานวิชาการมานำเสนอถึงกับถอนหายใจ และเริ่มตั้งคำถามถึงคำว่า "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ในมหาวิทยาลัยนี้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่
กำลังจะชวนคุยเรื่องนี้อยู่แล้วเชียว แต่เห็นมีเรื่อง "ประชานิยม" เข้ามาแทรกเสียก่อน
ดังนั้น อาจารย์หนุ่มผู้มีดีกรีหรู ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาละตินอเมริกา ที่ University of Oxford ประเทศอังกฤษ, ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขานโยบายสาธารณะเอเชีย ที่ Hitotsubashi University ประเทศญี่ปุ่น, ทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ ที่ University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ
นัดพบกันใน "สถานที่เดิม" ดินเเดนเเห่งเสรีภาพ หากเเต่เป็นหัวข้อใหม่ คือเรื่อง "ประชานิยม"
"ผมมีความถนัดเเละสนใจศึกษาเรื่องละตินอเมริกา ซึ่งมีเรื่องประชานิยมเป็นหัวข้อหนึ่งในการศึกษา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเเละส่งผลมาถึงปัจจุบัน เเละพอดีสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ ที่มีการพูดถึงเรื่องประชานิยมกันอย่างกว้างขวาง อย่าง คสช.ที่พูดมาตลอดว่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีการประชานิยมเกิดขึ้นอีก จึงสงสัยว่าคุณกำลังพูดเรื่องอะไร เข้าใจประชานิยมดีพอหรือไม่ ประชานิยมมีความหมายเเค่ไหน ที่สำคัญคุณนำเอาไปผูกติดกับอะไรหรือเปล่า เพราะประชานิยมมันยังหาความหมายที่เเท้จริงไม่ได้เลย" ดร.เชาวฤทธิ์กล่าว
ให้ข้อมูลอีกด้วยว่า มีการสัมมนาเรื่องนี้ตั้งเเต่ปี ค.ศ.1967 ที่ London School of Economics and Political Sciences (LSE) เพื่อที่จะหาคำนิยามของคำว่า "ประชานิยม" ว่าคืออะไร มีการออกเป็นเอกสาร ออกเป็นหนังสือ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีบทสรุป
"เวลาจะพูดเรื่องประชานิยม ต้องมีการตั้งคำจำกัดความไว้ก่อนว่า ประชานิยมในความหมายนั้นหมายถึงอะไร ดังนั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าประชานิยมคืออะไรกันแน่ สิ่งที่ คสช.พูดว่าจะไม่เอาประชานิยม คุณเข้าใจไหมว่าสิ่งที่คุณไม่เอาคืออะไร?"
อ่านเถอะประชา (นิยม)
ขอเริ่มต้นกรณีของ "หม่อมอุ๋ย"?
หม่อมแกพูดชัดเจนว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยชาวนารายได้น้อย คือ economic growth (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) และ income distribution (กระจายรายได้) ซึ่งก็ตรงกับเศรษฐกิจประชานิยม (economic populism) โดยแกไม่บอกว่า การกระทำนี้เป็นการทำลายหรือละเมิดข้อจำกัดทางการคลัง แต่บอกชัดเจนว่าไม่ได้หวังคะแนนเสียงประชาชน
แน่นอนเพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แตกต่างจากนักการเมืองที่ต้องตอบสนอง เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้รับเลือก
ประชานิยมตามทรรศนะได้ศึกษามา?
ประชานิยมนั้นมีความหมายกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะเพียงเเค่เรื่องการเมืองหรือว่าเศรษฐกิจ เรื่องสังคมก็เป็นประชานิยมได้ ถ้าดูตามรากฐานภาษาอังกฤษ populism เป็นที่ป๊อปปูลาร์ของประชาชน ซึ่งจะเป็นได้ คุณต้องมีคนนำเเละคนตาม
ประชานิยมในทางการเมือง มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ คำว่าความเชื่อมโยงผ่านการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ผู้นำเผด็จการจะเป็นประชานิยมไม่ได้
นี่คือในเซตความหมายของผม ประชานิยมในทางการเมือง ผมกำลังจะพูดถึงผู้นำ
ผู้นำประชานิยมเป็นอย่างไร?
ถามกลับว่าคนที่ผ่านการเลือกตั้ง อย่างคุณชวน หลีกภัย ทำไมไม่ถูกเรียกว่าผู้นำประชานิยม?
ก็เพราะลักษณะร่วมกันของผู้นำทางการเมืองที่เป็นประชานิยม คือ ผู้นำเหล่านั้นจะทำลายสถาบันทางการเมืองที่เป็นเสาหลักอื่นของประชาธิปไตย อย่างเช่น ศาล รัฐสภา ยกตัวอย่างเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เราไม่สนใจว่าเขาอยู่พรรคไหน เพื่อไทย พลังประชาชน ไทยรักไทย ทุกชื่อคือทักษิณ หรือ ฮวน เปรอง ประธานาธิบดีแห่งอาร์เจนตินา เราก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่พรรคอะไร เเต่รับรู้ว่าสิ่งนี้ นโยบายนี้ คือเปรอง
คนพวกนี้เขาขึ้นมามีอำนาจด้วยการไต่เต้าผ่านพรรคการเมือง เลือกตั้งในนามพรรคการเมือง เเต่เมื่อใดก็ตามที่เขาได้รับอำนาจเเล้ว ลักษณะร่วมกันที่ผู้นำประชานิยมมีก็คือ พยายามจะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ โดยไม่ผ่านสถาบันทางการเมือง เขาไปหาประชาชนเอง เช่นว่า ทำประชาพิจารณ์ ทำประชามติ เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงกับประชาชน ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
ผู้นำประชานิยมพยายามจะละทิ้งสถาบันทางการเมืองอื่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น อาจจะบอกได้ว่า สาเหตุที่คุณชวนไม่ได้ถูกมองเป็นผู้นำประชานิยม เพราะคุณชวนอยู่ใต้ร่มเงาของพรรคประชาธิปัตย์ตลอดเวลา รวมทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เเละคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งหมดต่างจากทักษิณ
ขณะเดียวกัน เราก็จะไม่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำประชานิยม เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าคุณได้รับความนิยมอย่างเเท้จริง มีคนชอบคุณอย่างเเท้จริง การยึดอำนาจมาจะบอกได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณทำคือสิ่งที่คนชอบอย่างเเท้จริง ที่กล่าวว่านั้นคือประชานิยมทางการเมือง ผมคิดว่าคำอธิบายนี้มันทรงพลัง ในการบอกว่า ทำไมผู้นำคนนี้คือประชานิยมหรือคนนี้ไม่ใช่
ต้องแยกกันระหว่างประชานิยมทางการเมือง เเละประชานิยมทางด้านเศรษฐกิจ?
ใช่ๆ นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม (Economic of populism) มีคำอธิบายความหมาย ที่เป็นที่ยอมรับกันว่าคือนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เน้นการเเก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ เเต่มันกลับละเลยเเละขาดความระมัดระวังในข้อจำกัดทางด้านการคลัง
เเต่คำว่าประชานิยมยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีความหมายอะไร นักวิชาการแต่ละคนให้ความหมายแตกต่างออกไปหมด ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์ คือ เศรษฐกิจประชานิยม เเต่คำว่า ผู้นำเเบบประชานิยมต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมหรือไม่นั้น ต้องเเยกกัน ถามว่าผู้นำประชานิยม จำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเเบบประชานิยมหรือไม่...ไม่จำเป็น
ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู เมื่อปี 1990 หรือคาร์ลอส ซามูล เมเนม ในอาร์เจนตินาปี 1990 ต่างใช้เศรษฐกิจเเบบเสรีนิยมสมัยใหม่ พวกนี้เป็นผู้นำเเบบประชานิยม เเต่ไม่ได้ใช้เศรษฐกิจแบบประชานิยม รูปเเบบของผู้นำประชานิยมไม่จำเป็นต้องผูกติดกับเศรษฐกิจ
จากนี้เราไม่เอาการเมืองเเบบประชานิยม?
มีทั้งส่วนถูกเเละผิด
ถูกก็คือ ไม่เอาเพราะประชานิยมทางการเมืองมันทำลายสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทำลายระบบศาล รัฐสภา เพราะทุกอย่างวิ่งเข้าหาตัวผู้นำอย่างเดียว การสื่อสารระหว่างผู้นำกับประชาชนคือตัวสร้างพันธะ เเละนั่นคือสิ่งที่ผู้นำประชานิยมต้องทำ จนละเลยไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันทางการเมือง
อื่นๆ เลย นี่คือปัญหา
เเต่ข้อดีคือ ผ่านการเลือกตั้ง วิธีการได้มาไม่ได้เสียหาย เเละผู้นำเเบบนี้ก็พร้อมที่จะไปได้ทุกเมื่อ ถ้าหากประชาชนเบื่อเเละเห็นว่านโยบายหรือสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง ผู้นำประชานิยมนั้นมาจากการเลือกตั้งก็พร้อมจะไปจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เขาเป็นประชานิยมได้เเสดงว่าเขาต้องมีชุดนโยบาย (policy) ที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน อย่างเช่น ประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบ้ ของโคลอมเบีย เขาขึ้นมามีอำนาจพร้อมกับนโยบายเเบบเศรษฐกิจนิยม สิ่งที่ทำให้ประชาชนชอบคือ การบอกว่าจะสร้างความสุขให้ประเทศ โดยปราบปรามผู้ก่อการร้าย หรืออัลเบร์โต ฟุจิโมะริ ที่เสนอนโยบายของตัวเองว่าจะสร้างความสงบสุข ซึ่งก็ทำได้สำเร็จเเละเป็นที่ชื่นชอบ
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาขึ้นมามีอำนาจจากชุดนโยบายที่จูงใจเเตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ต้องมาด้วยนโยบาย
การเเก้นโยบายเศรษฐกิจเเบบประชานิยม?
นโยบายเศรษฐกิจเเบบประชานิยม ทุกคนยอมรับว่ามีความสุ่มเสี่ยง ขาดความระมัดระวังด้านการใช้จ่าย เเต่วิธีเเก้มีคือ หากคุณต้องการใช้จ่ายให้มาก ก็ต้องหาให้มาก ทางออกของนโยบายเศรษฐกิจเเบบประชานิยมคือ เปลี่ยนเป็น "รัฐสวัสดิการ" ในเมื่อต้องการใช้จ่ายมากก็ต้องเก็บภาษีให้มาก
เเต่ถามว่าเก็บภาษีให้มากนั้น ใครจะเป็นคนกล้าทำ จะกล้าขึ้นภาษี อย่างภาษีมรดกเเละที่ดินนั้น จะเป็นจริงขนาดไหนต้องรอดู
วิธีทางออกง่ายมากเลยเเค่ขึ้นภาษี เเต่ไม่มีใครกล้าเเตะ โดยเฉพาะภาษีทางตรงที่ต้องเก็บตามรายได้ ในเมื่อคุณอยากจะใช้จ่ายมากก็เก็บภาษีมาก เนื่องจากปัญหาของประชานิยม คือ ไม่มีเงินพอ ฉะนั้น ก็ต้องเเก้ด้วยการหาเงินให้พอ เหมือนประเทศในเเถบสเเกนดิเนเวีย ที่เก็บภาษีสูงแต่ให้สวัสดิการอย่างดี
ว่ากันว่าคนไทยเสพติดเศรษฐกิจประชานิยม?
ปัญหาในสังคมไทยเเตกต่างจากละตินอเมริกา สังคมไทยคนที่เคยได้รับประโยชน์จากการประท้วงเมื่อปี 2535 เเต่คนพวกนั้นไม่อยากให้คนอื่นได้ ม็อบมือถือในปี 2535 ก็คือคนกลุ่มเดียวกับคนในกรุงเทพฯ ในปี 2556 เเละ 2557 ที่ไม่ต้องการประชานิยม ทั้งที่คนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยในช่วงนั้นมาเเล้ว การพัฒนาในช่วงปี 2535 นั้น คือการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นกลาง เเละเมื่อเขาไต่ระดับทางด้านสังคม ได้รับการศึกษา มีฐานะเรียบร้อยเเล้ว สิ่งที่เขาต้องการก็คือการรักษาระดับเสถียรภาพของตัวเอง
ทีนี้ คนที่จะมาสู้กับเขามาจากชนบท ชาวนา ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ ฐานของบ้านเรา คนจนอยู่รอบนอก คนรวยอยู่ในเมือง เเตกต่างจากละตินอเมริกาที่มีความเป็นเมืองสูงกว่าที่อื่นๆ คนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท เป็นกลุ่มคนจนที่อยู่ในเมืองซึ่งใกล้กับศูนย์กลางอำนาจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้ง่าย คนตรงนี้คือฐานสนับสนุนที่สำคัญของผู้นำประชานิยม ที่จะคอยช่วยปกป้องผู้นำของเขาเเละพร้อมที่จะออกมานอกถนน
เหมือนอย่างฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีแห่งเวเนซุเอลา ซึ่งระหว่างที่อยู่ในอำนาจ มีการพยายามที่จะโค่นอำนาจหลายครั้ง แต่ก็รอดพ้นวิกฤตกลับมามีอำนาจได้
การพัฒนาที่เกิดขึ้นก่อนยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ โมเดลการพัฒนาประเทศไทยคือการพัฒนากรุงเทพฯให้โตเดี่ยว ยกตัวอย่างง่ายๆ รถเมล์ฟรี น้ำประปาฟรี ภาษีคนทั้งประเทศ แต่อยู่แค่ในกรุงเทพฯ ถามว่า แฟร์ไหม? แล้วพอ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมา เขารู้ว่าฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์คือในเมือง สิ่งที่เขาพยายามหาฐานเสียงคืออีสาน เหนือ เลยกระจายผลประโยชน์ไปที่อีสานกับเหนือ
คนที่อยู่ในกรุงเทพฯไม่เอาแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจ รู้สึกว่าคนอื่นมาแย่งชิงทรัพยากรของเขาได้อย่างไร?
ประชานิยมมันเลวร้าย?
มันไม่มีเสถียรภาพ เสี่ยง ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและมันเกิดแล้ว แต่ตอนนี้เราไม่แยกกัน เราเกิดการผสมปนเปกันว่าผู้นำแบบประชานิยม จะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม ซึ่งหารู้ไม่ว่าผู้นำแบบประชานิยมมีทางเลือกในการเลือกใช้เยอะแยะมากมาย
สรุปว่าเกลียดทักษิณหรือว่าเกลียดประชานิยม?
ดูเราจะแยกกันไม่ออก แต่ในฐานะนักวิชาการ ผมเกลียดนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม แต่ถามว่าผมรับได้ไหมกับประชานิยมทางด้านการเมือง ผมรับได้
เเต่รับได้ในระดับหนึ่ง เพราะมันมีระดับที่ต้องตั้งคำถามว่า คุณกำลังทำลายสถาบันการเมืองอื่นหรือไม่
ส่วนที่บอกว่ารับได้ นั่นคือในแง่ที่ว่าถ้าคุณทำลายอะไรลงไป ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็จะปรากฏเอง หมายถึงการเสื่อมลงของคะแนนเสียง อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ คะแนนเสียงลดลงเรื่อยๆ เพราะถ้าเขาไม่มีนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ใช้แต่นโยบายเศรษฐกิจ หรือถ้ามีปัญหาด้านคอร์รัปชั่นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำลายตัวเอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คุณสามารถเลือกไม่โหวตเอาเขาก็ได้ คือ สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ว่าที่สุดแล้ว คุ้มหรือไม่ที่จะเอาผู้นำประชานิยมที่ทำลายสถาบันการเมืองอื่น อย่าง อัลวาโร อูริเบ้ ของโคลอมเบีย ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนถึง 2 สมัย เเต่เมื่อสมัยที่ 3 ประชาชนได้ตัดสินไม่เลือก เพราะเขามองว่า ถ้าปล่อยไว้นานๆ จะยิ่งทำให้กลายเป็นเผด็จการ ซึ่งคุณต้องยอมรับ
สุดท้ายประชานิยมก็ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง ภายใต้กรอบประชาธิปไตย?
ใช่ ถูกต้อง มันเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย มีหนังสือที่มีชื่อว่า "Populism and the Mirror of Democracy" หรือประชานิยม คือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย คือ กระจกด้านหนึ่งของประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วก็ยังยึดโยงอยู่กับประชาชน ถ้านโยบายเขาไม่ดีพอ ประชาชนก็ไม่เอา และถึงแม้ว่านโยบายเขาจะดีในระยะแรก แต่ไม่ดีในระยะหลัง สุดท้ายเขาก็จะโดนไล่ลงไปเอง
ในขณะนี้มีความหลากหลายของคำว่าประชานิยมอย่างมากมาย แล้วมาบอกว่าไม่เอาประชานิยม แล้วคุณจะเอาอะไร
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 กำหนดกรอบไว้ ห้ามใช้นโยบายประชานิยม?
จะไปเห็นด้วยได้อย่างไร ต้องถามว่า จำกัดความหมายของคำว่าประชานิยมไว้ว่าอย่างไร ขนาดเรายังหานิยามของคำว่าประชานิยมไม่ได้ นายเอ นายบี นายซี แต่ละคนมีกรอบของคำว่าประชานิยมไม่เหมือนกัน ถ้าผมเข้าไปอยู่ในนั้น ผมอาจบอกว่าอันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ มันกลายเป็น การให้ค่า การกำหนดความหมาย ของแต่ละบุคคล เเม้กระทั่งในหมู่นักวิชาการ
แตกต่างจากประชานิยมเศรษฐกิจ นั้นมีความหมายที่เข้าใจตรงกันแล้วว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น ต้องกำหนดให้ชัด ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือที่เอาไว้บ่อนทำลายคนอื่น เพราะมันไม่ชัดเจน
นักการเมืองที่แข็งแกร่ง ต้องใช้ประชานิยมเป็น?
เรามีประชานิยมมานานแล้ว ลองดู คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นตัวอย่าง มีการสร้างฐานเสียง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ดังนั้น เราต้องมีการจำกัดคำว่าประชานิยมให้ชัดว่าคืออะไร ตกลงมันเป็นอันตรายจริงหรือไม่
ปัจจุบันมีบทความที่ออกมาโต้เถียงกันว่า จริงๆ แล้วประชานิยม มันคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย หรือบ่อนทำลายประชาธิปไตย มีการโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา
ดูจากกระเเสสังคมวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พอจะเป็นผู้นำประชานิยมได้ไหม?
เราไม่สามารถบอกได้ว่าตอนนี้เขาเป็นผู้นำประชานิยมหรือยัง ถ้าอยากรู้ ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งดู
เเต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ "ป๊อปปูลาร์" อยู่ จากสไตล์การพูดที่พอจะสร้างความนิยมได้