โฉมหน้าสปช. วัดความจริงใจ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 28 September 2014 19:12
- Published: Sunday, 28 September 2014 19:12
- Hits: 3326
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:50 น. ข่าวสดออนไลน์
โฉมหน้าสปช. วัดความจริงใจ
รายงานพิเศษ
ตลอดช่วงโค้งสุดท้ายของการลุ้น ว่าใครจะหลุดรอดได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลต่างๆ มากมาย
ส่วนมากแสดงความเคลือบแคลงใจในกระบวนการสรรหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ มาจนถึงปลายน้ำ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน
จนกระทั่งบรรดาบิ๊กๆ ทหารต้องออกมาโต้ว่า ไม่มีการ "ล็อกสเป๊ก" ไม่มีการ "ฮั้ว" เด็ดขาด
ความจริงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้มีมาตั้งแต่ช่วงเริ่มกระบวนการสรรหา
ไม่ว่าจากการกำหนดรายชื่อคณะกรรมการสรรหา 11 ชุด ที่มีคนของคสช.ระดับแกนนำถูกส่งมาทำหน้าที่เป็นประธานแต่ละชุด
ไม่ว่าจากการกำหนดให้คณะกรรม การสรรหาระดับจังหวัด 5 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ประธานกกต.จังหวัด นายกอบจ. และตัวแทนองค์กรเอกชน
อันเป็นจุดเริ่มของข้อครหา โดยเฉพาะในส่วนจังหวัดที่กรรมการสรรหาแต่ละคน มีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้ารับคัดเลือกได้ 3 คน รวมเป็น 15 คน จากนั้นคัดกันเองเหลือ 5 คนส่งให้คสช.ชี้ขาดว่าจะเลือกใคร
และนำมาสู่การเปิดโปงว่าการสรรหา สปช.ในบางจังหวัดไม่โปร่งใส กรรม การสรรหาบางคนเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับผู้เข้ารับคัดเลือก บ้างเป็นพ่อตา-ลูกเขย บ้างเป็นสามี-ภรรยา
หรือในบางจังหวัดผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกลุ่มคนใกล้ชิดกัน เช่น ประธานอบจ. ที่ปรึกษาอบจ. ประธานหอการค้าจังหวัด นายกอบต. เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า "การปฏิรูปประเทศ" คือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการเข้าสู่อำนาจของคสช.
ถึงขนาดมีการระบุชัดเจนว่า ความสำเร็จในการปฏิรูปก็คือความสำเร็จของคสช. เช่นเดียวกับความล้มเหลวในการปฏิรูป ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความล้มเหลวของคสช.
สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. คือ 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักอันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
เช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คสช. รัฐบาล และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะแต่งตั้งเป็นลำดับสุดท้ายหลังจากได้ สปช.เรียบร้อยแล้ว
ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้สปช.มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ได้แก่
ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่นๆ
รัฐธรรมนูญเขียนให้ สปช.ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช.ถวายคำแนะนำ
ทั้งยังกำหนดให้หัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสปช. ประธานและรองประธานสปช.
ต่อมา คสช.ได้มีการวางหลักเกณฑ์ขั้นตอนการคัดเลือก แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ระดับจังหวัด 77 จังหวัด กับในส่วนคณะกรรมการสรรหา จำนวน 11 ชุด ตามงานปฏิรูป 11 ด้าน
ปรากฏทั้ง 2 ส่วนรวมกันมีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาถึง 7,370 คน
3 อันดับแรกที่มีผู้ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปมากที่สุด ได้แก่ ด้านการศึกษา 778 คน ด้านอื่นๆ 683 คน ด้านสังคม 679 คน โดยด้านสื่อสารมวลชนรั้งอันดับบ๊วย 194 คน
ในการสรรหาระดับจังหวัด ผู้สมัคร 77 จังหวัดจะถูกคัดชื่อออกเหลือจังหวัดละ 5 คน รวมทั้งประเทศ 385 คน ส่งคสช.เลือกจิ้มจังหวัดละ 1 คน
ส่วนคณะกรรมการสรรหา 11 ชุด 11 ด้าน จะคัดชื่อผู้สมัครด้านละ 50 คน รวม 550 คน ส่งให้คสช.เลือกจิ้มเข้ามา 173 คน เมื่อรวมกับ 77 คนจาก 77 จังหวัด
ก็จะได้สปช.ครบ 250 คน
ก่อนหน้านี้แกนนำ คสช. ทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต่างยืนยันว่าการคัดเลือกสปช.
โปร่งใส ไม่ล็อกสเป๊ก เลือกแต่คนดี
รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ยืนยัน
"รายชื่อสปช.ไม่มีการล็อก ผมจะล็อกอย่างไร ยังนึกไม่ออก แล้วจะล็อกไปเพื่ออะไร เพื่ออำนาจ ก็ผมมีอำนาจอยู่แล้ว ต้องหาอำนาจเพิ่มอีกหรือ"
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมคสช. เพื่อพิจารณาคัดสรรรายชื่อสปช. จนแล้วเสร็จทั้ง 250 คน ใครได้รับเลือกเข้ามาบ้างนั้น ไม่เป็น ที่เปิดเผย เพราะต้องรอการตรวจสอบคุณสมบัติที่ถูกต้องอีกครั้ง
แต่หัวหน้าคสช.ยืนยันว่ามีทั้งตัวแทนนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทหารเก่า ข้าราชการเก่า ผู้แทนกลุ่มต่างๆ เข้ามากันครบ
โดยการตรวจสอบทุกอย่างจะเสร็จทันภายในวันที่ 2 ต.ค ตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้ จากนั้นเป็นกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
เคยมีคนกล่าวเปรียบเทียบสนช.กับสปช.ว่า
ในส่วนสนช.จะเป็นการแต่งตั้งแบบ "เอาพวก ไม่เอาภาพ"
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ สนช.ต้องทำงานตอบสนองคสช.ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านกฎหมายงบประมาณ และกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารประเทศและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงสถานการณ์พิเศษ
แต่สำหรับ สปช.จะเป็นการคัดสรรแบบ "เอาภาพ ไม่เอาพวก"
นั่นเพราะสปช.มีภาระหน้าที่ในการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศผ่านการปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน
และการจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน คสช.ในฐานะผู้ให้กำเนิดสปช. ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
อันดับแรกดูได้จากโฉมหน้าสปช. 250 คน ว่าได้รับการพิจารณาการคัดเลือกเข้ามาด้วยความโปร่งใส ไม่แบ่งขั้ว แบ่งสี หรือเลือกสรรแต่พวกพ้องในเครือข่ายตนเอง
ความโปร่งใสในการคัดเลือกสปช. ทั้งหมดก็เพื่อให้การปฏิรูปบรรลุผลตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า
เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม
มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ
ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าเมื่อรายชื่อสมาชิกสปช. 250 คน ได้รับการเปิดเผยออกมาแล้ว ก็คงได้รู้กันว่าสิ่งที่หลายคนตักเตือน ท้วงติง หรือแม้กระทั่งดักคอเอาไว้ เป็นความหวังดีที่มาช้าหรือไม่
ที่สำคัญคือเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ จะเป็นจริงได้แค่ไหน