'สปป.'ชี้เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน - จวกอำมาตย์ขวางเลือกตั้ง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 18 May 2014 09:26
- Published: Sunday, 18 May 2014 09:26
- Hits: 4090
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:24 น. ข่าวสดออนไลน์
'สปป.'ชี้เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน - จวกอำมาตย์ขวางเลือกตั้ง
จากนั้น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การต่อสู้ตอนนี้เป็นการช่วงชิงความชอบธรรม สำหรับการหารือกันระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องล่มไปเพราะมีผู้ชุมนุมบุกเข้าไป จึงข้อสงสัยว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้วการหารือของรัฐบาลกับกกต.เกิดขึ้นไม่ได้ จะไม่มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ และจะทำอย่างไรถ้ากกต.จะยื้อเวลาการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งที่จริง การตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดวันเลือกตั้ง อำนาจอยู่ที่รัฐบาลที่สามารถนำพ.ร.ฎ.การยุบสภาผู้แทนราษฎร มาจัดทำเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ฎ.การยุบสภาฯ โดยแก้ไขเฉพาะวันเลือกตั้ง แล้วนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วด้วยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี แต่นายนิวัฒน์ธำรง ก็สามารถเป็นผู้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 195 ระบุว่ากฎหมายใดๆ ให้มีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งต้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้ โดยไม่ได้บอกว่าต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำเท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีมาตราใดบอกว่าให้กกต.เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น นายนิวัฒน์ธำรง สามารถนำพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน และถ้ารัฐบาลยืนยันว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ก็ตราพ.ร.ฎ.นี้กำหนดให้เลือกตั้งในวันดังกล่าวได้เช่นกัน
นายวรเจตน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา นั้น การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเวลาตามพ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีส.ส.ด้วย แต่ในเมื่อตอนนี้ยังไม่มีส.ส. จึงถือว่าการประชุมวุฒิสภาครั้งนี้เป็นการหารือของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ทำอย่างเป็นทางการ อีกทั้ง การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาไม่ถูกระบุเป็นวาระในพ.ร.ฎ.ดังกล่าว จึงถือว่าการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาเป็นการทำผิดอย่างชัดแจ้ง ดังนั้น นายนิวัฒน์ธำรงไม่จำเป็นต้องนำชื่อของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานวุฒิสภา ขึ้นทูลเกล้าฯ นอกจากนี้รองประธานวุฒิสภาไม่มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าอยากให้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ก็ต้องให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะผู้ที่ได้รับเลือกตั้งต้องเป็นส.ส. ไม่มีการเขียนกฎหมายบอกว่าให้เลือกคนที่เราชอบไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นการจะนำเอานายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือโดยการอนุโลมนั้นจึงทำไม่ได้ด้วย การไม่รักษากฎหมายแล้วทำเพื่อตัวเองไม่ได้เป็นการรักษาประเทศอย่างที่บางคนกล่าวอ้าง และผู้ที่บอกว่าอย่าใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเคร่งครัดไม่ถือเป็นคนที่ทำตัวใหญ่กว่ากฎหมายเพราะคิดว่าการทำตามหลักกฎหมายไม่ได้ทำให้เขาได้คำตอบอย่างที่ตัวเองต้องการ
จากนั้นในช่วงของอภิปรายเรื่อง'เลือกตั้งคือทางออก นายกเถื่อนคือทางตัน'ดำเนินรายการโดยนายพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เครือข่ายประชาชนคือคนกลาง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนเป็นคนกลาง ไม่ต้องให้ใครมาเป็นคนกลางแทนตัวเรา จากปรากฎการณ์ที่ภาครัฐถูกหลอกซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือจีที 200 ชี้ชัดว่าสังคมไทยไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ใช้เพียงความเชื่อและศรัทธา ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปก็จัดเป็นวิทยาศาสตร์เทียมเพราะอธิบายไม่ได้ว่าเป้าหมายคืออะไรบ้าง คนที่วิจารณ์การปฏิรูปจะถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ กปปส.มีจุดเริ่มต้นที่ดีโดนตนเป็นคนหนึ่งที่ออกมาเป่านกหวีดต้านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่การเป่านกหวีดครั้งนั้นถูกไฮแจ๊คกลางอากาศ การเมืองรูปแบบนี้เป็นเกมที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วดึงประชาชนเข้าในเกมการเมืองของผู้มีอำนาจ แกนนำไม่เคยตาย และเป็นเกมเดียวกับเสธ.อ้ายและพันธมิตรเคยผ่านมาแล้ว มวลมหาประชาชนเป็นเพียงอารมณ์ร่วม เป็นไปไม่ได้ที่คนนับล้านคนจะออกมารวมตัวบนถนนได้เพราะคนกรุงเทพฯมีอยู่เพียง12 ล้านคน ตัวเลขของมวลมหาประชาชนจึงต่างจากประชามติที่นับตัวเลขที่คูหาลงคะแนน การเมืองล้างสมองแบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองขั้ว ไม่เหลือพื้นที่ตรงกลาง ถ้าเราปล่อยให้มีการแบ่งแยกระหว่างกปปส.กับนปช. คนไทยจะฆ่ากันเองอีกครั้ง ดังนั้นจึงเรียกร้องให้คนกลางหรือไทยเฉยออกมาเรียกร้องสันติภาพเพราะไม่มีประโยชน์ที่จะชนะบนซากปรักหักพัง
นายประจักษ์ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า วาทะกรรมเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นการหลอกลวงและทำให้คนไทยไขว้เขว แนวทางการเคลื่อนไหวของกปปส.สุดโต่งไม่นำมาซึ่งประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้คนเริ่มถอนการสนับสนุนไปเรื่อยๆ บ้านเมืองอยู่ในสภาวะอันตราย ต้องโทษไปที่กลุ่มชนชั้นนำเก่าเพราะลำพังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.คงกระทำโดยลำพังไม่ได้ จึงขอให้สังคมไทยตั้งสติถอนตัวเองออกจากมาหลุมดำความขัดแย้ง เริ่มต้นจากรับการเลือกตั้งให้เป็นประตูไปสู่การปฏิรูป คืนความปกติสุขให้สังคมไทย เพราะที่ผ่านมาเราเป็นลมบ้าหมูเสียสติไป ความขัดแย้งรอบนี้ไม่ใช่การปกป้องพรรคการเมืองหรือบุคคลใด แต่เป็นการสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยที่จะถูกลิดรอนโดยชนชั้นนำ ทุกประเทศทั่วโลกปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นภายใต้ประชาธิปไตยปกติ ไม่มีประเทศใดแช่แข็งตัวเอง ยกอำนาจอธิปไตยของตัวเองไปให้คนส่วนน้อยจากการแต่งตั้ง ซึ่งแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้ ในประเทศนี้ทุกรัฐบาล ทุกพรรคไม่มีพรรคใดปราศจากการคอรัปชั่น กองทัพ ตำรวจ ศาล องค์กรอิสระล้วนพัวพันกับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ต้องตรวจสอบทั้งหมดไม่ใช่มองว่ามีคนชั่วเพียงคนเดียวแล้วตั้งองค์กรกำจัดขยะ อัศวินม้าขาวไม่มีจริง รัฐบาลที่ไม่ถูกตรวจสอบล้วนแต่คอรัปชั่น เราก้าวพ้นจากสภาวะที่การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมมานานแล้ว ทุกพรรคการเมืองต่างต้องใช้เงิน แต่เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการเลือกตั้งเพราะทุกพรรคต้องมีนโยบายที่ดีมานำเสนอ
“สังคมไทยต้องไม่ยอมให้กับสภาวะอนาธิปไตยกรวยอธิปไตย บ้านผมอยู่แจ้งวัฒนะไม่กล้าออกไปไหน ตำรวจทหารคุ้มครองความปลอดภัยให้เราไม่ได้แล้ว เพราะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบกรวย ทั่วโลกไม่เชื่อในระบอบอำมาตยาธิปไตย เนื่องจากคนทุกกลุ่มต่างมีผลประโยชน์พัวพัน ไม่มีกลุ่มคนดี คนกลาง ทั้งชีวิตตั้งเป้าหมายจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่สนใจผลประโยชน์ของตัวเอง ประชาธิปไตยไม่ได้เริ่มจากคนดี แต่เป็นการต่อรองเพื่อกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ตอนนี้มีคนตายไปกว่า 20 ราย เศรษฐกิจพังพินาศ เราไม่ควรต้องจ่ายขนาดนี้เพื่อปฏิรูป เราจึงควรใช้ประชาธิปไตยปกติที่ทุกคนมีส่วนร่วม หรือต้องบอกให้ชัดว่าเป้าหมายของการปฏิรูปคืออะไร”นายประจักษ์กล่าวและว่า หากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเอาจริงเอาจังเราต้องจัดการเลือกตั้งได้แน่นอน แต่ถ้าทำไม่ได้คงต้องถือว่าเราเกิดวิกฤตทางการเมืองอาจถึงเวลาต้องเชื้อเชิญองค์กรต่างชาติให้เข้ามาจัดการเลือกตั้งแทนกกต.เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาที่ต้องเชิญองค์กรนานาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้ง
นพ.วีระสิริประเสริฐ สมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนถูกเหมารวมให้เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะรูปแบบเป็นการพิมพ์รายชื่อสนับสนุนทั้งหมดออกมาตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงคนขับรถ โดยประกาศว่าใครคัดค้านให้มากาชื่อทิ้ง ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าไปขอลบชื่อ แต่พวกตนเห็นว่าอาชีพหมอต้องรักษาและช่วยชีวิตคนไม่ใช่ไล่ล่าจึงออกมารวมกลุ่มเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็น ถ้าเรายอมให้นายกฯเถื่อนเข้ามาได้ ประชาชนที่ออกมาบนถนนราชดำเนินจะถูกปราบ กรวยเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิยม ถ้าเราไม่ออกมาต่อต้านเท่ากับยอมรับความรุนแรง ประชาชนจึงไม่ควรเคลิ้มตามการตั้งนายกฯคนกลางหรือนายกฯเถื่อน ทุกคนอยากตัดสินด้วยการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองเข้าร่วมมากกว่า 40 พรรค เพื่อให้คนไทยได้ปกครองตัวเอง
เกษียร ชี้ถวายนายกฯเถื่อน บั่นทอนสถาบันกษัตริย์อย่างร้ายแรง จวกอำมาตย์ขวางเลือกตั้ง เหตุกลัวประชาชนทวงคืนอำนาจ
ต่อมานายเกษียร เตชะพีระ กล่าวอภิปรายปิดการเสวนา เรื่อง'ข้ามกรวยไปเลือกตั้ง'ว่า สมมุติว่ากรวยเป็นอำนาจกปปส.ก็เป็นอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เป็นอำนาจที่เราไม่ได้เลือกมา จึงจำเป็นต้องข้ามกรวยไปเลือกตั้งให้ได้ ขอให้นึกถึงสิ่งที่เรารักมากที่สุดของการเมืองไทย ซึ่งบางคนหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญ ความสำเร็จทางการเมืองคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะระบอบนี้ได้เชื่อมคล้องร้อยเรียงสิ่งที่คนไทยรักที่สุดในทางการเมืองไว้ด้วยกันทั้งหมด คือรวมสถาบันกษัตริย์ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ กับประชาชนเข้าด้วยกัน แต่ข้อเสนอนายกเถื่อนของกปปส.จะทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแยกทุกสิ่งดังกล่าวออกจากกัน เพราะเถื่อนแปลว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้กำลังบังคับข่มขู่ให้ยอมรับ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เลือก ไม่ยอมรับ ดังนั้นนายกฯเถื่อนคือนายกฯที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ม.7 แต่เป็นม.มั่ว นายกฯเถื่อนคือการใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ ยัดเยียดให้คนไทยยอมรับ
นายเกษียร ระบุว่า นายกฯเถื่อนคือนายกฯ ที่คนไทยไม่ได้เลือก ไม่ใช่นายกฯของเรา และการถวายนายกฯเถื่อนแปลว่า กปปส.และพรรคพวกในยุคที่วุฒิสภาและองค์กรเถื่อน ทูลเกล้าถวายนายกฯเถื่อนให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ย่อมเท่ากับทูลเกล้าฯถวายนายกฯเผด็จการให้สถาบันกษัตริย์รับรอง ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ นั่นถือเป็นการแยกฟ้าจากดิน แยกสถาบันกษัตริย์ออกจากรัธรมนูญและประชาธิปไตย แยกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรงที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ไม่ใช่แค่เลือกธรรมดาเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่การเลือกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การเลือกระหว่างยิ่งลักษณ์หรืออภิสิทธิ์ และไม่ใช่การเลือกระหว่างทักษิณกับสุเทพ แต่โดยเนื้อแท้เป็นการเลือกระหว่างระบอบ 2 ระบอบ คือ 1 ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่คล้องรวมเอาสถาบันพระมหากษัตริยประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเข้าไว้ด้วยกัน กับ 2 ระบอบกรวยๆ แล้วคนไทยจะเลือกอะไร
ถ้าเลือกระบอบที่ 1 มีทางเดียวต้องข้ามกรวยไปเลือกตั้ง เพราะกปปส.นอกจากวากรวยขวางถนนแล้ว ยังวางกรวยในที่ต่างๆ รวมทั้ววางกรวยขวางไว้ในใจเรา การเลือกตั้งแล้วศาลรัฐธรรมนูญมายกเลิก ทำให้ประชาชนเกิดการเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง เกิดปัญหาสารพัดทั้งปีนเก้าอี้ บีบคอ เผาบัตร กปปส.เดินขบวนปิดกรุง สร้างสุญญากาศทางการเมือง สมคบประธานเถื่อน ทำสารพัด ม.มั่ว จะตั้งนายกฯคนกลาง นายกฯคนนอก จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งให้ได้ ทำทุกอย่างนี้เพราะกลัวการเลือกตั้ง กลัวสิ่งที่พวกเราเบื่อ สิ่งที่พวกเราอยากอ้วก อำมาตย์กลัวการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งมีกระบวนการซึ่งได้มาซึ่งอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ ไม่เหมือนรัฐประหารหรือตุลาการประหารรัฐ หรือตั้งนายกฯคนกลาง อำมาตย์จึงลำบากใจกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าไม่เลือกตั้งนานาชาติก็ไม่ยอมรับ ครั้นจะปล่อยให้เลือกตั้งไปก็จะควบคุมไม่ได้
“ดังนั้นการเลือกตั้งคือหนี้ที่อำมาตย์และชนชั้นปกครองติดค้างประชาชนอยู่เราเป็นเจ้าหนี้ไม่จัดเลือกตั้งให้เรา เราก็ต้องมาทวงตามสิทธิ ไม่ได้มาขอ ยิ่งเลื่อนต้องยิ่งเรียกดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้นต้องจ่ายมาเป็นค่าความชอบธรรม กกต.จะเจอคนไทยที่เป็เจ้าหนี้หน้าเลือดทวงการเลือกตั้งทุกๆวัน เช้ายันเย็นไม่หยุดหย่อน จะทวงไม่เลิกจนไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้อยู่แผ่นดินไหน การเลือกตั้งจึงเป็นคำตอบที่ชอบธรรมที่สุด ถ้าอยากได้ชีวิตปกติคืนสู่ประเทศก็จ่ายการเลือกตั้งคืนให้ประชาชน”
17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:23 น. ข่าวสดออนไลน์ การเมือง-การม็อบ ใกล้ปรอทแตก ! วิเคราะห์ การเมือง อุณหภูมิการเมือง-การม็อบขยับใกล้จุดปรอทแตก
ท่ามกลางบรรยากาศตั้งทัพใหญ่เผชิญหน้ามวลชนสองฝ่าย
แกนนำนปช.ยืนยันถ้ามีการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้ง 2 เรื่องเมื่อใด คนเสื้อแดงพร้อมยกระดับชุมนุมเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กลางเมืองหลวงทันที
ขณะที่กลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศวันเผด็จศึก ย้ายศูนย์บัญชาการออกจากสวนลุมฯ มาอยู่ตึกสันติไมตรี ตั้งเวทีปราศรัย รายล้อมทำเนียบรัฐบาล สร้างภาพตัวเองคล้ายหัวหน้าคณะปฏิวัติประชาชน นำมวลชนบุกเข้ายึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ กลบเกลื่อนอารมณ์ความผิดหวังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินแบบครึ่งๆ กลางๆ สั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดสภาพจากการเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง อันจะเป็นเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่การมีนายกฯ มาตรา 7 และคณะรัฐบาลสูตรคนดีได้ เมื่อแผนแรกสำเร็จแค่ครึ่งทาง นาย สุเทพและกปปส.จึงต้องหาทางสร้างเงื่อนไขใหม่เพื่อเติมเต็มชัยชนะอีกครึ่งที่เหลือ ด้วยการเบนเป้าหมายกดดันไปยังวุฒิสภา นายสุเทพ อาศัยสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ที่หลายคนเป็นขาประจำเวที กปปส. เป็นตัวเชื่อมต่อไปถึงนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ผู้นำม็อบ กปปส.ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรงหลายคดี นำคณะเดินเข้าๆ ออกๆ อาคารรัฐสภาเป็นว่าเล่น ทั้งก่อนและหลังนายสุรชัยได้รับเลือกจากสมาชิกให้เป็นว่าที่ประธานส.ว. ปิดห้องคุยส่วนตัวกับนายสุรชัยหลายครั้ง ครั้งหลังสุดยังมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมแจมด้วย มีการวิเคราะห์กันว่า การมีข่าวออกมาจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองว่า ไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับเกมผลักดัน นายกฯ มาตรา 7 ตามคำเชื้อเชิญของนายสุเทพ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่ครั้งนี้ไม่กล้ารับลูกเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา เพราะมองว่าเป็นการเดินหมากเสี่ยงต่อการออกนอกกรอบรัฐธรรมนูญมากเกินไป เมื่อ 3 องค์กรศาลไม่เอาด้วย นายสุเทพจึงต้องเปิดเกมรุกเข้าใส่นายสุรชัย และวุฒิสภาอย่างหนัก ให้เร่งหาช่องทางตั้งนายกฯ มาตรา 7 โดยเร็วก่อนเกมเปลี่ยนมือ บนพื้นฐานข้ออ้างแบบพูดเองเออเองว่า เนื่องจากขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่เลือกนายกฯ คนใหม่ วุฒิสภาจึงเป็นสภาตัวแทนประชาชนเพียงสภาเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม การเดินตามช่องทางดังกล่าว ถูกท้วงติงจากบรรดานักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีมาตราใดเปิดช่องให้วุฒิสภาเลือกนายกฯ ได้ รวมถึงตัวนายสุรชัยเอง สถานะก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้เป็นประธานวุฒิสภาจริงหรือไม่ เพราะยังมีคำถามที่ฝ่ายการเมืองเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. เป็นการกระทำเกินกรอบพ.ร.ฎ.ขอเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ที่กำหนดไว้แค่พิจารณาเลือกกรรมการป.ป.ช.หรือไม่ หรือต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำได้ ไม่ผิด กติกา ตามประสบการณ์ที่ว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทำอะไรก็ถูกหมด ก็ยังเหลือเงื่อนปมตรงที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ นายกฯ ต้องเป็นผู้นำชื่อประธานวุฒิสภาคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นั่นเท่ากับฝ่ายตรงข้ามต้องยอมรับว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล คือรักษาการนายกฯ ที่ขึ้นมาอย่างถูกต้องเสียก่อน ถึงจะแก้ปมปัญหาตรงนี้ให้ลุล่วงไปได้ แต่ก็เชื่อว่า นายสุเทพ และเครือข่ายกปปส. ต้องไม่ยอม เพราะถ้ายอมรับสถานะนายนิวัฒน์ธำรง ก็จะมีผลไปถึงการยอมรับว่านายนิวัฒน์ธำรง สามารถนำร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เช่นกัน ซึ่งหากปล่อยให้เกมไหลไปถึงตรงนั้น รัฐบาลก็จะอาศัยจังหวะลุยปลุกกระแสประชา ธิปไตย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง พลิกสถานการณ์จากรับเป็นรุก กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการเมืองทันที ท่ามกลางกระแสนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ถึงนายสุรชัย และส.ว.บางกลุ่มต้องการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่านายกฯ มาตรา 7 ด้วยการเรียกนายกฯ ที่จะเสนอตั้งขึ้นใหม่ว่าเป็นนายกฯ เฉพาะกิจ เพื่อหวังลดแรงเสียดทานจากภายนอกก็ตาม แต่ท้ายสุดความพยายามหาช่องทางให้เกิดนายกฯ ด้วยวิธีพิเศษ คงไม่มีทางเดินหน้าต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าในแง่กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะนปช.แดงทั้งแผ่นดินที่แกนนำสั่งเตรียมพร้อมยกระดับลุยขั้นแตกหักทันทีที่มีการเสนอตั้งนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะใช้ชื่อนายกฯ มาตรา 7 เฉพาะกิจ คนกลาง หรือคนดี อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เป็นอะไรที่กระตุกขวัญคนไม่น้อย ที่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ความรุนแรงกรณีมือมืดยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กลุ่มม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งเสียงคำรามเตือน ถ้าหากสถานการณ์ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงเต็มรูปแบบ หรือหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจนมีแนวโน้มถึงขั้นจะเกิดการจลาจล กองทัพอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ในขั้นนั้นหากมีผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มบุคคล หรือกองกำลังติดอาวุธ ตอบโต้กองทัพหรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการทางกฎหมายปราบปรามอย่างเด็ดขาด จากแถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าสถานการณ์ลุกลามถึงขั้นพ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เอาไม่อยู่ ทหารก็เตรียมประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ที่เดาอารมณ์กันไม่ถูก แถลงการณ์ผบ.ทบ.มีเจตนาต้องการสื่อสารไปถึงคู่ขัดแย้งแบบเหมารวม หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง และเท่าที่จำได้เจ้าของแถลงการณ์ เคยให้สัมภาษณ์ทิ้งบอมบ์ไว้ก่อนหน้าเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 'อยากให้ทหารออกมาใช่มั้ย ออกมาแล้วไม่กลับนะ จะบอกให้' เติมสถานการณ์ให้ยิ่งร้อนแรงในช่วงครบรอบ 4 ปี ประวัติศาสตร์เลือด 19 พ.ค. 2553 เหตุการณ์สลายม็อบคนเสื้อแดง 99 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน... |