รัฐบาลนับหนึ่ง เดิมพันประเทศ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 14 September 2014 19:31
- Published: Sunday, 14 September 2014 19:31
- Hits: 3928
14 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
รัฐบาลนับหนึ่ง เดิมพันประเทศ
เป็นสัญญาณเริ่มต้นภารกิจเดิมพันสูงของรัฐบาล คสช.
ภาย หลังวันที่ 12 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.
นโยบายรัฐบาล'ประยุทธ์ 1' ภายใต้สโลแกนใหม่ 'จริงใจ จริงจัง ยั่งยืน'กระชับห้วนสั้นกว่าเดิม ครอบคลุมงานทั้งหมด 11 ด้าน ประกอบด้วย
การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การยกระดับด้านสาธารณสุข
การเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม
การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการ ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบในภาครัฐ
และการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ทั้ง 11 ด้านมีฐานที่มาจาก 5 แหล่ง คือ
จากยุทธศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 จากปัญหาประเทศและความต้องการของประชาชน
และจากนโยบายคสช. อาทิ โรดแม็ป 3 ระยะ หลักค่านิยม 12 ประการ เป็นต้น
ในส่วนของคสช.นั้น ในการประชุมครม.นัดพิเศษ ตามฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจวิธีทำงานและการเตรียมตัวเข้าสู่ภารกิจรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ สั่งหัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายของ คสช. รายงานผลปฏิบัติงานในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่การเข้าควบคุมอำนาจวันที่ 22 พ.ค.2557 ให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบ
เพื่อรับช่วงทำงานแบบไร้ตะเข็บรอยต่อ
สําหรับบทบาทคสช.นับจากนี้เป็นต้นไป นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งถือเป็นการเข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์
จนถึงขั้นตอนการแถลงนโยบายต่อสนช. หลักกิโลเมตรแรกในการกลับสู่โครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหารปกติ
หากว่า กันตามทฤษฎี คสช.ซึ่งถือเป็นกลุ่ม "อำนาจพิเศษ" จึงต้องปรับลดระดับการทำงานลง ไม่สามารถออกประกาศคำสั่งหรือเรียกบุคคลมารายงานตัวได้อีก ยกเว้นใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกหรือการจัดระเบียบภายในของคสช.เอง
แต่นั่นก็เป็นแค่ในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงจะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างไร รัฐบาลชุดนี้ก็ยังหล่อหลอมเป็นเนื้อ เดียวกับคสช.อยู่ดี
หัวหน้า คสช.เป็นคนเดียวกับนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้ากับคณะที่ปรึกษาคสช.ก็เป็นทีมเดียวกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกครึ่งค่อนคณะ
แตก ต่างกันก็ในเรื่องทางเทคนิค เช่น การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ที่คสช.ไม่ต้องยื่น แต่ถ้าเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีต้องยื่นตามระเบียบ
ย้อนกลับยังเรื่องนโยบายรัฐบาล
สิ่งที่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีอธิบายไว้ว่า ถ้าหากเป็นรัฐบาลปกติจะมีภารกิจ ข้อเดียวคือการบริหารราชการแผ่นดิน
แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้รัฐบาลมีภารกิจมากถึง 3 ข้อ ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ลึกลงไปในรายละเอียด เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินจะครอบคลุมปัญหา 11 ด้านตามที่แถลงไว้เป็นนโยบาย
แต่ละด้านมุ่งสอดแทรกเรื่องป้องกันและปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูป และการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไว้ในฐานะเป็นวาระแห่งชาติ
แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ
ระยะ เร่งด่วนเฉพาะหน้า ทำภายใน 1-2 เดือนหลังการแถลงนโยบาย ระยะกลาง ทำต่อจากระยะเร่งด่วน พยายามให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนระยะยาว 5-10 ปี เป็นการวางรากฐานให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามารับช่วง
ส่วนเรื่องการปฏิรูป กำลังจะมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. จากการสรรหาจำนวน 250 คน คาดว่าเสร็จสิ้นภายในไม่เกินต้นเดือนต.ค.นี้
ด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ รัฐบาลจะนำมาทำต่อจากคสช. หัวใจสำคัญคือการขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ
รวมถึงปัญหายุติธรรมสองมาตรฐาน
มีการวิเคราะห์ว่า ในห้วงเวลานับจากนี้ หลังการเปลี่ยนผ่านบทบาทจากคสช. มาเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรัฐบาล
สิ่ง ที่พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะต้องเผชิญ จะเป็นปัญหาที่มีลักษณะแตกต่างออกไปจากเมื่อครั้งเป็นคสช.เพียงโดดๆ ตั้งแต่ปัญหาจุกจิก ไปจนถึงปัญหาขนาดใหญ่
ยกตัวอย่างเรื่องติดตั้ง ไมโครโฟนห้องประชุม ครม. ราคาตัวละ 1.4 แสน หรือทีวีเครื่องละ 5 แสน ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์นานนับสัปดาห์
ในตอนแรกรัฐมนตรีกับอธิบดีต่างก็บ่ายเบี่ยงโยนเรื่องกันไปมา
กว่าจะตัดสินใจออกมาแถลงชี้แจงทำความเข้าใจให้เรื่องซาลงไปได้ รัฐบาลต้องเสียหายด้านภาพลักษณ์ความพอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อไปพอสมควร
ล่าสุดกระแสบีบรัดให้นายกฯ ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริง สังคมจึงต้องเฝ้าติดตามผลสอบว่าจะออกมารูปไหน เรื่องเล็กจะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่
ส่วนปัญหาระดับใหญ่นั้น ตลอด 3 เดือนเศษที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าปัญหาด้านความมั่นคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาลและ คสช.อีกต่อไป
แม้จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเหลืออยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้แบบสบายๆ ไม่มีจุดไหนตึงมือเหมือนในช่วงแรก
ดังนั้นสิ่งที่เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายจริงๆ ของแทบทุกรัฐบาลคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้าน ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การค้าการลงทุน ปัญหาพลังงาน
รวมถึงปัญหาธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งกำลังได้ผลกระทบรุนแรง จากการที่จนแล้วจนรอดคสช.ก็ยังไม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก
ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องว่าควรยกเลิกในบางจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อเรียกบรรยากาศความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนมาก็ตาม
ปัญหา เหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขด้วยการลงมือทำทันที ไม่ใช่แก้ไขด้วยการดีแต่พูด หรือหลอกตัวเองไปวันๆ โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่คอยป้อนข้อมูลเอาอกเอาใจ ผู้มีอำนาจ ว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้นเองหลังจากมีรัฐบาล
เพราะการเปิดรับความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ตาม...
คสช.-สนช.-ครม. กำหนดอนาคต 'รุ่ง-ร่วง'โดย'ตัวเอง'