WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สัญญาณ'ตู่ 1' หนักตั้งแต่เริ่ม

วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:48 น. ข่าวสดออนไลน์


สัญญาณ'ตู่ 1' หนักตั้งแต่เริ่ม

      ได้ฤกษ์เบิกชัยสำหรับครม.ประยุทธ์ 1 หลังการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา

     จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำรัฐมนตรีใหม่ 32 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าทำหน้าที่

       เป็นอันเรียบร้อยในเรื่องของขั้นตอนสำคัญ เหมือนเช่นรัฐบาลทุกชุดไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือด้วยวิธีพิเศษ ปฏิบัติสืบต่อกันทุก ยุคทุกสมัย

      ส่วนขั้นตอนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งในที่นี้หมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นวันใด

       แต่ที่แน่นอนคือ การประชุมครม.ใหม่นัดแรกจะถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 เข้าประเดิม ใช้ห้องประชุมปรับปรุงใหม่สุดไฮเทค โต๊ะประชุม ครม. ติดตั้งจอแอลซีดีขนาดเล็กพร้อมไมโครโฟน 89 ตัว ราคาตัวละ 145,000 บาท

     จากการสำรวจโพลหลายสำนักต่อโฉมหน้ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นับว่ามีเสียงตอบรับในระดับดี

      ความเชื่อมั่นประชาชนต่อตัวนายกรัฐมนตรี สูงกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อคณะรัฐมนตรีในภาพรวมอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ และอีก 70 เปอร์เซ็นต์คาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำงานดีกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ

     สำหรับ งานแรกที่อยากให้คณะรัฐมนตรีใหม่ทำมากที่สุด ลดหลั่นกันลงไป คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา และปัญหาคอร์รัปชั่น

     จากตัวเลขโพลดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาโดยมีต้นทุนสูงพอสมควร แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า

     เมื่อเข้ามาแล้วต้องแบกน้ำหนักความคาดหวังของประชาชนไว้ไม่น้อยเช่นกัน

     เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าพล.อ.ประยุทธ์และคสช.นั้น จัดลำดับความสำคัญให้งานปฏิรูปอยู่ในอันดับต้นๆ

     ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้ "สภาปฏิรูปฯ" เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ร่วมกับ สนช. นายกฯและรัฐบาล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงคสช.ซึ่งถูกกำหนดให้ดำรงฐานะต่อไป แม้จะมีรัฐบาลเข้ามา บริหารประเทศแล้วก็ตาม

       สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปฯ หรือ สปช. 250 คน อยู่ระหว่างการ "ฟักตัว"

      จากการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ถึง 2 ก.ย. มียอดผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาทั่วประเทศ 7,355 คน แบ่งเป็นเสนอชื่อจากนิติบุคคล 4,575 คน ระดับจังหวัด 2,780 คน

     ในจำนวนนี้มี "นายพล" 221 นาย

       ขั้นตอนต่อไป กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอชื่อ เรียบร้อยแล้วส่งให้กรรมการสรรหา 11 ด้านที่มีฝ่ายกุนซือ คสช.เป็นประธาน 11 คณะ

      ลุยคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 13-22 ก.ย. ให้เหลือ ด้านละ 50 คน รวม 550 คน ส่งคสช.เลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 173 คน ส่วนในระดับจังหวัดคัดเลือกจังหวัดละ 5 คน รวม 380 คน ส่ง คสช.คัดเลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 77 คน รวมเป็น 250 คน 

      ทุกขั้นตอนเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 2 ต.ค.

       สปช. 250 คนจะทำหน้าที่ศึกษาเสนอแนะประเด็นปฏิรูป 11 ด้าน ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับไปเขียนบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกติกาใหม่ของประเทศไทยต่อไป

      ในวันเป็นประธานประชุมมอบนโยบายสรรหา สปช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับคณะกรรมการสรรหาทุกชุดว่า ต้องดำเนินการให้ดี สรรหาบุคคลอย่างละเอียด รอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม ก่อนส่งรายชื่อมาถึงมือคสช.

       พร้อมทั้งยืนยันไม่มีการ "ล็อกสเป๊ก" เด็ดขาด เพื่อให้ได้บุคคลมีคุณภาพ มุ่งมั่น เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานปฏิรูปให้มีผลสมบูรณ์ เพื่ออนาคตและประชาธิปไตยที่เหมาะสม

     ต้องจับตาต่อไปว่านโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จะถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแค่ไหน

     เนื่องจากมีประธานสรรหาบางชุดให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า มีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสปช.ติดต่อล็อบบี้คณะกรรมการบ้างแล้ว

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำพารัฐบาล คสช.เข้าสู่โหมดบริหารประเทศเต็มตัว

     ภายใต้สโลแกน "ทำก่อน ทำจริง เกิดผลสัมฤทธิ์ปี 58 และยั่งยืน" สำนวนไม่ค่อยสละสลวย แต่เข้าใจง่ายและตรงประเด็น

      ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์พูดย้ำหลายครั้งที่มีโอกาสว่า ถึง คสช.จะยึดอำนาจเข้ามาแต่ก็ไม่คิดอยู่ยาว จึงได้กำหนดโรดแม็ป 3 ระยะ เน้นเรื่องปฏิรูปประเทศ มีจุดสิ้นสุดอยู่ในราวเดือนต.ค.2558

      หมายถึงการจัดให้มีการเลือกตั้ง หรืออย่างช้าภายในต้นปี 2559 

      แต่ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา กรณีพล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุม คสช.ภายหลังการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครม. ว่าการทำงาน ของครม.จะไม่กำหนดระยะเวลา 

     เพราะไม่ต้องการให้เงื่อนไขเวลา มาเป็นอุปสรรคหรือสร้างความกดดันให้ครม. ที่ผ่านมามักถามถึงระยะเวลาในการทำงาน ซึ่งตรงนี้ไม่กำหนด

       คำพูดดังกล่าวทำให้เกิดการตีความไป 2 ทาง

       บางคนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะหมายความว่าไม่กำหนดเวลาสร้างผลงานมากกว่า เพราะไม่ต้องการให้เกิดแรงกดดัน ส่วนเวลาของรัฐบาล น่าจะเป็นไปตามโรดแม็ปเดิมคือสิ้นสุดในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

      แต่ก็มีบางคนมองว่าพล.อ.ประยุทธ์กำลังส่งสัญญาณว่า รัฐบาลอาจ "อยู่ยาว" กว่าที่กำหนด เพราะเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า งานปฏิรูปประเทศยากกว่าที่คิด การทำให้สำเร็จลุล่วงทุกด้านไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี

       ขณะที่กลุ่มต่อต้านก็แค่เงียบสงบ เพื่อรอจังหวะคสช.พลาด ก็จะออกมาเคลื่อนไหวทันที ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงอาการลังเลของ คสช.ในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก

      ที่สำคัญนับตั้งมีการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เรื่อยมาถึงการแต่งตั้ง สนช. และครม. เริ่มมีสัญญาณบ่งบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ และคสช. กำลังมีศัตรูเพิ่มมากขึ้น

    ศัตรูที่เพิ่มเข้ามานี้ก็คือกลุ่มคนกันเอง ที่เคยมีบทบาทโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำทุกอย่างเพื่อให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งย่อมหวังขอแบ่งปันผลประโยชน์

    แต่เมื่อไม่ได้ดั่งใจจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ทหารมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวรวมตัวอย่างลับๆ เพื่อต่อต้าน คสช. รวมถึงต่อรองผลประโยชน์ 

     ไม่รวมปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ราคาพืชผลตกต่ำ สวนทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่รอกระหน่ำใส่รัฐบาลทันทีที่เข้าบริหารประเทศเต็มตัว

      สถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มก่อตัวจากภาคเหนือ-อีสาน คาดว่าจะแผ่วงกว้างมาถึงภาคกลางในเร็วๆ นี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลใหม่จะนิ่งนอนใจได้

      มีการวิเคราะห์กันว่าเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ ที่เป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ยังเป็นปัจจัยกำหนดด้วยว่า

      รัฐบาลจะอายุยาวหรือสั้นกว่าในโรดแม็ป,,,, 

วันเวลา ยกเลิก ประกาศ กฎอัยการศึก ไม่นาน เกินรอ

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 กันยายน 2557)

 

 


 

    ไม่ว่า พล.ท.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ว่า นายเสข วรรณเมธีโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

    จะอ้างความจำเป็นอย่างไร

    แต่ในที่สุด at last การประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557

    ก็ต้อง "ยกเลิก"

     ในเบื้องต้น อาจจะยกเลิกเพียงในบางพื้นที่อันสัมพันธ์กับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างแนบแน่น แต่วิถีดำเนินที่จะต้องเป็นไป

    คือ ไล่เรียง "ยกเลิก" ไปเรื่อยๆ

     เพราะว่าการดำรงคงอยู่ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ความสงบเรียบร้อยมิได้บังเกิดขึ้นในทางเป็นจริง

      นี่ย่อมแย้งกับเป้าหมาย "คืนความสุข"

      ตราบใดที่ คสช.คือ "คืนความสุข" ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงจุดมุ่งหมายนี้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ย่อมยากจะอยู่อย่างยืนยาว

อีกไม่นานเกินรอ "กฎอัยการศึก" ก็ต้อง "จร"


ทั้งๆ ที่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มธุรกิจ "การท่องเที่ยว" คสช.ยังยืนกระต่ายขาเดียวถึงความจำเป็นต้องคงประกาศและยังคับใช้กฎอัยการศึก

ถามว่าเหตุใดน้ำเสียงจึงเริ่มอ่อนลง

อ่อนลงกระทั่งหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ "กองทัพ" ไปศึกษารายละเอียดเพื่อผ่อนคลายในเรื่องนี้

แม้กระทั่ง พล.ท.ธีรชัย นาควานิช น้ำเสียงก็อ่อนลง

เหตุปัจจัยอันทำให้ คสช.จำเป็นต้องขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน 1 มาจากปัจจัยต่างประเทศ 1 มาจากปัจจัยในประเทศ

ปัจจัยต่างประเทศ 1 เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน

ท่าทีของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) นับว่าแจ่มชัด ท่าทีขององค์กรนิรโทษกรรมสากล นับว่าแจ่มชัด

ขณะเดียวกัน 1 มาจากมหาอำนาจในโลก "ประชาธิปไตย"

เป็นมหาอำนาจอันถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตย "อารยะ" อย่างสหรัฐอเมริกา อย่างสหภาพยุโรป อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น การลด "ระดับ" ความสัมพันธ์นับว่าสำคัญ โดยมีเงื่อนไขจะฟื้นคืนมาหากมีการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

นี่คือปัจจัยกดดันในทาง "สากล" เข้าลักษณะ "โลก" ล้อมประเทศไทย


อีกปัจจัย 1 ซึ่งมิอาจมองข้ามได้อย่างเด็ดขาดเป็นปัจจัยภายในประเทศ ที่น่าสนใจก็คือ มิได้เป็นปัจจัยกดดันจากฝ่ายการเมือง

ไม่ว่าจะเป็น "เพื่อไทย" ไม่ว่าจะเป็น "นปช."

ตรงกันข้าม ปัจจัยภายในประเทศที่มีพลังสำคัญและทรงบทบาทเป็นอย่างสูง คือ ปัจจัยจากกลุ่มธุรกิจอันได้รับผลสะเทือนจาก "กฎอัยการศึก"

เฉพาะหน้า คือ ธุรกิจ "การท่องเที่ยว"

เฉพาะหน้า คือ ธุรกิจอันเกี่ยวข้อง สัมพันธ์และยึดโยงอยู่กับความคึกคักและความเงียบเหงาของธุรกิจ "การท่องเที่ยว"

เรื่องนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร จะตอบได้เป็นอย่างดี

"จะทำให้บริษัทประกันภัยการเดินทางยอมรับทำประกันเดินทางมาไทยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น" เป็นบทสรุปจาก นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

ยิ่งกว่านั้น บทสรุปจากอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) คือ

"หากยังไม่ยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกใน กทม.ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศก็อาจจะยังไม่กระตุ้นการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด"

ในที่สุดแล้ว "กทม." ก็ยังเท่ากับ "ประเทศไทย"


จึงอาจกล่าวได้ว่า ในระยะเวลาที่แน่นอนไม่ช้านี้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ก็จะต้อง "ยกเลิก" 

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เห็นชอบร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

เมื่อเอย ก็เมื่อนั้น...........

แนวรบ ต่างประเทศ ด่านแรก รัฐบาล ด่านหิน คสช.

(ที่มา:มติชนรายวัน 4 กันยายน 2557) 

 

 


      งานแรกที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ของรัฐบาล ภายหลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็คือการเดินทางเยือนกัมพูชาของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 กันยายน

    เป็นงานที่ทรงความหมายยิ่ง ไม่ว่าจะพิจารณาจากบุคคลที่ร่วมคณะหรือหัวข้อเจรจา

    คณะที่เข้าพบสมเด็จฯฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกอบด้วยพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีคมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโนบายและแผนกระทรวงกลาโหม

     นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายดำรงค์ ใคร่ครวญอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.สวัสดิ์ สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

หัวข้อการเจรจานอกจากกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพของทั้งสองประเทศ

แต่ยังไปไกลถึงการปูพื้นเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่เป็นปัญหาคาราคาซังของทั้งสองประเทศมาเนิ่นนาน

ขุมทรัพย์มหาศาลที่ถูกฝังอยู่ใต้ทะเล


ในภาวะที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีแบบ "กึ่ง-แซงก์ชั่น" ต่อรัฏฐาธิปัตย์ไทยหลังการรัฐประหาร

ในภาวะที่สหภาพยุโรปลดระดับความสัมพันธ์ทั้งทางการทูตและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) ของสินค้าไทยในปี 2558

ในภาวะที่นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่แม้จะเจรจาให้ความอุ่นใจว่ายังไม่ย้ายฐานผลิตไปจากประเทศไทย

แต่ก็ประกาศนโยบาย "ไทยแลนด์+1" ที่ด้านหนึ่งฟังสวยหรูว่าเป็นการขยายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อส่งชิ้นส่วนกลับมาประกอบในไทย

แต่ในอีกด้านก็คือการระงับและชะลอการลงทุนใหม่

และในภาวะที่ความสัมพันธ์กับ "ขาใหญ่ตะวันออกกลาง" อย่างซาอุดีอาระเบีย ยิ่งเสื่อมทรามลงไป

การพึ่งพิงมหาอำนาจใกล้ตัวอย่างจีนแบบ "แทงเต็ง" ไม่มีเผื่อเหลือเผื่อขาด อาจมิใช่ทางเลือกที่ดีนักในการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เพื่อนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงที่ขนาดใกล้เคียงและปัญหาคล้ายคลึงกัน

เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ


และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการประกาศล่วงหน้า ว่าหนึ่งในภารกิจแรกๆ ของการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ก็คือการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกใน 22 จังหวัดท่องเที่ยว

หลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกลดหายไปร้อยละ 10 ในเดือนพฤษภาคม และร้อยละ 24 ในเดือนมิถุนายน

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับต่างประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมประชาชาติ

วาทกรรมปิดประเทศ หรือกระตุ้นการลงทุนและบริโภคในประเทศ อาจจะฟังแล้วคึกคักฮึกเหิมเป็นอย่างยิ่ง

แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต และภาวะเศรษฐกิจที่ส่อเค้าจะหดตัวลงไป ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และภาวะต่อเนื่องจากการเมืองในประเทศอย่างแน่นอน

แนวรบด้านต่างประเทศจึงยังเป็นด่านแรกที่หนักหนาสาหัสสำหรับรัฐบาลและ คสช.อยู่เช่นเดิม

แก้ไขหรือปรับปรุงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากเท่าไหร่ ก็เหมือนช่วยกระตุ้นให้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามีแนวโน้มจะฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น

รัฐบาลรู้

คสช.ก็รู้

คำถามคือทำได้ ทำเป็น และทำทันเวลาหรือไม่เท่านั้น............

เศรษฐกิจ การเมือง กระบวนการ หลอกหลอน การตลาดกับของจริง

(ที่มา:มติชนรายวัน 3 กันยายน 2557)

 

 


      ไม่ว่าจะเป็น นายอิสระ ว่องกุศลกิจ แห่งหอการค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นนายบุญทักษ์ หวังเจริญ แห่งสมาคมธนาคารไทย เมื่อมองภาพรวมของเศรษฐกิจ

     ก็จะมองข้ามปี 2557 ไปยังปี 2558

     เพราะมองอย่างไรการขยายตัวก็จะไม่มีทางทะลุทะลวงไปได้เกินกว่าร้อยละ 2 ทำไปทำมาอาจปักหลักอยู่ที่ร้อยละ 1.5

ทำไมเป็นเช่นนั้น

คำตอบดำเนินไปในลักษณะที่สำนวนไทยโบราณสรุปว่า "น้ำท่วมปากŽ" เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่ามีมูลเชื้อมาจากเหตุปัจจัยใด

จะโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่เต็มปาก เต็มคำ

เพราะรับรู้ตั้งแต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวในเดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่ง ประกาศ "ชัตดาวน์"Ž กทม.ในเดือนมกราคม 2557

กว่าจะถึง "รัฐประหาร"Ž ในเดือนพฤษภาคม ก็อ่วมอรทัย

ขณะเดียวกัน "ชัตดาวน์"Ž ถือว่าหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งแล้ว "รัฐประหาร"Ž ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมเข้าไปอีก

จำเป็นต้องมองข้ามไปยังปี 2558


ภายในกระบวนการ "ข่าว"Ž ไม่ว่าบนหน้าหนังสือพิมพ์อันเป็นสื่อกระดาษ ไม่ว่าบนสื่อทีวี สื่อออนไลน์อันเป็นสื่อกระจก

จะสัมผัสได้ถึงกระบวนการทางการข่าว 2 ลักษณะเสมอ

กระบวนการ 1 เรียกว่าข่าวการตลาด ออกมาจากนักการตลาด มักจะเป็นข่าวดี ข่าวความสำเร็จ อันรุ่งโรจน์ ตระการตา

กระบวนการ 1 เรียกว่าข่าว "เศรษฐกิจจริงŽ"

อย่างเรื่องการท่องเที่ยวหากรับฟังจากปากของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จากปากของการท่องเที่ยว ก็จะเป็นอย่างหนึ่ง

ขณะที่จากคนที่ทำงานอยู่กับ "ของจริง"Ž จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

กระนั้น เรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างสอดคล้อง คล้องรับกันเหมือนปี่กับขลุ่ย เหมือนครกกับสาก เหมือนช้อนกับส้อม

นั่นก็คือ ข่าวเกี่ยวกับ "การส่งออกŽ"

แม้กระทั่งกระทรวงพาณิชย์ก็มิอาจลอนช์ข่าวในแบบ "การตลาด"Ž ออกมาได้ เพราะว่าความเป็นจริงนั้นเด่นชัด โดยเฉพาะตัวเลขการหดตัวในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะความหวังที่เหลืออีก 5 เดือนนั้นสาหัส

ยากยิ่งจะทำให้มียอดส่งออก 19,800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนได้

จากนี้จึงเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลังที่จะเล่นบท "กระตุ้นŽ"เศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไป

อาศัยหัวรถจักรจาก "ภาครัฐŽ"

ด้วยความหวังว่า หากหัวรถจักรจากภาครัฐนำหน้าได้อย่างคึกคักจะทำให้รถจักรจากภาคเอกชนขยับได้มากยิ่งขึ้น

นี่ย่อมเป็นการอาศัยกลไกด้าน "การคลังŽ"

สายตาที่ทอดมองไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ไปยัง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ไปยัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปยัง นายณรงค์ อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปยัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปยัง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จึงเปี่ยมด้วยความหวัง

หวังว่าการดำเนินนโยบายในทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างมีเอกภาพ หวังว่าจะสามารถพลิกฟื้นสภาพชะลอตัวให้มีความคึกคัก

คึกคักเหมือนที่ "ไทยรักไทย"Ž เคยทำได้สำเร็จเมื่อปี 2545 เป็นต้นมา


บทสรุปอันอยู่บนพื้นฐานความสำเร็จของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเช่นนี้แหละคือภาวะหลอกหลอน

เพราะว่ารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คือ ความต่อเนื่องและลักษณะ "ผลิตซ้ำŽ"จากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อันมีเป้าหมายอยู่ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย

หากไม่ "เหนือกว่า"Ž ก็อาจซ้ำรอยกับเมื่อ 8 ปีก่อน....... 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!