- Details
- Category: กกต.
- Published: Sunday, 16 July 2017 10:05
- Hits: 10074
สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างกม.ลูก กกต. ระบุ 6 ประเด็นข้อโต้แย้งไม่ขัดรธน.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากไม่มี สนช.ไม่เห็นชอบถึง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียงขึ้นไปจาก 250 เสียง ให้ถือว่าที่ประชุมฯ เห็นชอบทั้งร่าง
"จำนวนผู้เข้าประชุม 201 คน เห็นด้วย 194 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 7 เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้ส่งไปให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 ต่อไป" นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ กล่าว
โดยที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นเสร็จแล้ว โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทั้ง 6 ประเด็นโต้แย้งของ กกต.ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงของ กกต.ในทุกประเด็นไม่อาจโต้แย้งได้
สำหรับ ข้อโต้แย้งของ กกต.ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย มาตรา 11 วรรคสาม เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต., มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต.ที่ระบุว่า ไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆ, มาตรา 26 อำนาจหน้าที่ของ กกต.แต่ละคนในการสั่งระงับการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง, มาตรา 27 ที่กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ให้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง, มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต.หรือพนักงานของสำนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวนได้ และมาตรา 70 ที่บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ข้อโต้แย้งในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง 6 ประเด็น คือ มาตรา 11, 12, 26, 27, 42 และ 70 นั้นไม่ได้เป็นการต่อสู้หรือออกมาปกป้องเพื่อความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ไม่ตรงตามเจตนายรมย์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีความเสมอภาค และขาดการถ่วงดุล
การเพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนของคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา และ กกต.โดยเพิ่มถ้อยคำ เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในการทำงานของ กกต. และต้องไม่เคยอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ รวมทั้งต้องที่ทัศนคติที่เหมาะสมนั้น เป็นการเพิ่มเติมคุณสมบัติ และทำให้เกิดการจำกัดสิทธิ์โดยขัดหลักนิติธรรม ไม่เป็นไปตามดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาอย่างแท้จริง
นายศุภชัย กล่าวถึงประเด็นที่สามว่า หน้าที่และอำนาจของ กกต.ดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 24 ที่ให้ กกต.ตัดอำนาจการยกเลิกและสั่งให้เลือกตั้งใหม่บางหน่วยหรือทุกหน่วยออกไป ทั้งที่เคยมีเหตุการณ์การชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง ปัญหากรรมการประจำหน่วยวางตัวไม่เป็นกลาง การทุจริตของผู้สมัคร ซึ่งมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะต้องยับยั้งยกเลิกในทันที และให้เลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก
"ในอนาคตจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อ กกต.ไปตรวจพื้นที่พบว่ามีการกระทำผิด หรือพบว่ามีบัตรเลือกตั้งปลอมแล้ว กกต.ไม่อาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง ก็อาจถูกประชาชนฟ้องร้องว่าไม่ได้ทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นเพราะพ.ร.บ.กกต. ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ" นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย ชี้แจงในประเด็นเรื่องการมอบอำนาจการสอบสวนว่า มีถ้อยคำเกินกว่าที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทำให้การทำงานของ กกต.ขาดความรวดเร็วและยืดหยุ่น เพราะการบัญญัติให้มอบแต่เลขาธิการ และเจ้าหน้าที่สอบสวนของ กกต.เท่านั้น จะทำให้ไม่สามารถมอบอำนาจสอบสวนให้เจ้าหน้าที่อื่นแทนทั้งที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
นายศุภชัย ยังได้ชี้แจงประเด็นการเซ็ทซีโร่ กกต.ว่า การให้ ประธาน กกต. และ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน พ้นไปนับแต่ พ.ร.ป.กกต.นี้ใช้บังคับ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล หลักนิติประเพณีตามรัฐธรรมนูญ ขาดความยุติธรรมและเลือกปฏิบัติ เพราะ สนช.เองก็ยังไม่มีความชัดเจนในองค์กรอิสระอื่นว่าจะใช้กรองเดียวกันหรือไม่ ทั้งที่ สนช.ผ่านวาระแรกมาโดยให้คง กกต.ชุดเดิมไว้ แต่มาเปลี่ยนหลักการสำคัญในชั้นกรรมาธิการ รวมทั้ง กรธ.ที่เป็นกรรมาธิการกลับเห็นด้วยแทนที่จะคงหลักการเดิมที่ กรธ.ส่งมาให้ สนช.
"การนำเสนอในวันนี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อการคงอยู่ของ กกต.ชุดเดิมที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นว่าควรต้องนำเสนอเพื่อให้ พ.ร.ป.กกต.เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปรากฏเป็นหลักฐานในรายงานการประชุมตามที่ กกต.มอบหมาย แม้จะรู้ล่วงหน้าว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ก็ขอให้ สนช.พิจารณาทบทวนอีกครั้ง" นายศุภชัย กล่าว
นายตวง อัณทะไชย ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ข้อความที่เพิ่มเติมมาเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในคำว่าความเป็นกลาง ไม่ใช่การกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามใหม่เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นเพียงแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเท่านั้น
พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ กมธ.ร่วมฯ ชี้แจงว่า เหตุที่เสียงข้างมากเห็นว่าไม่ขัดนั้น เพราะหน้าที่ของ กกต.แต่ละคนยังมีอยู่ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด หากพบการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเฉพาะหน้านั้นสามารถยับยั้งเปลี่ยนแปลงแล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับทราบ ซึ่งคณะกรรมการ กกต.สามารถสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยมติที่ประชุม หรือมอบให้ กกต. แต่ละคนสั่งเลือกตั้งใหม่ได้
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กมธ.ร่วมฯ ชี้แจงว่า กรธ.เสียงข้างมากเห็นว่าอำนาจดังกล่าวนั้นรัฐธรรมนูญมอบให้เป็นของ กกต.อยู่แล้ว ส่วนจะพิจารณามอบให้หน่วยงานอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทนก็ได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.ป.กกต.ฉบับนี้ ไม่ได้แปลว่าจัดเองไม่ได้ แต่ พ.ร.ป.กกต.กำหนดว่าหาก กกต.มอบให้หน่วยงานจัดแล้ว หน่วยงานนั้นจะปฏิเสธไม่ได้
นายปกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรธ.ยึดหลักการที่ถูกต้องและเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ยึดถือที่ตัวบุคคล และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้อยู่ก่อนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก่อน จนกระทั่งมีการบัญญัติ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับแต่ละองค์กร ขึ้นกับโครงสร้าง องค์ประกอบของแต่ละองค์กรอิสระมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ขณะที่ กกต.ชุดใหม่มีที่มา โครงสร้าง อำนาจ คุณสมบัติแตกต่างจากกฎหมาย กกต.เดิมมาก จึงเห็นสมควรยกเลิกชุดเก่า
อินโฟเควสท์