WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ECTสมชย ศรสทธยากรวิษณุ พอใจเวทีแจงทำประชามติร่าง รธน.สร้างสรรค์ หนุน กกต.เดินหน้าจัดต่อ

    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยึดตามเดิม มีเพียง 2 ประเด็นที่เปลี่ยนแปลง คือ บัญญัติการกระทำความผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะปัจจุบันมีการแสดงความเห็นต่างๆ ผ่านทางโลกออนไลน์มากขึ้น และการเพิ่มโทษกลุ่มบุคคล 5 คนขึ้นไปที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ประชาชนยังมีสิทธิเต็มที่

  นายสมชัย ได้ตอบคำถามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความหมายของคำว่าหยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ รวมถึงการสวมเสื้อรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่ ว่า ตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มี 7 วงเล็บ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาระเดียวกับกฎหมายการทำประชามติในอดีต ไม่มีความแตกต่าง แต่มาตรา 61(2) ได้เพิ่มคำว่าสื่ออิเล็กอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไป และหากไปดูประกาศของ กกต.ก็จะเห็นตัวอย่าง 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้เอาไว้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่กกต.คำนึงถึง คือ ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการบิดเบือนเนื้อหา ถือว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องในอนาคต หรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า หากรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ส่วนคำหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เปรียบเทียบมาตรฐานชนชั้นกลาง เช่น กู มึง พูดได้ ไม่ถือว่าหยาบคาย แต่หากพูดปลุกระดม กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมทำไม่ได้ แต่ต้องให้ระมัดระวังการทำผิดกฎหมายอื่นๆและคำสั่ง คสช. ด้วย

      "การชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้ายรับ สามารถทำได้ หากไม่นำไปสู่ปลุกระดม ส่วนการขายเสื้อของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม กกต.ยังไม่ชี้ว่าผิดหรือไม่ แต่ถ้าไปสู่การปลุกระดม ข่มขู่ จะถือว่าผิดทันที เข่นเดียวกับการใส่เสื้อ Yes No ก็สามารถทำได้" นายสมชัย กล่าว

     นายสมชัย ยืนยันว่า ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และประกาศข้อห้ามของ กกต. เขียนละเอียดชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วจะไม่มีการอธิบายและขยายความเพิ่มเติมอีก เพราะเป็นภาษากฎหมาย และการที่ให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจงประชาชนเป็นเพียงการนำข้อเท็จริงในร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่สามารถบอกให้รับหรือไม่รับ

     ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาในวันนี้เริ่มต้นจากความไม่รู้ และสิ่งที่น่ากลัวคือ คิดว่าเรื่องที่เรารู้นั้นถูกต้อง ดังนั้นเวทีนี้คือ ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน แม้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยอยู่จริง แต่การจะทำให้เกิดความเข้าใจกันทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก โดย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในมาตรา 7 ถือเป็นหลัก

    เพราะได้พูดถึงบุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยไม่ขัดกฎหมาย ดังนั้นการแสดงความเห็นต้องยึดมาตรา 7 เว้นแต่จะเข้าข่ายตามมาตรา 61 ที่เป็นข้อยกเว้น ไม่ให้กระทำการที่ไม่เป็นความจริง ห้ามรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ดังนั้นหากไม่เข้าข่ายเหล่านี้ก็ไม่ผิด และการ "ชี้นำ" หรือ "รณรงค์" ที่หลายฝ่ายพูดถึงนั้น ก็ไม่ได้ผิดและไม่มีการเขียนไว้ในกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องระวังการทำผิดคำสั่ง คสช. ด้วย

      นายวิษณุ กล่าวว่า คำว่า ปลุกระดม นั้น เป็นคำที่อธิบายความหมายค่อนข้างยาก โดยแนะให้ไปเปิดความหมายที่จากพจนานุกรมจะได้ไม่ทำผิด ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเคยกล่าวกับตนเองว่า ทำไมไม่มีการตั้งกรรมการกฎหมายขึ้นมา เพราะบุคคลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา 61 คือ มี กกต. กับ ตำรวจ นายกฯจึงเห็นว่า น่าจะมีกรรมการกฎหมายขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง กกต.ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่แล้ว ส่วนตำรวจนั้นรัฐบาลจะกลับไปพิจารณาตั้งกรรมการเพื่อดูแลในเรื่องนี้

   นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาให้มีการประชุมพรรคการเมืองได้ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของคนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีสัญญาณหลายอย่างที่ดีขึ้น เช่นที่ ผู้บัญชาการทหารบกมีแนวคิดยกเลิกการเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศด้วย และดูจังหวะเวลาที่สมควร ไม่ต้องการปลดล็อคอันหนึ่งเพื่อไปสร้างล็อคอันใหม่ ขอทุกคนอย่าวิตก หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและประกาศใช้ จะมีอะไรหลายอย่างที่ต้องพิจารณาปรับปรุง จะต้องมีการทบทวนหลายอย่าง

   นายวิษณุ กล่าวว่า ดีใจที่มีการประชุมเช่นนี้เกิดขึ้น เป็นการประชุมที่สร้างสรรค์ และอยากเห็นบรรยากาศเช่นนี้ต่อไป แต่ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องความสงบเรียบร้อย ที่รัฐบาลต้องดูแลจากนี้ไป และมองว่า ช่วงเวลาจากนี้ล่อแหลม เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแตกแยกขัดแย้งได้อีก

   นายวิษณุ กล่าวว่า บรรยากาศวันนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ถือเป็นการเปิดปฐมฤกษ์ในการสร้างความเข้าใจ และเพื่อให้ กกต.สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป และถือเป็นการรับข้อเสนอของพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการต่อแม่น้ำ 5 สาย และ กกต.ซึ่งตนเองก็นำผลการหารือวันนี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ข้อสรุปหรือสามารถรับปากได้ว่าจะมีการปลดล็อคผ่อนปรนคำสั่ง คสช. ในเรื่องอนุญาตให้จัดกิจกรรมพรรคการเมืองได้หรือไม่ ซึ่งจะสรุปรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ นำเสนอต่อที่ประชุม คสช.ในลำดับต่อไป จึงไม่อยากสรุปไปก่อนเพราะกลัวจะเสียคำพูดภายหลัง

    ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำ นปช.กล่าวว่า ขอบคุณทุกองค์กรที่เปิดเวทีในวันนี้ สิ่งที่ได้จากวันนี้คือภาพที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจเปิดพื้นที่และสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง รธน.มากขึ้น แม้ว่าในเนื้อหาสาระของการชี้แจงอาจจะไม่แตกต่างจากที่เคยชี้แจงผ่านทางสื่อมวลชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรีเหมือนกับที่เคยปฏิบัติในการลงประชามติเมื่อปี 2550 ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การทำประชามติอย่างแท้จริง และพร้อมให้ความร่วมมือหากรัฐบาลจะมีการเปิดเวทีแสดงความเห็นอีก

สมชัย หวังการเปิดเวทีแจงร่างรธน.-ประชามติสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน/วิษณุยันเดินหน้าสู่ ปชต.วิถีไทย

    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวก่อนการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และพรรคการเมืองในวันนี้ว่า จะให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประชามติจาก 5 ฝ่าย คือ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล ชี้แจงบทบาทของตนเอง กลุ่มละ 5-8 นาที โดยในช่วงแรกจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม. จากนั้นจะเป็นการตอบคำถามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆที่มีข้อสงสัยหรือมีปัญหา โดยให้ผู้รับผิดชอบแต่ละงานชี้แจงทั้งนี้ไม่ได้กำหนดเวลาว่าการประชุมฯจะต้องเสร็จกี่โมงแต่ขอให้เป็นเวทีที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจให้ตรงกัน

     นายสมชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่คาดหวังในวันนี้ อย่างน้อยที่สุดคือจะเกิดความเข้าใจในกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองในเรื่องการออกเสียงประชามติและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะไปทำความเข้าใจกับสมาชิกในองค์กรและกลุ่มต่างๆต่อไป

     ส่วนกลุ่มการเมืองที่เข้าร่วมในวันนี้ จะทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่ได้อีกใช่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า

    ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ส่วนการนำเสนอข่าวของสื่อเสนอได้ทุกเรื่อง แต่อยากให้กลั่นกรองข้อเท็จจริงไม่ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆยังสามารถทำได้

    สำหรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาบัตรดีบัตรเสีย จะใช้เกณฑ์เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านแบ่งเป็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วงประชามติ หาก กากบาท เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง จะไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย เว้นแต่เขียนข้อความลงไป

   ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กกต. เปิดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติให้กับพรรคการเมืองต่างๆ นั้นเชื่อว่าจะช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้หวังผลดีเลิศมาก แต่อย่างน้อยเป็นการพบปะกัน หากได้ผลดีก็จะมีการจัดเวทีในครั้งต่อไป เพราะ กกต.มีแผนจัดเวทีชี้แจงอีก 10 เวที แต่หากครั้งนี้เกิดความล้มเหลวไม่สร้างสรรค์นำมาสู่ความแตกแยกร้าวฉานก็ต้องคิดทบทวนใหม่

    ส่วนกรณีที่นายเวอร์เนอร์ แลงเกน สมาชิกรัฐสภายุโรปจากประเทศเยอรมนี ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน พร้อมคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภายุโรปรวม 8 คน เรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวจากหนังสือพิมพ์ และคิดว่าข้อเสนอแนะขององค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ เพราะเป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่อารยะประเทศทำกัน และไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่เป็นการใช้อารมณ์

    "รัฐบาลไม่ได้ว่าอะไร ขณะนี้อาจจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับ แต่เราก็ตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องไปสู่ประชาธิปไตย ไม่เหมือนบางประเทศที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะไปสู่ประชาธิปไตยก็ยากหน่อย ก็ต้องค่อยๆเดินไป แต่จะมาบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วทำไมเป็นแบบนี้ก็พูดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้บอกว่าเราเป็น อย่างที่ใครๆตั้งเป้าหมาย เช่นนั้นจะใช้ตาชั่งเดียวกันมาวัดคงยาก แต่ก็ตั้งใจวันหนึ่งเราจะรื้อตาชั่งนี้ทิ้ง และใช้ตาชั่งแบบเขา แต่ขณะนี้ใช้ตาชั่งแบบเขาไม่ได้ เพราะเรายังจัดระเบียบไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว

    ส่วนที่ต่างชาติอยากให้ไทยปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการเดินตามแนวทางเดิมนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นความปรารถนาดี ตนเองไปเที่ยวมาหลายประเทศ ซึ่งต้องมองถึงบริบทวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความจำเป็นของแต่ละประเทศ ซึ่งจะใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้

      ผมไปโครเอเชียใหม่ๆ กินข้าว ผ้าปูโต๊ะในร้านอาหารทุกร้านยกขึ้นมายังมีรูกระสุนอยู่บนโต๊ะทั้งนั้น เขาอุตส่าห์เอาผ้าปิดเอาไว้ แล้วเราจะมาคาดหมายให้เขาต้องเป็นอย่างเราคงยาก เพราะเราไม่ได้มีสถานะลูกกระสุนเจาะโต๊ะอย่างนั้น" นายวิษณุ กล่าว

ประวิตร เผยรัฐบาลพร้อมเปิดเวทีแสดงความเห็นร่างรธน. มองการเมืองคลี่คลายขึ้น-ไม่ห่วงผู้แทน EU พบยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่า การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ จะคลี่คลายขึ้น ส่วนการยกเลิกเรียกบุคคลที่เห็นต่างมาปรับทัศนคตินั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะยกเลิกหรือไม่ เป็นไปตามคำพูดที่ผู้บัญชาการทหารบกได้ระบุไว้

     พล.อ.ประวิตร ระบุอีกว่า ยังไม่ทราบหากประชามติไม่ผ่านจะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และมีการยืดโรดแมพออกไป โดยการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้เป็นไปตามโรดแมพ ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาระบุว่าผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีประชาชนเห็นด้วยไม่ถึง 80% นั้นว่า เป็นการพูดไปเอง

   "ทุกอย่างต้องใช้เวลา เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจริงอาจจะมีการหยิบรัฐธรรมนูญปี 40 หรือปี 50 หรือฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมถึงฉบับปัจจุบันด้วยก็ได้ แต่หากได้รัฐธรรมนูญก็จะมีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้"

    ส่วนกรณีคณะผู้แทนรัฐสภายุโรป (EU) เข้าพบและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ และเชื่อว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และไม่เป็นห่วงว่าอดีตนายกรัฐมนตรีจะให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นการปลุกปั่นให้ต่างประเทศมองไทยในภาพลบ เพราะการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความจริงมาโดยตลอด ทั้งนี้คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปไม่ได้มาพบ คสช. ทราบแต่เพียงว่าเป็นการเดินสายมาพบกับฝ่ายการเมือง รวมถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

   อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!