- Details
- Category: กกต.
- Published: Monday, 09 May 2016 10:02
- Hits: 7849
'สมชัย ศรีสุทธิยากร'กางแผน-คุมเกม”ประชามติ”
โดย ศิริภา บุญเถื่อน http://www.matichon.co.th/news/129664
หมายเหตุ – นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ “มติชน” เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
– กกต.เตรียมความพร้อมกระบวนการออกเสียงประชามติอย่างไร
บทบาทของ กกต.ต่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีด้วยกัน 2 บทบาท บทบาทแรก คือ การสนับสนุนเผยแพร่เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยเหลือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ การจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ล้านฉบับ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 2 เล่ม เล่มละ 4 ล้านฉบับ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของ สนช.พร้อมคำอธิบาย จำนวน 4 ล้านชุด โดยคาดว่าเอกสารทั้งหมดนี้น่าจะจัดพิมพ์เสร็จในล็อตแรกประมาณวันที่ 23 พฤษภาคม หลังจากนั้นก็จะทยอยพิมพ์จนครบตามจำนวนไม่ให้เกินปลายเดือนมิถุนายน เพื่อ กกต.จะได้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ได้ อาทิ ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ห้องสมุดประจำตำบลและหมู่บ้าน หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ กกต.ยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “ฉลาดรู้ ประชามติ” ซึ่งจะเป็นแอพฯที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายทุกที่ทุกเวลา แอพฯตัวนี้ กกต.จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม ขณะเดียวกัน กกต.ยังเตรียมจัดทำหนังสือขนาดเล็ก จำนวน 16 หน้า มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติ สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยย่อ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของ สนช. ซึ่งขณะนี้ต้นฉบับได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมจัดพิมพ์ และจะส่งให้เจ้าบ้านทุกบ้าน จำนวน 17 ล้านครัวเรือนภายใน 15 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ
ส่วนการจัดเวทีเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้น ในวันที่ 17 พฤษภาคม กกต.จะเชิญผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส มาหารือเพื่อจัดสรรเวลาออกอากาศ แบ่งเป็นช่อง ช่องละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนสิงหาคม
ส่วนบทบาทที่สอง คือ การเตรียมการและอำนวยการให้การออกเสียงประชามติเกิดความสำเร็จ ประกอบด้วย การจัดพิมพ์บัตรออกเสียง การจัดหาอุปกรณ์ในการออกเสียง การหากรรมการประจำหน่วยออกเสียง การจัดระบบเพื่อสื่อสารถึงประชาชนให้เกิดความเข้าใจว่าไปออกเสียงที่ใด อีกทั้ง กกต.ได้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการออกมาใช้สิทธิออกเสียง เช่น แอพพลิเคชั่น “ดาวเหนือ” ซึ่งประชาชนเพียงแค่กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักก็จะสามารถรู้สถานที่หน่วยออกเสียงพร้อมกับแผนที่
และยังมีระบบบริการลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุด้วยการเปิดหน่วยออกเสียงพิเศษแก่กลุ่มคนเหล่านี้
– หลักการของประกาศเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นในการประชามติ 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้เป็นอย่างไร
ขอชี้แจงว่า ทำได้ไม่ใช่ 6 ข้อ หากดูจากประกาศฉบับดังกล่าวที่บอกว่าทำได้ 6 ข้อ ใช้คำว่า “เช่น” แปลว่าเป็นการยกตัวอย่าง 6 ข้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้มีเยอะแยะมาก ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ 6 ข้อ
ส่วนสิ่งที่ทำไม่ได้ ในประกาศกำหนดไว้ 8 ข้อชัดเจน ดังนั้น ยืนยันว่าประชาชนยังมีสิทธิและเสรีภาพทุกอย่าง การออกประกาศตัวนี้เป็นการเขียนด้วยภาษากฎหมายเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นประกาศฉบับนี้ กกต.ได้มีการนำรูปธรรมมาอภิปรายถกเถียงกันว่าแบบนี้ทำได้หรือไม่ได้
เช่น ติดเข็มกลัด ใส่เสื้อ รวมทั้งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง ติดป้ายหน้าบ้าน ทำได้หรือไม่ จนในที่สุด กกต.ตกผลึกว่า ถ้าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลของแต่ละคนทำได้หมด เช่น ใส่เสื้อที่มีข้อความ “เยส” หรือ “โน” ติดประกาศหน้าบ้านตัวเองหรือติดสติ๊กเกอร์หน้ารถที่มีข้อความ “รับ” หรือ “ไม่รับ” เป็นสิทธิเสรีภาพที่ทำได้หมด แต่ประกาศฉบับนี้เราไม่สามารถเขียนแยกย่อยได้หมดทุกเรื่อง เราเชื่อว่าภาษาที่อยู่ในประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นภาษากฎหมายครอบคลุม 8 ข้อที่ห้ามทำแล้ว
– ประกาศกกต.ฉบับนี้ถูกมองว่าไม่ชัดเจน
ผมชี้แจงชัดเจนแล้ว หากคลุมเครือตรงไหนก็ต้องบอกมา คือ คนพูดก็ต้องสามารถพูดได้ว่าประโยคใดมีความคลุมเครือ หรืออาจจะยกตัวอย่างจากรูปธรรมมาว่าสิ่งนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ กกต.จะอธิบายให้ฟัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ กกต.จะบอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ท้ายสุด
ศาลจะเป็นผู้ตัดสินโดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นหลักและดูประกาศ กกต.ประกอบด้วย ศาลจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าสิ่งนี้หรือพฤติกรรมแบบนี้ขัดต่อ พ.ร.บ.ออกเสียงฯหรือประกาศ กกต.หรือไม่
ดังนั้น กกต.จึงไม่ใช่ผู้ตัดสินลงโทษ เพียงแต่ให้คำแนะนำหรือชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวส่อไปในทางที่อาจจะผิดหรือไม่ผิดเท่านั้นเอง
– ในฐานะผู้ปฏิบัติมีความคาดหวังกับการทำประชามติครั้งนี้อย่างไร
ผมอยากให้หลังการออกเสียงประชามติเกิดผล 2 อย่างคือ ผลการลงประชามติเป็นที่ยุติ หมายความว่า ฝ่ายรับชนะก็จบ หรือฝ่ายไม่รับชนะก็จบ ไม่ต้องมาเป็นปัญหากันต่อไปว่าใช่ไม่ใช่หรือผลของการออกเสียงไม่ชัดเจน อยากให้ทุกอย่างเป็นที่สิ้นสุด เมื่อเราให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินใจแล้วหากประชาชนตัดสินใจอย่างไรก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยผลการทำประชามติมีทางออก 4 ทาง คือ 1.หากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงของ สนช.ทาง กรธ.จะมีเวลาประมาณ 1 เดือนเพื่อปรับปรุงเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องและตรงกับประเด็นคำถามพ่วงก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ 2.ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่รับคำถามพ่วง กรณีนี้คือนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย 3.ประชาชนไม่รับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาหน้าที่เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และ 4.ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่รับประเด็นคำถามพ่วง ก็จะเป็นแบบเดียวกับข้อ 3 แต่การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ต้องคำนึงสาระสำคัญในคำถามพ่วงเป็นหลัก และเมื่อดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติเรียบร้อยแล้ว ผมอยากเห็นกระบวนการจัดการออกเสียงของ กกต.เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นการดำเนินการประชามติด้วยความเที่ยงธรรม เคารพกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดย กกต.ไม่มีการเลือกปฏิบัติและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแบบตรงไปตรงมาอย่างถึงที่สุด
– ตั้งเป้าหมายอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนเท่าใด
เป้าหมายของทางกรรมการ กกต.ได้มีการคุยกันไว้ที่ตัวเลข 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการออกเสียงประชามติมีความแตกต่างจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาช่วยปลุกและกระตุ้นประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ ตัวเลขสูงสุดของการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งคือ 75 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การออกเสียงประชามติโดยทฤษฎีตัวเลขจะเกินกว่าการเลือกตั้งคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมอยากใช้เกณฑ์การออกเสียงประชามติเมื่อปี 2550 เป็นหลัก คือ 57 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง กกต.ต้องทำให้ได้มากกว่าตัวเลขนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ
– สถานการณ์ตอนนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ห่วงหรือไม่ว่าจะทำให้การทำประชามติไม่เรียบร้อย
กกต.ดูแลเฉพาะในส่วนของกฎหมายประชามติซึ่งสิ่งใดทำได้ทำไม่ได้ กกต.ได้บอกเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เราจะกำกับดูแลให้เกิดความสำเร็จตามกฎหมายประชามติ แต่ กกต.ไม่สามารถไปก้าวล่วงกฎหมายอื่นได้ เช่น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาดและอื่นๆ ที่อาจมาเกี่ยวข้อง ซึ่งภายใต้การดูแลกฎหมายประชามติ เราเชื่อว่าสามารถทำในกรอบดังกล่าวได้ดีที่สุด ซึ่งถ้าพบเห็นสิ่งใดที่เป็นความผิด เราจะพยายามดำเนินการแก้ไขเรื่องนั้นไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลฝ่ายใดก็ตาม จะเป็นฝ่ายรัฐหรือตรงข้ามกับรัฐ หากทำผิดกฎหมายประชามติ กกต.ก็จะส่งสัญญาณให้เห็น หากส่งสัญญาณไปแล้ว ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นหรือดื้อดึงที่จะทำแบบเดิม กกต.ก็จะดำเนินการโดยไม่ละเว้น
– ถ้าบรรยากาศไม่เรียบร้อย กลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่
เป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้ ผมคิดว่าสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปทุกวัน กกต.ทำงานโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก เราระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจกากบาทรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้มีเวลาศึกษาประเด็นสำคัญที่เป็นเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ จะอ่านด้วยตัวเอง อภิปรายถกเถียงกับเพื่อนบ้าน หรือคนในครอบครัว หรือผู้รู้ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งการเปิดรับฟังความเห็นของสื่อมวลชน นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองหรือผู้นำความคิดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน แต่เมื่อเปิดรับข้อมูลแล้ว อยากให้ฟังข้อมูลจากสองด้าน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ
ทุกวันนี้ คนไทยเรายังไม่ทันเห็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยซ้ำว่าหน้าตาเป็นอย่างไร และยังไม่ได้สัมผัสตัวเล่มด้วยว่าแต่ละบทแต่ละมาตราเนื้อหาเป็นอย่างไร ก็ด่วนตัดสินใจก่อนแล้ว ดังนั้น เวลายังเหลืออยู่อีก 3 เดือน ควรศึกษาค้นคว้า ฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายแล้วมาตัดสินใจด้วยตัวเองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะรับหรือไม่รับ
ทุกอย่างมันเป็นอนาคตของประเทศไทยและของคนทุกคนในชาติ ดังนั้น ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ให้แก่สังคม ตัวเราเอง และลูกหลานของเรา