- Details
- Category: กกต.
- Published: Sunday, 24 May 2015 16:24
- Hits: 10251
'ศุภชัย สมเจริญ' ลดอำนาจ กกต.-ไม่ตอบโจทย์แก้โกงเลือกตั้ง
มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
กกต.ได้ส่งข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต.ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และฝ่ายต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 21 หน้า 8 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย เสนอให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของ กกต. คือให้ กกต.มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาแล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ และเสนอให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการ และจัดการให้มีการเลือกตั้งเช่นเดิม สำหรับการนับคะแนน เราเสนอว่าให้นับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวมแล้วประกาศผลโดยเปิดเผย
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เราได้เสนอให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ เพราะจะทำลายเจตนารมณ์ของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด ทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรค ผู้สมัครพรรคเดียวกันต้องหาเสียงโจมตีกันเอง เอกภาพในการหาเสียงเพื่อพรรคหายไป นักการเมืองทุกคนกลายเป็นคู่แข่งกันหมด ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบการเมืองของประเทศโดยรวม ขณะเดียวกันเราเสนอให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะกลุ่มการเมืองจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง กลายเป็นปัญหาต่อการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะมีการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ เปิดช่องให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซงกอบโกยผลประโยชน์ได้ง่าย ขณะที่การตรวจสอบและควบคุมการรับบริจาคเงินทำได้ยาก
ขณะที่ระบบการสืบสวนสอบสวนนั้น เราเสนอให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งขอเพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ขอให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนหรือวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งการสืบสวนถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งไม่แพ้กับการจัดการเลือกตั้งเลย ดังนั้นหากการสืบสวนไม่เป็นมาตรฐานก็ไม่สามารถเอาคนผิดไปลงโทษได้
นอกจากนี้ ได้เสนอให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. โดยเสนอว่าควรยึดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะการที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง 4 คน คือจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการสรรหา อาจทำให้การเมืองแทรกแซงได้ง่าย ขัดเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์กรอิสระ
ที่ผ่านมา กกต.พยายามสะท้อนเหตุผลว่าหากกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จะเกิดปัญหาและอุปสรรคอย่างไร
กมธ.ยกร่างฯบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ กกต.ในการทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง มีอำนาจสั่งย้ายข้าราชการช่วงการเลือกตั้งได้ แต่ผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ กกต.แต่อย่างใด เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตัดการเลือกตั้งของ กกต.ออกไปให้ กจต.จัดการเลือกตั้งแทน สิ่งนี้ไม่ได้เพิ่มอำนาจแต่เป็นการลดอำนาจของ กกต.มากกว่า ซึ่งการจัดตั้ง กจต.ขึ้นมาไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพียงแต่ให้เหตุผลว่าต้องการจะแยกคนจัดการเลือกตั้งออกจากคนควบคุมการเลือกตั้ง โดยผมขอยืนยันว่าการให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ถือว่าช่วยให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จะดีกว่าหรือไม่ถ้าการเลือกตั้งได้คนที่มีความเป็นกลางแท้จริงมาทำหน้าที่ตรงนี้
มองว่าต้นเหตุที่ทำให้ กกต.ถูกลดอำนาจเป็นเพราะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สำเร็จหรือไม่
เหตุการณ์วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า กกต.จัดการเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนทราบดีว่าการเลือกตั้งดังกล่าวมีวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. มีความต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นต้องการให้มีการเลือกตั้งก่อนแล้วปฏิรูป กปปส.จึงไปขัดขวางปิดหน่วยรับสมัคร ปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้ง ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สงบ เหตุการณ์ครั้งนั้นขอชี้แจงว่า กกต.เรายึดถือนโยบายว่าการเลือกตั้งต้องไม่มีการสูญเสีย เพราะชีวิตคนเสียไปแล้วเอาคืนไม่ได้ แต่หากเลือกตั้งไม่สำเร็จก็สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ กกต.ถือชีวิตคนและเจ้าหน้าที่สำคัญที่สุด
คิดว่าสิ่งที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการมีธงไว้หรือไม่ ถ้าไม่ปรับแก้ไขจะส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างไรบ้าง
เข้าใจว่าทาง กมธ.ยกร่างฯคงมีแนวคิดร่วมกันแล้วว่าจะยกร่างให้ออกมาแนวใด แต่บางครั้งผู้ยกร่างไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ จะเห็นว่านักวิชาการกับผู้ปฏิบัติการ คนละทางคนละส่วนกัน ยกตัวอย่าง การตั้ง กจต.ขึ้นมาจัดการเลือกตั้งแทน กกต.เพื่อหวังจะแยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่มีอยู่ออกจากกัน แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการพิเศษที่ต้องได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต เข้ามาบริหารประเทศ การตั้ง กจต.ขึ้นมาไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าจะมาแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียงได้หรือไม่ การจัดตั้ง กจต.ดูผิวเผินอาจมองว่าดี แต่ต้องคิดดูว่าเมื่อตั้งองค์กรใหม่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก ขณะนี้ประเทศชาติอยู่ในภาวะการเงินฝืดเคือง เข้าใจว่าทุกคนหวังดีกับประเทศ แต่จำเป็นต้องดูถึงความเป็นไปได้ด้วย นักวิชาการคิดได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้ เราไม่ได้หวงอำนาจ เราเข้ามาทำงานหากเสร็จงานแล้วก็ต้องไป พวกเราคงไม่เอาชื่อเสียงที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานมาทิ้งไว้ที่นี่ ถ้าเราทำไม่ดีหรือทำผิดเราก็พร้อมโดนลงโทษ สิ่งใดเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเราก็ต้องทักท้วงชี้แจงเหตุและผลให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
ขณะนี้ มีการพูดถึงการทำประชามติ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติมีความพร้อมหรือไม่ เตรียมการไว้อย่างไรบ้าง
กกต.ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับ หากต้องมีการจัดทำประชามติไว้แล้ว แต่ขณะนี้ก็คงต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากต้องการให้ กกต.ดำเนินการสิ่งใด กกต.ก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ โดยหัวใจสำคัญของการทำประชามติที่ดีคือการให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนว่าจะทำประชามติประเด็นใด ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบด้วย รวมทั้งต้องทำร่างรัฐธรรมนูญแจกต่อประชาชน เพื่อประชาชนจะได้มีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญก่อนที่จะตัดสินใจออกเสียงประชามติ
หากท้ายที่สุดไม่มีการทำประชามติ มองว่าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่
เราไม่สามารถตอบแทนได้ เนื่องจากกรณีนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมไม่ก้าวล่วง แต่ขอย้ำว่าการปฏิรูปสิ่งต่างๆ หากปฏิรูปแล้วต้องทำให้ดีขึ้น หากองค์กรใดที่ทำดีอยู่แล้วก็อย่าไปปฏิรูปเลย แต่หากองค์กรใดที่การบริหารงานมีปัญหา พนักงานหรือเจ้าหน้าที่มีความบกพร่องก็ปฏิรูปให้ดีขึ้น ผมไม่เห็นด้วยกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากการทำงานและระบบการบริหารจัดการของทั้งสององค์กรมีความแตกต่างกัน หากควบรวมก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ไม่ควรตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เพราะดูแล้วมีความซ้ำซ้อน กลัวว่าตั้งมาเดี๋ยวก็ยุบเหมือนเช่นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าใจว่าทุกคนมีเจตนาที่ดีที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้า แต่อาจมองกันคนละมุม เรามองในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องถามผู้ปฏิบัติอย่าคิด
กันเอง
ถ้าบรรยากาศและสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ ถือว่าเหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้งหรือไม่
หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ผม เชื่อว่าการเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จ แต่การบริหารประเทศต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร เราไม่อาจทราบได้ แต่ยืนยันว่าหากมีการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบให้มีหน้าตาออกมาอย่างไร กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จ