- Details
- Category: กกต.
- Published: Friday, 08 February 2019 18:58
- Hits: 10305
กกต.เผย 4 วัน รับสมัครส.ส.แบ่งเขต 73 พรรค ปาร์ตี้ลิสต์ 19 พรรค
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงบรรยากาศการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ช่วง 4 วันที่ผ่านมา (4-7 ก.พ.) ว่า มีพรรคการเมืองยื่นสมัคร 73 พรรค คิดเป็นส .ส.ระบบแบ่งเขต รวมทั้งสิ้น 8,875 คน ส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีผู้สมัครรวม 19 พรรค จำนวนส.ส. 1,103 คน
การรับสมัคร ส.ส.กทม.30 เขตเรียบร้อย
กกต.รับสมัคร ส.ส.กทม.30 เขตวันแรกเรียบร้อย มีผู้มาลงทะเบียนสมัคร 448 คน และผ่านการตรวจสอบเอกสาร 446 คน
นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการลงตรวจความเรียบร้อยการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 30 เขตของ สำนักงานกกต.ประจำกรุงเทพมหานคร ว่า ทุกอย่างป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งในวันนี้มีผู้มาลงทะเบียนสมัคร 448 คน และผ่านการตรวจสอบเอกสาร 446 คน ส่วนคนที่เอกสารไม่ครบถ้วน สามารถมายื่นสมัครได้ในวันหลัง โดยหลังการปิดรับสมัคร ในวันที่ 8 กุมภาพัรธ์ 2562 ทางผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงรับสมัคร และจะประกาศรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นผู้สมัคร ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
“ขอบคุณพรรคการเมืองที่ไม่มีการจัดกองเชียร์ หรือกลองยาว ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันขอเชิญชวนประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ได้ใช้สิทธิยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่กกต.เปิดให้ลงทะเบียนอยู่ในขณะนี้ จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อที่จะได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้า ในวันที่ 17 มีนาคม 2562 ส่วนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 อยากให้ประชาชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ออกมาเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้มีสิทธ์ครั้งแรก”นายฐิติเชฏฐ์ กล่าว
สำหรับ ปัจจุบัน ยืนยันว่า กกต.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนในเรื่องการปัญหาการทำลายป้ายหาเสียง แต่พบว่ามีหลายพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จึงได้กำชับให้ กกต.ประจำเขตไปพิจารณา อย่างเคร่งครัด โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่สัญจรไปมา และไม่บดบังทัศนียภาพ
นางสาววิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้มีผู้มาลงทะเบียน 448 คน ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 446 คน ซึ่งเขตที่ 1 และ 5 ลงทะเบียนรายชื่อซ้ำ 2 เขต เขตที่ 5 ขาดหนังสือรับรองพรรคการเมือง โดยเป็นพรรคเพื่อนไทย ซึ่งผู้เซ็นต์รับรองไม่ใช่หัวหน้าพรรค และเขตเลือกตั้งที่ทีผู้มาลงสมัครมากที่สุดมี 3 เขต ประกอบด้วยเขต 1, 10 และเขต 17 มีผู้สมัครเขตละ 17 คน
กกต.สรุปภาพรวมวันแรกรับสมัครส.ส.เขต ยื่นแล้ว 58 พรรค 350 เขต/บัญชีรายชื่อมีแค่ 2 พรรคเล็ก
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภาพรวมการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.วันแรกว่า ข้อมูลจนถึงเวลา 16.45 น. โดย ส.ส.ระบบแบ่งเขต มีผู้มายื่นสมัครแล้ว 58 พรรค จำนวน 350 เขต มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 5,831 คน โดยเขต 9 จังหวัดขอนแก่น มีผู้สมัครมากสุด 27 คน สาเหตุที่มีผู้สมัครเพิ่มขึ้นมากจากในอดีต เนื่องจากเป็นความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทำงานการเมือง
"แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีข้อจำกัดเยอะ แต่จำนวนผู้สมัครมีเพิ่มมากขึ้นจากปี 54 เป็นจำนวนมากเกินความคาดหมาย เพราะประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง"พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
ส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มีผู้มายื่นสมัคร 2 พรรค คือ พรรคไทยธรรม มีผู้สมัคร 9 คน และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย มีผู้สมัคร 6 คน
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำหรับพรรคการเมืองที่มียอดผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.พรรคประชาธิปัตย์ 341 คน 2.พรรคพลังประชารัฐ 335 คน 3.พรรคเสรีรวมไทย 333 คน 4.พรรคอนาคตใหม่ 330 คน และ 5.พรรคภูมิใจไทย 325 คน
ส่วนกรณีที่มีผู้สมัครเปลี่ยนชื่อเป็น "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" นั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการตรวจสอบว่ามีความผิดหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้
ส่วนการรับสมัครในวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) ที่คาดว่าจะมีพรรคการเมืองเดินทางมาสมัครเป็นจำนวนมากนั้น กกต.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้รองรับ 20 ชุด และขอเชิญชวนให้เดินทางมาสมัครในช่วงเช้า
กกต.เผยประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-เสรีรวมไทย-อนาคตใหม่-ภูมิใจไทย ส่งผู้สมัครส.ส.เขตวันแรกมากสุด
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สรุปภาพรวมการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.วันแรกจนถึงเวลา 13.00 น.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย ส.ส.ระบบแบ่งเขตมีผู้มายื่นใบสมัครแล้ว 57 พรรค จำนวน 329 เขต มีผู้สมัคร 4,428 คน ส่วนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมีเพียงพรรคเดียวคือ พรรคไทยธรรม มีผู้สมัคร 9 คน
สำหรับ พรรคการเมืองที่มียอดผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 278 คน 2.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 274 คน 3.พรรคเสรีรวมไทย 270 คน 4.พรรคอนาคตใหม่ 267 คน และ 5.พรรคภูมิใจไทย 264 คน
"ในภาพรวมเป็นไปด้วยดี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบการทำผิดกฎหมาย ทุกพรรคการเมืองให้ความร่วมมือปฏิบัติตามที่ กกต.ได้เตือนไป" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
หลังจากนี้จะได้แจ้งให้ผู้ตรวจการการเลือกตั้งลงไปตรวจสอบพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งป้ายหาเสียง ซึ่งหากการกระทำผิดจะแจ้งให้พรรคการเมืองรับทราบเพื่อตักเตือน หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะดำเนินคดีอาญา
สำหรับการยื่นใบสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อนไทยนั้นมีปัญหาเรื่องเอกสารไม่เรียบร้อย ซึ่งได้แนะนำให้นำกลับไปแก้ไขแล้วนำกลับมายื่นภายในกำหนด
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ขอให้พรรคการเมืองมายื่นสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแต่เนิ่นๆ เพราะหากมีปัญหาเรื่องเอกสารจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ทันกำหนดเวลา
"อย่ารอถึงวันสุดท้าย และควรมาสมัครแต่เช้า หากปัญหาพบปัญหาช่วงบ่ายๆ อาจกลับมายื่นไม่ทันเวลาราชการ" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พรรคเพื่อไทยยื่นปาร์ตี้ลิสต์ 97 รายชื่อชูสุดารัตน์-ชัชชาติ-ชัยเกษมเป็นโผนายกฯ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำและสมาชิกพรรคเข้ายื่นสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พร้อมกับเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติศิริ
นิด้าโพลเผยคนรุ่นใหม่ อยากให้พรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 84.93% ระบุว่า ไปแน่นอน รองลงมา 8.53% ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน และ 6.54% ระบุว่า ไม่แน่ใจ
สำหรับการตัดสินใจเลือก ส.ส. ของคนรุ่นใหม่ที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 50.39% ระบุว่า เลือกทั้งจากพรรคการเมือง และจากตัวผู้สมัคร รองลงมา 25.63% ระบุว่า เลือกจากพรรคการเมือง และ 23.98% ระบุว่า เลือกจากตัวผู้สมัคร
ด้านพรรคการเมืองที่คนรุ่นใหม่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 44.64% ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา 18.74% ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, 13.86% ระบุว่าเป็นพรรคอนาคตใหม่, 10.73% ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, 3.66% ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, 2.70% ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย, 2.27% ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อชาติ, 0.87% ระบุว่าเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 0.70% ระบุว่าเป็นพรรคประชาชาติ, 0.52% ระบุว่าเป็นพรรคไทยรักษาชาติ และ 0.44% ระบุว่าเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงนโยบายที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ที่เลือกตั้งครั้งแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 35.92% ระบุว่า หยุดวิกฤตเศรษฐกิจทุกชนชั้น รองลงมา 22.67% ระบุว่า เรียนฟรีถึงปริญญาตรี, 9.41% ระบุว่า ล้างระบบเส้นสาย หยุดทุนใหญ่กินรวบประเทศ, 7.50% ระบุว่า แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ, 6.02% ระบุว่า ล้างรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 5.06% ระบุว่า เลิกเกณฑ์ทหาร, 2.52% ระบุว่า การพักหนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), 1.48% ระบุว่า กัญชาเสรี, 1.31% ระบุว่า แก้กฎหมายให้ Grab สร้างรายได้ถูกกฎหมาย, 0.78% ระบุว่า ยกเลิกการสอบ GAT PAT, 0.70% ระบุว่า เกิดปั๊บรับเงินแสน และ 0.61% ระบุว่าบ้านล้านหลัง
'นิด้าโพล'ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2562 จากประชาชนผู้ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี (ผู้ที่เกิดระหว่างปีพ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2544) กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง
อินโฟเควสท์